กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน
นับเป็นงานใหญ่ต้นปีที่วงการอุตสาหกรรมต้องจับตามอง เมื่อสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) หรือ SLRI เตรียมจัดงานประชุมและนิทรรศการใหญ่เต็มรูปแบบครั้งแรกกับงานThailand Synchrotron Conference & Exhibition (TSCE2016) พร้อมผนึกกำลัง 2 งานใหญ่ ได้แก่ งานประชุมกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอน ครั้งที่ 6 (AUM2016) และงานซินโครตรอน เทคโนโลยีแสงขั้นสูง มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (The 4thSynchrotron, Advanced Technology for Industry :SATI4) เปิดเวทีระดมสมอง เพื่อนำแสงซินโครตรอนมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งยังมีการเปิดคลินิกรับปรึกษา-ตอบโจทย์อุตสาหกรรม SME แบบครบวงจร ซึ่งความร่วมมือนี้จะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 กุมภาพันธ์ 2559 ณ อาคารอิมแพค ฮอลล์ 1 เมืองทองธานี จ.นนทบุรี
จากประสบการณ์ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ของแสงซินโครตรอนมานานกว่า 12 ปี ของศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งชาติ ที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งให้เปลี่ยนชื่อเป็น "สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน)" ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในปี 2551 และเปิดบริการแสงซินโครตรอนแก่นักวิจัย อาจารย์ นักศึกษาจาสถาบันการศึกษาต่างๆ จนเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ ตลอดจนขยายการให้บริการไปยังนักวิจัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายที่ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของแสงซินโครตรอน ยังมีจำกัดเฉพาะในแวดวงวิจัยและการศึกษาเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริง ประโยชน์ของแสงซินโครตรอนสามารถนำไปใช้ในวงการอุตสาหกรรมได้ จึงเป็นที่มาของการจัดการประชุมใหญ่ Thailand Synchrotron Conference & Exhibition (TSCE2016) ที่มุ่งหวังให้เกิดการพบปะกันระหว่างผู้ใช้บริการแสงซินโครตรอน เพื่อนำไปสู่การสร้างความตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของแสงซินโครตรอนแก่นักวิจัยภาครัฐ จากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย รวมถึงจากภาคอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ
รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า "หลังจากรัฐบาลปรับการทำงาน โดยให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่ในกลุ่มเศรษฐกิจ ภายใต้การนำของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ปรับโหมดการทำงานเพื่อตอบโจทย์ประเทศ ด้านเศรษฐกิจ สังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) มาขยายผลต่อยอดกิจกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของ SME สร้างธุรกิจและผู้ประกอบการยุคใหม่ และด้วยการแข่งขันของเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้การสร้างนวัตกรรมเพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์กลายเป็นสิ่งสำคัญ ในโอกาสนี้สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จึงได้จัดงานประชุมและแสดงนิทรรศการ Thailand Synchrotron Conference and Exhibition (TSCE 2016) ร่วมกับงาน SME BIZ ASIA 2016 ขึ้น เพื่อให้เกิดการส่งเสริมและกระตุ้นการใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอน ทั้งในภาควิชาการและอุตสาหกรรมเพื่อตอบโจทย์ของประเทศ มุ่งหวังขยายผลต่อยอดกิจกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SME สร้างธุรกิจและผู้ประกอบการยุคใหม่"
ด้าน ศ.น.ท. ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า "สำหรับการจัดงานประชุมและแสดงนิทรรศการ TSCE 2016 ครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งที่ยิ่งใหญ่และครั้งแรกของซินโครตรอน โดยจะจัดร่วมกับ การประชุมกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอน ครั้งที่ 6 (AUM2016) และงานซินโครตรอน เทคโนโลยีแสงขั้นสูง มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 ( The 4th Synchrotron Advanced Technology for Industry :SATI4) ภายในงานจะมีนิทรรศการของสถาบันนับตั้งแต่ปีที่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน ร่วมกับผลงานเด่นจากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนชั้นนำจากประเทศต่างๆ เช่น ประเทศญี่ปุ่น สหพันธรัฐเยอรมัน ประเทศออสเตรเลีย ไต้หวัน เป็นต้น ไขความลับภาพวาดระดับโลกด้วยแสงซินโครตรอน พร้อมทั้งเปิดคลินิกรับปรึกษาให้แก่ภาคอุตสาหกรรมทั้งรายใหญ่และรายย่อย เพื่อแก้ปัญหากระบวนการผลิตหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ด้วยแสงซินโครตรอน ในงานนี้ยังได้ร่วมมือกับ บริษัท ไอบริก จำกัด หัวหอกในการจัดงาน SME BIZ ASIA 2016 เข้ามาช่วยขยายความรู้การใช้แสงซินโครตรอน ไปสู่ภาคธุรกิจ SMEs เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาธุรกิจ SMEs ไทย ให้สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้"
งานประชุมใหญ่ Thailand Synchrotron Conference & Exhibition (TSCE2016) จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 กุมภาพันธ์ 2559 ณ อาคารอิมแพค ฮอลล์ 1 เมืองทองธานี จ.นนทบุรี หน่วยงาน องค์กร และผู้สนใจเข้าร่วมงาน สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 044-217-040 หรือดูรายละเอียด ลงทะเบียนเข้างานฟรี!! ได้ที่เว็บไซต์ www.slri.or.th/tsce2016
สำหรับแสงซินโครตรอน คือ แสงที่ถูกปลดปล่อยยออกมาจากอิเล็กตรอนที่เลี้ยวโค้งด้วยความเร็วใกล้ความเร็วแสง (ความเร็วสามร้อยล้านเมตรต่อวินาทีหรือประมาณหนึ่งพันล้านกิโลเมตรต่อชั่วโมง) ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาวิจัยหลากหลายสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาองค์ประกอบและโครงสร้างของวัสดุต่างๆ กระทั่งนำมาเป็นเครื่องมือในการทำวิจัยที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับภาคอุตสาหกรรมต่างๆได้ในวงกว้าง เช่น
นวัตกรรมไข่มุกสีทอง จากการฉายแสงซินโครตรอน เพื่อเปลี่ยนสีไข่มุกธรรมชาติให้เป็นสีทอง ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมแรกและแห่งเดียวในโลก
การใช้แสงซินโครตรอนศึกษาสารชีวโมเลกุลภายในเซลล์ของตัวอ่อนโคนมโคลนนิ่ง เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการโคลนนิ่งโคนมสายพันธุ์ดี
การใช้เทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ เพื่อศึกษาถึงสาเหตุของการเกิดโรคเปลือกไม้ที่เกิดขึ้นต้นยางพารา
การติดตามสภาวะหมอกควันในภาคเหนือ ด้วยแสงซินโครตรอน
การใช้แสงซินโครตรอน เพื่อศึกษาองค์ประกอบสาร เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการผลิตด้ามจับไม้กอล์ฟคุณภาพสูง
พัฒนาชุดแสดงผลอักษรเบรลล์เพื่อผู้พิการทางสายตา
พัฒนาอัญมณีด้วยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน
คัดแยกเนื้อไก่สายพันธุ์ไก่เนื้อโคราช
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และแก้ไขปัญหาให้กับภาคอุตสา หกรรม เช่น อุตสาหกรรมปูนและซีเมนต์ อุตสาหกรรมเซรามิค อุตสาหกรรมโลหะ อุตสาหกรรมยางและพอลิเมอร์ อุตสาหกรรมอาหารและยา อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เป็นต้น