กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์
จากผลการวิจัยล่าสุดในหัวข้อ AdReaction: Video Creative in a Digital World, ของ มิลวาร์ด บราวน์ พบว่า ผู้ใช้อุปกรณ์มัลติสกรีน (multiscreen users) ในประเทศไทย ใช้เวลารับชมวิดีโอคอนเทนท์ผ่านสื่อดิจิทัลมากกว่าโทรทัศน์ โดยผู้บริโภคชาวไทยใช้เวลาอยู่กับหน้าจอรวมๆ แล้วนานถึง 463 นาทีต่อวัน ซึ่งร้อยละ 54 ของเวลาที่ใช้บนหน้าจอนั้นเป็นการชมวิดีโอคอนเทนท์นานถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน (246 นาที, 4.1 ชั่วโมง) เมื่อดูเจาะถึงเวลาในการชมวิดีโอนั้น พบว่า ร้อยละ 59 เป็นการรับชมผ่านช่องทางดิจิทัล เช่น สมาร์ทโฟน (76 นาที) แท็บเล็ต (29 นาที) แล็ปท้อป (42 นาที) และร้อยละ 41 รับชมผ่านทางโทรทัศน์ (102 นาที)
ผลวิจัยยังแสดงข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมอีกว่า ผู้บริโภคในประเทศไทยการใช้เวลาบนจอสมาร์ทโฟนสูงกว่าอัตราเฉลี่ยทั่วโลกถึงร้อยละ 20 ทำให้ไทยกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้เวลากับการดูวิดีโอมากที่สุดในโลก โดยมีไนจีเรียติดอันดับประเทศที่ดูวิดีโอมากที่สุดในโลก คือ 4.5 ชั่วโมงต่อวัน และฮังการีเป็นประเทศที่ใช้เวลาในการดูวิดีโอน้อยที่สุด คือ 2.5 ชั่วโมงต่อวัน รายงานผลการวิจัยประจำปี 2558 ดังกล่าว จัดทำโดยบริษัท มิลวาร์ด บราวน์ บริษัทวิจัยชั้นนำของโลก ซึ่งได้มีการสำรวจผู้ใช้งานอุปกรณ์มัลติสกรีนผ่านสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต อายุระหว่าง 16-45 ปี จำนวนกว่า 13,500 คน ใน 42 ประเทศ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา ผลงานวิจัยชิ้นนี้แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมในการรับชมวิดีโอของผู้บริโภคว่า มีลักษณะการชมอย่างไร รับชมที่ไหน และทำไมถึงเลือกรับชมวิดีโอ ช่วงเวลาที่ผู้บริโภคเปิดดูโฆษณา และรูปแบบที่เหมาะสมที่สุดสำหรับงานโฆษณาในการเข้าถึงผู้บริโภคผ่านจออุปกรณ์ที่แตกต่างกันควรเป็นอย่างไร
สำหรับประเทศไทย ผลวิจัยระบุว่าการรับชมวิดีโอโดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่บ้านและผ่านสื่อโทรทัศน์เป็นหลัก ในขณะที่การชมวิดีโอผ่านสื่อดิจิทัลเกิดขึ้นทั้งที่บ้าน ในขณะเดินทางและที่ทำงาน ผลวิจัยยังพบอีกว่า โทรทัศน์มักเป็นช่องทางการบริโภคสื่อภายใต้บริบททางสังคม ซึ่งผู้บริโภคแนวโน้มที่จะดูทีวีร่วมกับสมาชิกคนอื่นในครอบครัว ส่วนการดูผ่านสื่อดิจิทัลนั้น ผู้บริโภคชาวไทยซึ่งมีมากถึงร้อยละ 50 มักทำโดยลำพัง
ผลวิจัย AdReaction ยังชี้ให้เห็นถึงโอกาสต่างๆ สำหรับบริษัทและนักการตลาดของไทย เพื่อสร้างสรรค์วิดีโอคอนเทนท์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ ดังนี้
1. คนไทยรับได้กับการเป็นเป้าหมายทางการตลาด แต่ไม่ชอบถูกสะกดรอยตาม ผลวิจัยพบว่าผู้บริโภคชาวไทยเป็นกลุ่มที่ยอมรับได้มากที่สุดสำหรับการถูกจัดให้เป็นกลุ่มเป้าหมายของวิดีโอโฆษณาตามแบรนด์ที่ตนชื่นชอบ (ประเทศไทยรับได้ร้อยละ 43 ทั่วโลกรับได้ร้อยละ 40) และตามความสนใจ (ประเทศไทยรับได้ร้อยละ 42 ทั่วโลกรับได้ร้อยละ 41) แต่ชาวไทยจะยอมรับน้อยที่สุดหากเป็นโฆษณาที่เข้าถึงตนโดยเป็นผลมาจากการติดตามประวัติการเข้าเว็บไซต์ โดยเฉพาะการใช้สื่อสังคมออนไลน์ (ประเทศไทยรับได้ร้อยละ 27 ทั่วโลกรับได้ร้อยละ 25) ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แอพพลิเคชั่นที่คำนึงถึงเรื่องความละเอียดอ่อนด้านความรู้สึกมาใช้กำหนดกลุ่มเป้าหมายน่าจะมีความเหมาะสมที่สุด
2. ความสำคัญของปัจจัยแวดล้อม ร้อยละ 43 ของผู้บริโภคชาวไทยกล่าวว่า ตนมีแนวโน้มที่จะข้าม (Skip) การชมวิดีโอโฆษณาออนไลน์น้อยลง และจะรู้สึกสนใจมากขึ้นหากโฆษณาวิดีโอออนไลน์นั้นมีการนำเสนอสิ่งตอบแทน ซึ่งเป็นรูปแบบโฆษณาที่คนไทยเปิดรับได้มากที่สุด นอกจากนี้ผู้บริโภคชาวไทยยังเปิดรับโฆษณาที่สามารถข้ามการรับชมได้ (ประเทศไทยรับได้ร้อยละ 28 ทั่วโลกรับได้ร้อยละ 34) และโฆษณาในรูปแบบที่มี click-to-play ซึ่งให้อำนาจผู้บริโภคในการเลือกรับชม (ประเทศไทยยอมรับร้อยละ 36 และทั่วโลกยอมรับร้อยละ 28) ผู้บริโภคยังรู้สึกด้วยว่าตนมีอำนาจในการเลือกรับชมโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลมากกว่าการชมผ่านโทรทัศน์ โดยคนไทยส่วนใหญ่เชื่อว่าอุปกรณ์ดิจิทัลที่ทำให้ตนรู้สึกว่ามีอำนาจมากที่สุดในการเลือกชมโฆษณาคือ แล็ปท็อป (ประเทศไทยลงความเห็นร้อยละ 69 ทั่วโลกลงความเห็นร้อยละ 63)
3. เนื้อหาสำคัญที่สุด ผลวิจัยระบุว่า การคำนึงถึงสื่อดิจิทัลตั้งแต่ขั้นตอนแรกของกระบวนการสร้างสรรค์งานโฆษณาเป็นสิ่งจำเป็น และควรคำนึงถึงความเหมาะสมของโฆษณาดังกล่าวเมื่อปรากฏบนจออุปกรณ์ต่างๆ และแม้รูปแบบของวิดีโอโฆษณาที่ผู้บริโภคสามารถกดข้ามได้ ยังคงเป็นสิ่งท้าทายสำหรับการสร้างสรรค์งานโฆษณา แต่ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ บริษัทจึงควรมุ่งสร้างความน่าสนใจให้เกิดขึ้นให้ได้ตั้งแต่ช่วงแรกของวิดีโอโฆษณา
นอกจากโอกาสต่างๆ ที่จะได้รับจากสื่อดิจิทัลในประเทศไทยแล้ว ผลการวิจัยชิ้นนี้ยังแสดงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสื่อสารของแบรนด์ต่าง ๆ อีกด้วย
อุษณา จันทร์กล่ำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิลวาร์ด บราวน์ ไฟร์ฟลาย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "ปัจจุบัน เราสามารถเข้าถึงผู้บริโภคผ่านช่องทางต่างๆ ได้ในวงกว้าง แต่แบรนด์ต้องใส่ใจในรายละเอียดเมื่อเข้าถึงผู้บริโภคที่ถนัดและรอบรู้การใช้สื่อดิจิทัล เพราะเราไม่สามารถใช้วิธีคิดแบบเดิมๆ แบบเดียวกับที่ใช้กับโทรทัศน์ได้อีกต่อไป ผลวิจัยนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าผู้บริโภคชาวไทยได้พัฒนาไปพร้อมกับอิทธิพลของสื่อดิจิทัล และมีความต้องการที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกรับชมผ่านหน้าจอต่างๆ ดังนั้น นักการตลาดจึงควรปรับเปลี่ยนวิธีการรับมือให้เหมาะสม"
ข้อมูลเพิ่มเติมจากผลวิจัย AdReaction Video ในประเทศไทย
คนไทยชมวิดีโอคอนเทนท์มากที่สุด (มากกว่าอัตราเฉลี่ยทั่วโลก) โดยจะค้นหารายการที่ตนเองชื่นชอบ (ประเทศไทยร้อยละ 42 ทั่วโลกร้อยละ 30) และเมื่อเพื่อนๆ แชร์วิดีโอผ่านสื่อออนไลน์ (ประเทศไทยร้อยละ 38 ทั่วโลกร้อยละ 20) สำหรับประเภทของเนื้อหาที่รับชมส่วนมากได้แก่ วิดีโอตลก มิวสิควิดีโอ และรายการโทรทัศน์ย้อนหลัง
ร้อยละ 36 ของผู้บริโภคในประเทศไทย จะชมโฆษณาโดยไม่กดข้ามหากเป็นโฆษณาประเภทที่ตนสนใจ (ประเทศไทยร้อยละ 36 ทั่วโลกร้อยละ 30) เป็นโฆษณาที่สอดแทรกอารมณ์ขัน (ประเทศไทยร้อยละ 33 ทั่วโลกร้อยละ 37) หรือเป็นโฆษณาที่ไม่เคยเห็นมาก่อน (ประเทศไทยร้อยละ 32 ทั่วโลกร้อยละ 19)