กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
นับถอยหลังอีก 2 ปีจะเข้าสู่ยุค Aging Society หรือสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ สถาปัตย์ มจธ. เร่งสร้างความตระหนักแก่นักออกแบบรุ่นใหม่ปรับการเรียนการสอนเน้นผลงาน Aging Design รองรับการอยู่ได้ด้วยตัวเองสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ
โลกกำลังจะเข้าสู่ยุคที่มีผู้สูงอายุเป็นประชากรส่วนมาก หรือที่เรียกว่า "Aging Society" การเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้สำหรับประเทศที่ไม่ได้เตรียมพร้อมรับมืออาจตามมาด้วยปัญหาหลายด้านโดยเฉพาะการพึ่งพาตัวเองของผู้สูงอายุ ที่จะสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างสะดวกสบายโดยไม่ต้องพึ่งพาลูกหลานตลอดเวลา
สังคมควรเตรียมพร้อมให้เข้าสู่ Independent Living ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ หรือคนพิการต้องสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองในสังคมโดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับ ซึ่งประเทศไทยเองก็ยังไม่พร้อมและยังต้องมีการพัฒนาและเตรียมความพร้อมกันอีกมาก ทางด้าน ดร.บุษเกตน์ อินทรปาสาน รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมสามารถเริ่มต้นที่เรื่องของอารยสถาปัตย์ หรือ Universal Design ไม่ว่าจะเป็นยุโรป หรืออเมริกาต่างก็มีความพร้อมในเรื่องนี้มานาน ในเอเชียก็มีญี่ปุ่น สิงค์โปร และมาเลเซีย เป็นตัวอย่างที่ดี ส่วนประเทศไทยนั้นยังรั้งท้ายอยู่ในกลุ่มเดียวกับลาว เมียนมาร์ และกัมพูชา
"มีกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่เป็นคนพิการต้องใช้รถวีลแชร์อยากมาเที่ยวในเมืองไทยแต่มาไม่ได้เพราะบ้านเรายังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่พร้อมรองรับการช่วยเหลือตนเองของคนพิการ และในกรณีของผู้สูงอายุก็เช่นกัน ปัจจุบันกลุ่มสมาคมสถาปนิกแห่งประเทศไทยก็เริ่มคุยกันแล้วว่าจะนำ universal design มาปลูกฝังให้กับวิศวกรและสถาปนิกไทยด้วยการสอดแทรกในรายวิชาเรียน ปูพื้นฐานตั้งแต่เรียนปีหนึ่งขึ้นไปเลย เพราะความตระหนักและความเข้าใจต้องค่อยๆ ปลูกฝังกันตั้งแต่เด็ก ที่ญี่ปุ่นเค้าสอนเรื่องนี้กันตั้งแต่ระดับอนุบาล แต่พูดเลยว่าเมืองไทยเพิ่งจะเริ่มต้นกว่าจะสำเร็จคงใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี"
ดร.บุษเกตน์ กล่าวต่อว่า มจธ. เองมีการเรียนการสอนเรื่อง Universal Design มานานกว่า 15 ปีแล้ว ถือได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยนำร่องในด้านนี้ทั้งเรื่องการเรียนการสอนและสภาพแวดล้อมในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะที่ มจธ. บางขุนเทียนมีการออกแบบตามหลัก Universal Design อย่างสมบูรณ์แบบ และกำลังจะพัฒนาที่ มจธ. บางมด ให้เป็น University Assessment ในด้านนี้อีกเช่นกัน
นอกจากนั้น ดร.บุษเกตน์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่าได้เริ่มทำงานวิจัยเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวมาระยะหนึ่งแล้วไม่ว่าจะเป็นโบราณสถานที่ถูกสร้างขึ้นมาในยุคที่การออกแบบไม่ได้คำนึงถึงผู้สูงอายุและคนพิการ เช่น วัดที่อยู่บนเขาสูงหรือต้องขึ้นบันไดหลายร้อยขั้นเพื่อแสดงถึงพลังศรัทธา แต่ปัจจุบันมีผู้สูงอายุมากขึ้นแล้วจะทำอย่างไรเพื่อให้ผู้สูงอายุหรือคนพิการสามารถเข้าถึงสถานที่ท่องเที่ยวเหล่านั้นได้ด้วยตัวเอง
"ครอบครัวไทยแบ่งเป็นสามช่วงวัยมีทั้งปู่ย่าตายาย พ่อแม่ และเด็ก อยู่ด้วยกันเป็นวัฒนธรรมที่อาจจะเป็นปัญหาเพราะบ้านเราไปไหนก็ไปด้วยกันทั้งครอบครัว ไม่เหมือนฝรั่งที่ต่างคนต่างอยู่ในช่วงวัยของตัวเอง ดังนั้นเราต้องเจาะลึกการอยู่ร่วมกันของสามช่วงอายุของคนไทยในสถานที่ต่างๆ วัฒนธรรมไทยไม่สามารถแยกใครออกไปได้ ดังนั้นจึงต้องเริ่มตระหนักว่าสิ่งอำนวยความสะดวกบ้านเราพร้อมหรือไม่ เพราะวัฒนธรรมดังกล่าวนี้ถือเป็นจุดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของไทย และนั่นคือโจทย์ของงานวิจัยที่เราต้องพัฒนาและแก้ไข โดยที่ความเป็นเอกลักษณ์ของสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ ยังคงอยู่ ซึ่งในอนาคต มจธ.ก็กำลังจะเปิด "Social Culture Innovation" เป็น lab. ที่พัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับเรื่องสังคมและวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน"
ดร.บุษเกตน์ กล่าวทิ้งท้ายว่าปี 2018 จะถูกประกาศให้เป็นสังคมแห่งผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ไม่มีใครคิดมาก่อนว่า Aging Society จะเกิดขึ้น โลกกำลังจะเป็นสังคมของผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ นักออกแบบควรตระหนักถึงผู้สูงอายุและคนพิการมากขึ้นเพื่อที่จะสามารถดำรงชีวิตในสังคมด้วยตนเอง ซึ่งทาง มจธ.เอง ก็มีนโยบายที่จะปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้เกี่ยวกับผู้สูงอายุมากขึ้นเป็น aging design มากขึ้นด้วยเช่นกัน