กรมวิชาการเกษตรเร่งจัดทำมาตรฐานการผลิตพืช 30 ชนิด

ข่าวทั่วไป Monday January 15, 2001 13:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ม.ค.--กรมวิชาการเกษตร
กรมวิชาการเกษตรรุกขยายตลาดส่งออก จัดทำมาตรฐานผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร หวังลดปัญหาประเทศคู่ค้าใช้มาตรการค้าสุขอนามัยกีดกันทางการค้า ยืนยันภายในปี 2544 จะจัดทำมาตรฐานฯให้ได้ 30 ชนิด พร้อมเตรียมจับมือสหกรณ์นำร่องไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม
นายอนันต์ ตาโลดม อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำมาตรฐานผลิตผลและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะดำเนินการในพืชที่มีการส่งออกเป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดทำมาตรฐาน และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เห็นชอบ พร้อมทั้งได้พิมพ์เป็นเอกสารไปแล้ว 3 ชนิด คือ ทุเรียน ลำไย กล้อยไม้ และอีก 2 ชนิด คือ ข้างหอมมะลิ สับปะรดโรงงาน อยู่ระหว่างการจัดพิมพ์เป็นเอกสาร คาดว่าจะสามารถดำเนินการจัดพิมพ์เสร็จในเร็วๆ นี้
นอกจากนี้ยังมีพืชอีก 7 ชนิดที่กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำมาตรฐานแล้ว อยู่ระหว่างการเสนอขอความเห็นชอบจากกระทรวงเกษตรฯได้แก่ มะม่วง เงาะ มังคุด ลิ้นจี่ ส้มเปลือกอ่อน สับปะรด บริโภค และส้มโอ อย่างไรก็ตามภายในปี 2544 กรมวิชาการเกษตรได้ตั้งเป้าหมายที่จะดำเนินการจัดทำมาตรฐานผลิตผลและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรให้ได้ประมาณ 30 ชนิด ทั้งนี้เพื่อที่จะสามารถขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตรของไทยให้มากขึ้น ตลอดจนเป็นการป้องกันปัญหาการกีดกันทางการค้าที่ประเทศคู่ค้ามักจะหยิบยกมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชมาใช้เป็นมาตรการกีดกันทางการค้า
"หลังจากจัดทำมาตรฐานผลิตผลและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรแล้วเสร็จ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นรูปธรรมและเกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง กรมวิชาการเกาตรจะร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชให้ได้ตามมาตรฐานกำหนดแก่สมาชิกสหกรณ์ต่างๆ ที่มีความพร้อมเป็นการนำร่องก่อนที่จะขยายไปสู่เกษตรกรทั่วไป" นายอนันต์กล่าว
อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาประเทศคู่ค้า ที่จะนำมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช มาใช้ในการกีดกันทางการค้าให้ได้ผลยิ่งขึ้น กรมวิชาการยังได้จัดทำโครงการลดการใช้สารเคมีป้องกันจำกัดศัตรูพืช 27 ชนิด ภายในปี 2544 ได้แก่ ข้าวกระหล่ำปลี คะน้า พริก หน่อไม้ฝรั่ง มะเขือเปราะ มะเขือเทศ หอม หอมแดง หัวหอมใหญ่ กระเจี๊ยบเขียว ข้าวโพดหวาน ปาล์มน้ำมันมันสำปะหลัง มันฝรั่ง ถั่วเหลือง ถั่วเหลืองฝักสด ถั่วลันเตา องุ่น มะม่วง ส้มเขียวหวาน สตรอเบอรี่ ทุเรียน พุทรา ลำใย สับปะรด และกล้วยไม้
ทั้งนี้จะเน้น การใช้พันธุ์ต้านทาน การใช้วิธีการควบคุมศัตรูพืชแบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น การใช้ระบบควบคุมศัตรูพืชแบบผสมผสาน และการใช้สารสกัดชีวภาพทดแทน
นายอนันต์กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้กรมวิชาการเกษตรยังดำเนินกิจกรรมอีกหลายเรื่องที่สนับสนุนมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช เช่น การจัดทำนโยบายอารักขาพืช การห้ามใช้สารป้องกันจำกัดศัตรูพืชที่ร้ายแรง การตรวจสอบสารพิษตกค้างในสินค้าเกษตรที่นำเข้าและส่งออกการปรับปรุงห้องปฏิบัติการวิเคราะห์วัตถุมีพิษเพื่อให้ได้มาตรฐาน การควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์สารป้องกันจำกัดศัตรูพืชการจัดทำคำแนะนำเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) การควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์สารป้องกันจำกัดศัตรูพืช การจัดทำคำแนะนำเกษตรดีที่เหมาะสม(GAP) การยกร่างนโยบายและแผ่นแม่บทการใช้สารป้องกันจำกัดศัตรูพืช พ.ศ.2544-2549 เป็นต้น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ คุณพรรณนีย์ วิชชาชู
หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมวิชาการเกษตร โทร.561-2825--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ