กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--hukder company
สมาคมสถาปนิกสยามฯ เปิดตัวงานสถาปนิก '59 "ASA Back to Basic | อาษาสู่สามัญ" มุ่งเน้นให้สถาปนิก ย้อนกลับสู่พื้นฐานด้านสถาปัตยกรรม เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการแข่งขันในเวทีโลก ระหว่างวันที่ 26 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2559 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1-3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
นายพิชัย วงศ์ไวศยวรรณ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดงานเพื่อเผยแพร่วิชาชีพสถาปัตยกรรมมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช2529 โดยใช้ชื่องานว่า "สถาปนิก'29" และได้จัดเป็นประจำทุกปี (ยกเว้นปีพุทธศักราช 2533) จนถึงปัจจุบัน ได้จัดไปแล้ว 29 ครั้งโดยมีผู้เข้าชมปีละประมาณ 350,000 คนในแต่ละปี สำหรับปีพุทธศักราช2559 นี้ คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ปีพุทธศักราช 2557-2559 มีมติเห็นชอบในการจัดงานสถาปนิก '59 ซึ่งเป็นครั้งที่ 30 ขึ้นในวันอังคารที่ 26 เมษายน 2559 ถึงวันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม 2559 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ถนนแจ้งวัฒนะ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เพื่อแสดงตัวตนและความเป็นเลิศทางด้านการออกแบบ ของสถาปนิกไทยในทุกสาขาวิชาชีพให้โลกได้รู้จักและการนำเสนอผลงาน ความก้าวหน้าทางด้านวิชาชีพ นิทรรศการทางด้านสถาปัตยกรรม นวัตกรรมและเทคโนโลยี การอบรมสัมมนาในระดับนานาชาติ รวมทั้งการให้บริการต่างๆให้แก่สมาชิกและประชาชนทั่วไป และส่วนของงานแสดงวัสดุผลิตภัณฑ์ ที่เกี่ยวเนื่องกับงานสถาปัตยกรรม งานตกแต่งภายในและการก่อสร้าง
ซึ่งการจัดงานสถาปนิกในแต่ละปีที่ผ่านมา คณะกรรมการจัดงานได้มีการกำหนดแนวคิดในการจัดงานที่แตกต่างกัน โดยมุ่งสะท้อนให้สังคม มีความเข้าใจในวิชาชีพสถาปนิกในขณะเดียวกันก็มุ่งสร้างความแข็งแกร่งและเสริมองค์ความรู้ด้านวิชาชีพให้กับสถาปนิกและวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเป็นเวทีให้สถาปนิกไทยแข่งขันได้ในเวทีนานาชาติ ซึ่งเชื่อมั่นว่า การจัดงานในครั้งนี้จะทำให้วิชาชีพสถาปนิก และวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนทั่วไปได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมชมงานที่จะจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 26 เมษายน– 1 พฤษภาคม 2559 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1-3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
รศ.ดร.ต้นข้าว ปาณินท์ ประธานจัดงานสถาปนิก '59 กล่าวว่า การจัดงานสถาปนิก '59 ในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "ASA Back to Basic |อาษาสู่สามัญ" โดยเน้นการกลับไปคิดถึงพื้นฐานด้านสถาปัตยกรรม (Re-thinking Architectural Basics) หากสถาปัตยกรรมเป็นสิ่งที่สร้างแนวทางให้กับการอยู่อาศัยของมนุษย์ ความคิดทางสถาปัตยกรรมก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือในการสร้างทิศทางให้กับสถาปัตยกรรม ความคิดในที่นี้หมายถึงการตั้งคำถามเกี่ยวกับหลักการสามัญพื้นฐาน ในการออกแบบ ไม่ว่าจะเกี่ยวเนื่องกับศิลปะ ความงาม วัฒนธรรม สังคม การเมือง หรือการสื่อสารความหมาย ความคิดพื้นฐานทางสถาปัตยกรรมนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ในหลากหลายทิศทาง สถาปัตยกรรมอาจะถูกมองเป็นแขนงวิทยาการที่เป็นเอกเทศจากสิ่งรอบข้าง มีรูปทรงรูปร่างที่มีความหมายในตัวของมันเอง ซึ่งเป็นผลจากความคิดสร้างสรรค์ของผู้ออกแบบ ซึ่งทำให้เราสามารถเข้าใจงานสถาปัตยกรรมได้ไม่ต่างจากที่เราเข้าใจงานศิลปะ แต่ในทางตรงกันข้าม สถาปัตยกรรมก็อาจถูกมองว่าไม่ได้เป็นเอกเทศเช่นนั้น แต่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและความเป็นไปในสังคมอย่างแยกขาดจากกันไม่ได้ เราจึงสามารถพิจารณาสถาปัตยกรรมได้ในรูปแบบที่ไม่แตกต่างที่จากเราพิจารณาประเด็นทางการเมือง ซึ่งในพื้นฐานความคิดแบบนี้ สถาปัตยกรรมไม่ใช่ศาสตร์ที่เป็นเอกเทศอีกต่อไป แต่กลายเป็นส่วนหนึ่งของแง่มุมหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคม ระหว่างพื้นฐานความคิดทั้งสองแบบนั้น แน่นอนว่ายังมีวิธีการมองสถาปัตยกรรมอีกมากมายอันเป็นรากฐานที่สถาปนิกเข้าใจอาคาร จุดมุ่งหมายของเรา จึงเป็นการพยายามที่จะนำเสนอพื้นฐานความคิดอันหลากหลายที่สถาปนิกเข้าใจและนำเสนออาคารของตน โดยมุ่งเน้นการค้นหาความหมายของหลักการสามัญพื้นฐาน และแก่นของความคิดในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนแนวทางการทำงานที่มีบทบาทสำคัญในสังคมของเราทุกวันนี้
พื้นฐานความคิดทางสถาปัตยกรรมเหล่านี้ ล้วนเป็นเครื่องมือสำคัญของสถาปนิกในการสร้างสรรค์อาคาร หน้าที่ของเราจึงเป็นการค้นหาและนำเสนอพื้นฐานหลากหลาย ที่ถูกแปรเปลี่ยนเป็นอาคาร ด้วยจุดมุ่งหมายที่ว่า ท่ามกลางความซับซ้อนโลกปัจจุบันการพยายามทำความเข้าใจหลักการพื้นฐาน จะสามารถสร้างเวทีในการถกเถียงและเป็นแว่นขยายให้เรามองเห็นความสำคัญ ของสิ่งสามัญรอบตัวที่อาจถูกมองข้าม หลักการสามัญพื้นฐานทางสถาปัตยกรรมเหล่านั้น เป็นสิ่งที่ทั้งใกล้และไกลจากตัวเรา มีตัวตนในทางกายภาพและอาศัยอยู่ในโลกแห่งจินตนาการไปพร้อมๆ กัน หลักการสามัญเหล่านี้ทั้งเกิดขึ้นในอดีตอันห่างไกล และเป็นเครื่องมือที่เราใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ตลอดจนเป็นแนวทางในการตั้งคำถามของเราในอนาคต
สำหรับนิทรรศการและกิจกรรมที่สำคัญในปีนี้ ประกอบด้วย
1. Basic Exhibition นิทรรศการ
นิทรรศการอนุรักษ์ เป็นนิทรรศการที่เล่าเรื่องน่าประทับใจในอดีตแบ่งเป็นนิทรรศการย่อยๆจัดแสดงภาพถ่ายอาคารซึ่งมีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ รวมทั้งนิทรรศการรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2558 นิทรรศการส่วนกรรมาธิการไทยประเพณี และนิทรรศการเครือข่ายอนุรักษ์
นิทรรศการ Vernadoc เป็นนิทรรศการ เล่าเรื่องชุมชนและอาคารในย่านชุมชมเก่า เพื่อสร้างความตระหนักแก่ผู้อยู่อาศัย และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้เห็นถึงความสำคัญ และช่วยกันอนุรักษ์และพัฒนาย่านชุมชนเก่าที่เน้นกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างอาสาสมัคร นักวิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาครัฐ เอกชน ผู้อยู่อาศัยในชุมชน และเครือข่ายผู้สนใจประวัติศาสตร์
2.Basic of the Present
นิทรรศการ Basic of The Present เป็นนิทรรศการที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมในปัจจุบัน ทั้งทางด้านแนวความคิด ที่มา กระบวนการ และลักษณะทางกายภาพที่ปรากฏเป็นอาคาร โดยนำเสนอผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น คัดเลือก โดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
นิทรรศการ Photo Essay นิทรรศการเล่าเรื่องสถาปัตยกรรม ผ่านภาพถ่าย ในแง่มุมต่างๆ เพื่อนำเสนอมิติของงานสถาปัตยกรรม ที่เราอาจไม่มีโอกาสได้พบเห็นในชีวิตประจำวัน รวมทั้งเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างงานสถาปัตยกรรมกับวิถีชีวิต ระบบสังคมวัฒนธรรมในปัจจุบัน
นิทรรศการสถาปนิกชุมชน ร่วมเรียนรู้เสน่ห์ของการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมกับผลงานสถาปนิกชุมชน และกลุ่มคนรุ่นใหม่ ในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมาด้วยความร่วมมือจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ กลุ่มวิชาชีพสถาปัตยกรรม
นิทรรศการสถาปัตยกรรมดีเด่น'59 นำเสนอผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น คัดเลือกโดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี พ.ศ.2559
นิทรรศการ Universal Design นำเสนอแง่มุมของการดำรงชีวิตร่วมกันในสังคมอย่างเท่าเทียม เพื่อสร้างทัศนคติใหม่ของการออกแบบอาคารเพื่อ ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็น เด็ก คนชรา คนพิการ และคนทั่วไป
3.Basic of the Future
นิทรรศการ Basic of the Future นิทรรศการที่สะท้อนมุมมองที่เรามีต่องานสถาปัตยกรรมและเมืองในอนาคต โดยจะเป็นการรวบรวมแนวความคิดจากผู้คนในวงการออกแบบและสร้างสรรค์แขนงต่างๆ ที่จะมาร่วมนำเสนอวิสัยทัศน์สู่อนาคต ผ่านสื่อหลากหลาย
นิทรรศการ Future of the River เป็นนิทรรศการที่บอกเล่า ความเป็นมา ความสำคัญ และความหมายขแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อวิถีชีวิตของผู้คน ในเมือง ตลอดจนแนวทางการพัฒนาสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับแม่น้ำ โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มีความสนใจและทำงานอย่างต่อเนื่องในการค้นหาแนวทางการพัฒนาสถาปัตยกรรมแห่งแม่น้ำ
นิทรรศการ Basic Bangkok Bike Network นำเสนอเรื่องราว ที่มา และแผนงานของโครงการเครือข่ายทางจักรยานในกรุงเทพ ที่สัมพันธ์กับการเจริญเติบโตและการพัฒนาของเมือง ตลอดจนวิถีชีวิตและระบบสังคมวัฒนธรรมของเมือง
นิทรรศการ Future City Lab นำเสนอผลงานที่เล่าเรื่องราวเมืองแห่งอนาคต จากสถาบัน Swiss Federal Institute of Technology in Zurich
4. Basic ASA
100 Selected Projects เป็นนิทรรศการหลัก เพื่อแสดงศักยภาพของสถาปนิกไทย มีจุดประสงค์เพื่อสร้างภาพรวม และการแสดงตัวตน ครั้งใหญ่ของสถาปนิกทั้งประเทศ ให้เกิดความเคลื่อนไหวแบบก้าวกระโดดในวงการสถาปนิกไทย
นิทรรศการ ASA Competition นิทรรศการแสดงผลงานการประกวดแบบในระดับนานาชาติ ASA International Design Competition
นิทรรศการสถาบันการศึกษา เป็นนิทรรศการที่มุ่งหมายให้เป็นที่แสดงฝีมือของเหล่านิสิต นักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อยกระดับแสดงความเป็นเลิศในหลายทิศทางของนิสิต นักศึกษา
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อาทิ Basic Activities: กิจกรรม ASA Club ASA Shop Book Shop หมอบ้านอาษา ลานกิจกรรม ASA Night และ Basic Elements องค์ประกอบอื่นๆ อาทิ ASA Forum + ASA Seminar งานสัมมนาวิชาการ โดยนักออกแบบและผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมทั้งใน-ต่างประเทศ ASA Competitionการประกวดแนวความคิด Publication Folder | Back to Basicหนังสือที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับ Theme งานเพื่อแสดงความคิดทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ ในวงการออกแบบสถาปัตยกรรมไทยในปัจจุบัน
นายชาตรี มรรคา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีทีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้จัดงาน กล่าวว่า งานสถาปนิก ถือเป็นงานแสดงเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางด้านสถาปัตยกรรมและการก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน จัดมาอย่างต่อเนื่องถึงครั้งที่ 30 พร้อมการันตีงานด้วยมาตรฐานสากล 'UFI Approved Event' จากสมาคมอุตสาหกรรมการจัดงานแสดงสินค้าโลก เป็นการรับรองศักยภาพของงานสถาปนิก '59 ในฐานะงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ ทั้งด้าน
มาตรฐานการจัดงาน ผู้เข้าร่วมแสดงสินค้า และจำนวนผู้ชมงาน
และสำหรับงานสถาปนิก '59 ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 30 นี้ ในส่วนของการจัดแสดงเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก็ยังได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศในการเข้าร่วมจัดแสดงกว่า 800 ราย ทั้งไทยและต่างประเทศ บนพื้นที่ 75,000 ตารางเมตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้พื้นที่ส่วนแสดงสินค้าของผู้ประกอบการต่างชาติมีเพิ่มขึ้นกว่าทุกปี ประมาณการณ์ว่าสัดส่วนผู้แสดงสินค้าจากต่างประเทศจะมีถึง 25% หรือ 200 ราย เพิ่มขึ้นจากงานครั้งก่อนประมาณ 7%
นอกจากนี้ ยังถือเป็นครั้งแรกของวงการจัดงานแสดงสินค้า ที่ผู้จัดงานฯ ได้ริเริ่มและเชิญชวนให้ผู้ร่วมจัดแสดงสินค้า สนับสนุนแนวทางการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design Concept) ที่ถือเป็นโจทย์สำคัญในการออกแบบสิ่งแวดล้อม สิ่งปลูกสร้าง และสิ่งของเครื่องใช้ ที่ทุกคนในสังคมสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่และเท่าเทียมกัน รวมทั้งการส่งเสริมในเรื่องของผลิตภัณฑ์ บริการ และนวัตกรรมสีเขียวสำหรับงานออกแบบและก่อสร้าง (Green Building Material) โดยการให้ความสำคัญด้วยพื้นที่จัดแสดงโซนพิเศษ