กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--กรมปศุสัตว์
ปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่เป็นห่วงเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น จึงนิยมบริโภคหมูเนื้อแดงไม่ติดมันส่งผลให้ฟาร์มผู้ผลิตพยายามหาวิธีการที่จะทำให้เนื้อหมูมีมันน้อยและเนื้อแดงมากขึ้น เกษตรกรผู้เลี้ยงบางรายจึงใช้สารเร่งเนื้อแดงผสมในอาหารหรือน้ำให้หมูกิน เพื่อให้เนื้อหมูมีไขมันน้อย เนื้อแดงมาก โตเร็ว โดยการใช้สารเร่งเนื้อแดงนั้นมีแนวโน้มจะใช้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีสาเหตุมาจากเป็นช่วงที่เนื้อหมูมีราคาดี โดยเฉพาะในขณะนี้เป็นช่วงใกล้เทศกาลตรุษจีนแล้วทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อหมูเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จึงได้เร่งส่งชุดเฉพาะกิจลงไปสุ่มตรวจฟาร์มหมูในช่วงนี้อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีการเลี้ยงหมูจำนวนมาก รวมถึงสุ่มตรวจในฟาร์มที่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดงในอาหารสัตว์และน้ำที่ใช้เลี้ยงหมูซึ่งถือเป็นการทรมานสัตว์ ทำให้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและที่สำคัญถือเป็นว่าการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์นั่นเอง
นายสัตวแพทย์อยุทธ์ หรินทรานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการตรวจสอบการลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงมาตลอด ซึ่งเป็นผลให้ปริมาณการลักลอบการใช้สารเร่งเนื้อแดงลดลงเป็นอย่างมาก เพราะมีการตรวจจับทั้งที่ฟาร์มและโรงเชือด และมีการทำลายซากสุกรที่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง ซึ่งเป็นสารเคมีต้องห้ามทั้งนำเข้าเพื่อขายซึ่งอาหารสัตว์และห้ามใช้ตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ฉบับเดิม พ.ศ.2525 ซึ่งยังมีผลใช้บังคับอยู่จนกว่าจะมีประกาศกระทรวงที่เกี่ยวข้องฉบับใหม่ที่จะต้องออกตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2558
"สำหรับการดูแลเรื่องสินค้าสุกรนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนี้ใกล้จะถึงช่วงตรุษจีน ซึ่งจะมีการใช้เนื้อหมูกันมากขึ้น ทางสำนักพัฒนาสินค้าฯ กรมปศุสัตว์จึงได้มีแคมเปญในเรื่องนี้ขึ้นเพื่อต้องการประชาสัมพันธ์ในระบบกว้างให้ประชาชนได้รู้ว่าการที่จะเลือกซื้อเนื้อสัตว์โดยเฉพาะเนื้อสุกรที่ปลอดภัยนั้นก็ควรจะดูจากอะไร โดยทางกรมฯได้สร้างตราสัญญาลักษณ์ขึ้นมา เป็นตราสัญญาลักษณ์ปศุสัตว์โอเค โดยประชาชนก็จะรู้ได้จากตราสัญญาลักษณ์นี้ว่าร้านไหน เขียงหมูไหนหรือโมเดิร์นเทรดไหน (Modern Trade) มีตราสัญญาลักษณ์ของปศุสัตว์โอเคอยู่นั้น ก็แสดงว่าท่านซื้อสินค้าในจุดนั้นได้อย่างสบายใจ เพราะกรมปศุสัตว์ได้เน้นว่าเนื้อสุกรที่นำมาจำหน่ายนั้น จะต้องเป็นเนื้อสุกรที่ปลอดสารอันตรายต้องห้ามทั้งหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งสารเร่งเนื้อแดงนี้ห้ามใช้โดยเด็ดขาด โดยเนื้อสุกรเหล่านั้นก็ต้องมาจากโรงฆ่าที่ได้มาตรฐานของกรมปศุสัตว์และจะต้องซื้อเนื้อสัตว์จากฟาร์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐานด้วย ก็คือต้องเป็นฟาร์ม GAP ซึ่งในส่วนของฟาร์ม GAP เอง หากเราตรวจพบว่าเขาใช้สารต้องห้าม เราก็จะถอน GAP ทันที เมื่อถูกถอนGAP แล้วฟาร์มเหล่านั้นก็จะไม่สามารถไปเข้าโรงฆ่ามาตรฐานของเราอีกต่อไป "
นายสัตวแพทย์อยุทธ์ หรินทรานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวอีกว่า กรมปศุสัตว์เน้นและส่งเสริมให้ผู้เลี้ยงสุกรตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความปลอดภัย ในการผลิตเนื้อหมู โดยทางกรมฯ มีความพร้อมที่จะจัดเจ้าหน้าที่ซึ่งผ่านการฝึกอบรมการใช้ชุดตรวจ หรือ Test Kit ที่จะลงพื้นที่สุ่มตรวจ โดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า หากพบว่ามีการใช้สารเร่งเนื้อแดง จะดำเนินการทางกฎหมายทันที ที่สำคัญขอให้ทั้งผู้เลี้ยงและผู้ค้าร่วมมือกันดูแลสินค้าเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ
ทางด้าน นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรการคุมเข้มสารเร่งเนื้อแดงในประเทศไทยนั้น กรมปศุสัตว์ มีมาตรการคุมเข้มในเรื่องของการห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงมาโดยตลอด ซึ่งสารเร่งเนื้อแดงนั้นมีหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นสารในกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ ได้แก่ ซาลบูทามอล(salbutamol) ซิมบูเทอรอล (cimbuterol) เคลนบูเทอรอล(clenbuterol) แรคโตปามีน(ractopamine) เป็นต้น ซึ่งสารแรคโตปามีนนั้นเป็นสารตัวที่ทางประเทศสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ใช้ได้ แต่สำหรับในประเทศไทยนั้น ในกฎหมายระบุไว้ว่าห้ามใช้ และห้ามมีส่วนผสมอะไรทั้งสิ้นในอาหาร รวมทั้งในกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรืออย.ก็ห้ามมีสารชนิดนี้ในเนื้อสัตว์ทุกชนิดด้วย
"นอกจากมีมาตรการคุมเข้มในการลงพื้นที่ตรวจตามฟาร์ม ตามโรงฆ่าต่างๆแล้วนั้น ตอนนี้ทางกรมฯยังได้ทำยุทธศาสตร์ 127 ออกมา ทำไมถึงใช้คำว่ายุทธศาสตร์ 127 นั่นเป็นเพราะว่าเขตที่กรมปศุสัตว์ทำหน้าที่ดูแลเรื่องนี้นั้นจะประกอบไปด้วยเขตต่างๆ ดังนี้คือ เขตที่ 1 ซึ่งเป็นเขตภาคกลางทั้งหมด เขตที่ 2 คือเขตภาคตะวันออกทั้งหมด และเขตที่ 7 คือภาคตะวันตก นี่จึงเป็นที่มาของคำว่ายุทธศาสตร์ 127 ซึ่งในเขตที่กล่าวมานี้ จะมีการทำปศุสัตว์หรือเลี้ยงสุกรค่อนข้างมาก ซึ่งวิธีการที่เราดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ 127ก็คือว่าเราจะลงพื้นที่ไปเก็บตัวอย่างปัสสาวะของสุกรที่จะเข้าโรงฆ่า โดยในการตรวจนั้นก็จะใช้ชุดตรวจหรือ Test Kit ซึ่งมีความรวดเร็วและแม่นยำเป็นอย่างมาก และหากผลออกมาเป็นลบนั่นก็แสดงว่าไม่พบสารเร่งเนื้อแดง แต่ถ้าเป็นผลบวกออกมา เราก็จะดำเนินการตามกฎหมายทันที ซึ่งการดำเนินการตามกฎหมายที่ว่านี้ก็คือการไม่อนุญาตให้นำสุกรเข้าโรงฆ่า และหากมีการฆ่าไปแล้วนั้น เราก็ไม่อนุญาตให้จำหน่าย หรือถ้านำออกมาจำหน่าย ทางกรมฯก็จะมีการยึดอายัดแล้วก็ทำลายทันที แล้วโดยเฉพาะช่วงนี้กำลังจะเข้าช่วงเทศกาลตรุษจีนแล้ว ผู้บริโภคจะต้องได้รับประทานเนื้อสัตว์ที่ปลอดภัย สะอาด เพราะฉะนั้นตอนนี้นอกจากการที่ทางกรมฯจะทำในเรื่องของตราสัญญาลักษณ์ปศุสัตย์โอเคแล้ว เราก็เร่งดำเนินการในเรื่องของโครงการยุทธศาสตร์ 127 ด้วยเพื่อที่จะป้องปรามแล้วก็ดำเนินการให้เนื้อสัตว์โดยเฉพาะเนื้อสุกรนั้น เป็นเนื้อสัตว์ที่ปราศจากสารตกค้างโดยเฉพาะสารเร่งเนื้อแดงซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค"นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในตอนท้าย
อนึ่ง ผู้บริโภคที่ไปซื้อเนื้อหมู อาจจะไม่สามารถมองเห็นความแตกต่างระหว่างหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดงกับหมูที่ปลอดสารเร่งเนื้อแดงได้ ดังนั้นผู้บริโภคจึงควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์หมูสดจากผู้ประกอบการที่เชื่อถือได้ และที่สำคัญคือได้รับการรับรองผ่านมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่เลือกซื้อไปปลอดสารเร่งเนื้อแดง และปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะและสารตกค้างต่างๆ เพื่อให้ได้เนื้อหมูคุณภาพดีมาบริโภคอย่างปลอดภัย ไร้กังวลนั่นเอง