กรุงเทพฯ--26 ม.ค.--กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA จัดงานประชุมวิชาการเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ประจำปี 2559 หรือ Geoinfotech 2016 ระหว่างวันที่ 3 – 5 กุมภาพันธ์ 2559 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เวทีที่เปิดโอกาสให้นักวิชาการ นักวิจัย นิสิตและนักศึกษา ได้นำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า งาน Geoinfotech เป็นเวทีที่สำคัญของเหล่าคน GIS ที่จะใช้เป็นโอกาสในการนำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ทางด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ โดยการแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการวิจัยและพัฒนา เพื่อนำไปสู่การเพิ่มคุณภาพชีวิต สร้างรายได้และสร้างงานแก่ประชาชนทุกระดับ โดยการจัดงานในครั้งนี้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมกับ กรมแผนที่ทหาร และสมาคมวิชาชีพ จำนวน 6 สมาคม ประกอบด้วย สมาคมสำรวจข้อมูลระยะไกลและสารสนเทศภูมิศาสตร์แห่งประเทศไทย สมาคมภูมิศาสตร์แห่งประเทศไทย สมาคมระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะไทย สมาคมการแผนที่แห่งประเทศไทย สมาคม
ธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย และสมาคมการสำรวจและการแผนที่จัดประชุมวิชาการเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเป็นประจำทุกปี ร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม โดยการประชุมครั้งนี้จัดเป็นปีที่ 14 ติดต่อกันแล้ว
สำหรับ highlight ของงานปีนี้ นอกเหนือจากการนำเสนอบทความวิชาการและผลงานวิจัยแล้ว การแสดงปาฐกถา การบรรยายพิเศษ เสวนาจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านก็น่าสนใจเป็นอย่างมาก โดยปัจจุบันประเทศไทยมีนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่ชื่อว่า Digital Economy ซึ่งเป็นยุคที่เศรษฐกิจต้องอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศหรืออินเตอร์เน็ตมาสร้างอาชีพหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมทั้งนำไปใช้การพัฒนาภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรมประเภทต่างๆ อย่างกว้างขวาง นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศจึงมาเกี่ยวข้องกับยุคของ Digital Economy โดยหัวข้อของการประชุมจะเน้นเรื่องดังกล่าวอย่างแน่นอน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยง และเกี่ยวพันกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาทิ THEOS-2 สู่การพัฒนาในยุคดิจิตอล, แนวโน้มของ GNSS ในอนาคต, การทำแผนที่รายละเอียดสูงจาก UAV เพิ่มประสิทธิภาพในการวิเคราะห์เป้าหมายได้อย่างตรงจุด รวมไปถึงโอกาสความท้าทายของ GI ในยุค Internet of Things โดยส่วนนี้จะทำให้เรารู้ว่า Internet of Things คืออะไร แนวโน้ม ในอนาคตเป็นอย่างไร เพื่อให้เราสามารถรับมือต่อโอกาสและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในยุค Internet of Things
นอกจากนี้ ยังมีการแสดงนิทรรศการ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึงสุดยอดของการแข่งขันโปรแกรมประยุกต์ด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ หรือ G-CON ซึ่งเป็นอีก 1 กิจกรรมที่ระดมเหล่าเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีพลังทางความคิด และสนใจทางด้านภูมิสารสนเทศ ได้มาวาดลวดลาย และสร้างจินตนาการจากความเป็นจริง ซึ่งถือเป็นอีก 1 สีสันให้กับงานในปีนี้เลยทีเดียว ดร.พิเชฐฯ กล่าวเสริม