กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--ไทยออยล์
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ. ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 25 มกราคม 2558
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 28 – 35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 27 – 34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (25 - 29 ม.ค. 59)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดว่าจะยังคงได้รับแรงกดดันต่อเนื่องจากความกังวลต่อภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดที่ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะคลี่คลายเร็วๆ นี้ และมีความเป็นไปได้ว่าตลาดจะยังประสบกับภาวะน้ำมันดิบล้นตลาดต่อไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2559 จากอุปทานส่วนเกินจากอิหร่านที่จะเข้ามาสู่ตลาดโลกมากขึ้น นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวสุดในรอบ 25 ปี ซึ่งสร้างความกังวลว่าความต้องการใช้น้ำมันอาจอ่อนแรงลงในปี 2559 อย่างไรก็ดี ตลาดยังคงจับตามองว่ารัฐบาลจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่ หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจส่งสัญญาณชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- อิหร่านสามารถส่งออกน้ำมันดิบสู่ตลาดโลกได้ตามปกติ หลังจากได้รับการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากชาติมหาอำนาจในวันที่ 16 ม.ค. ที่ผ่านมา หลังจากที่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ได้ประกาศรับรองว่าอิหร่านได้ยุติโครงการนิวเคลียร์แล้วตามที่ได้ทำข้อตกลงกับชาติมหาอำนาจเมื่อเดือน ก.ค. 58 โดยสหภาพยุโรป (EU) ยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจทั้งหมดที่สืบเนื่องมาจากกิจกรรมด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกคำสั่งห้ามซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่าน รวมทั้งข้อจำกัดด้านการค้า การขนส่งสินค้าทางเรือ และประกันภัย สำหรับสหรัฐฯ ได้ผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของอิหร่านบางส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการธนาคาร แต่ยังคงคว่ำบาตรผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย ทั้งนี้ อิหร่านแสดงความพร้อมที่จะเพิ่มกำลังการส่งออกน้ำมันดิบอีก 5 แสนบาร์เรลต่อวันทันที อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าอิหร่านอาจส่งออกน้ำมันดิบสู่ตลาดโลกมากขึ้นอีกราว 3 - 5 แสนบาร์เรลต่อวันภายในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2559
- สำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ว่าตลาดน้ำมันดิบโลกจะยังคงประสบกับภาวะน้ำมันดิบล้นตลาดอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2559 จากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตทั้งนอกและในกลุ่มโอเปกที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งสวนทางกับความต้องการใช้น้ำมันที่อ่อนแรงลง อันเป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศ โดย IEA ได้คงตัวเลขคาดการณ์น้ำมันปีนี้ที่ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ การที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (EU) ได้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน ก็จะส่งผลให้อิหร่านสามารถส่งออกน้ำมันสู่ตลาดโลกได้มากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ภาวะน้ำมันล้นตลาดรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ IEA ยังคาดการณ์ว่าประเทศนอกกลุ่มโอเปกน่าจะมีกำลังการผลิตลดลง 6 แสนบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ดี การชะลอตัวของกำลังการผลิตดังกล่าวอาจไม่ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันโลกปรับตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากอิหร่านมีแผนการผลิตน้ำมันดิบในปริมาณมาก
- จับตาว่ารัฐบาลจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่ ภายหลังจากที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวมากที่สุดในรอบ 25 ปี โดยล่าสุดสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 4/58 ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 6.8 ซึ่งลดลงจากระดับร้อยละ 7.3 เมื่อปี 2557 ส่งผลให้ GDP ตลอดทั้งปี 2558 ขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 6.9 ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 25 ปี และต่ำกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่กำหนดเอาไว้ที่ร้อยละ 7.0 อย่างไรก็ตาม ตัวเลข GDP ดังกล่าวเป็นไปตามความคาดหมายของบรรดานักวิเคราะห์ ซึ่งประเมินว่าเศรษฐกิจของจีน ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกจะขยายตัวระหว่างร้อยละ 6.5 - 6.9 ในปีที่ผ่านมา
- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มองว่าภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2559 ยังคงเปราะบางและไร้เสถียรภาพสืบเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและและราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวลดลง โดย (IMF) ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกสำหรับปี 2559 ลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.4 ในปีนี้ และร้อยละ 3.6 ในปี 2560 ซึ่งปรับลดลงจากการประมาณการณ์ก่อนหน้านี้ร้อยละ 0.2 นอกจากนี้ IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะโตที่ระดับร้อยละ 6.3 ในปีนี้ และร้อยละ 6.0 ในปีหน้า ซึ่งเท่ากับที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจจีนจะยังประสบปัญหาในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจจากการพึ่งพาการส่งออกและการลงทุน ไปสู่การพึ่งพาการบริโภคในประเทศแทน
- ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ความเชื่อมั่นผู้บริโภค ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน ดัชนีสัญญาการซื้อบ้านที่รอการปิดการขาย และจีดีพี (Q4/15) ของสหรัฐฯ และดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (18 – 22 ม.ค.59)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 32.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.24 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 32.18 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 23 เหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากอิหร่านที่คาดจะส่งออกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นในเร็วนี้ ส่งผลให้ภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดจะยังคงไม่คลี่คลายในเร็วๆ นี้ ประกอบกับความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงและอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันโลก เนื่องจากจีนเป็นผู้บริโภครายใหญ่อันดับ 2 ของโลก อย่างไรก็ดี ตลาดได้รับแรงสนับสนุนบางส่วนหลังจากสำนักข่าวต่างประเทศรายใหญ่ ได้เปิดเผยข้อมูลความต้องการใช้น้ามันเบื้องต้นของจีนในปี 2558 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์ โดยเป็นผลมาจากการใช้น้ำมันเบนซินและน้ามันก๊าดที่เพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่าการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของประเทศจีนจะชะลอตัวลงในปีที่ผ่านมา