กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันเชิงรุก โดยขับเคลื่อนการดำเนินงานในรูปแบบ "ประชารัฐ" ภายใต้ 3 มาตรการสำคัญ ทั้งการเตรียมพร้อมรับมือ ด้วยการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด อำเภอ ประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมสำรวจข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยให้เป็นปัจจุบัน รวมถึงเร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อมูลสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน สร้างการมีส่วนร่วมในการงดเว้นการจุดไฟเผาในทุกพื้นที่ และการจัดการกรณีเกิดวิกฤตไฟป่าและหมอกควัน โดยบูรณาการทุกภาคส่วนสนธิกำลังบุคลากรและวัสดุอุปกรณ์ควบคุมสถานการณ์มิให้วิกฤตรุนแรง จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ของประชาชน
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนของทุกปี หลายพื้นที่ของประเทศมักประสบปัญหาไฟป่าและหมอกควัน โดยเฉพาะพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ห่วงใยประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาไฟป่าและหมอกควัน จึงได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันเชิงรุก สอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพปัญหาในพื้นที่ พร้อมขับเคลื่อนการทำงานในรูปแบบ "ประชารัฐ" มุ่งเน้นดำเนินการภายใต้ 3 มาตรการสำคัญครอบคลุม ทั้งการเตรียมพร้อมรับมือโดยจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดและอำเภอ เป็นศูนย์กลางประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ พร้อมสำรวจข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัย อาทิ จุดความร้อน (Hotspot) พื้นที่ที่มีการเผาทั้งในเขตป่าไม้และพื้นที่การเกษตร ข้อมูลทรัพยากรในการป้องกันและระงับไฟป่า รวมถึงจัดทำแผนปฏิบัติการฯ แผนดับไฟป่าที่มีประสิทธิภาพ เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ และความถี่ในการลาดตระเวน เพื่อควบคุมไม่ให้มีการเผาในพื้นที่ ป่าไม้ ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นกับผู้ที่ทำให้เกิดไฟป่า การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ มุ่งเน้นการเผยแพร่ข้อมูลสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันอย่างต่อเนื่อง สร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการงดเว้นการจุดไฟบริเวณแนวป่า พร้อมควบคุมการเผาขยะมูลฝอยในพื้นที่ชุมชน โดยส่งเสริมการจัดระบบการจัดเก็บ คัดแยกและจัดการขยะมูลฝอยอย่างถูกวิธี รวมถึงรณรงค์ให้เกษตรกรใช้การไถกลบแทนการเผาวัสดุการเกษตรในเขตเกษตรกรรม รวมถึงจัดระเบียบการเผา โดยชิงเผาก่อน ช่วงวิกฤตหมอกควัน การจัดการกรณีเกิดวิกฤตไฟป่าและหมอกควันให้จังหวัดสนธิกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยทหาร ฝ่ายพลเรือน และอาสาสมัครในพื้นที่ร่วมระงับไฟป่า พร้อมจัดหาหน้ากากอนามัยแจกจ่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง รวมถึงระดมวัสดุอุปกรณ์ฉีดพ่นละอองน้ำเพิ่มความชื้น และลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ ตลอดจนให้รายงานสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันต่อศูนย์เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์และประสานการปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ ปี 2559 อย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะยุติ เพื่ออำนวยการสั่งการแก้ไขปัญหาและควบคุมสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันไม่ให้วิกฤต จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่
0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th