กรุงเทพฯ--26 ม.ค.--124 คอมมิวนิเคชั่นส คอนซัลติ้ง
นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ คณะผู้แทนจากศูนย์ข้อมูลการควบคุมความมั่นคงทางการค้า (Center for Information on Security Trade Control: CISTEC) ประเทศญี่ปุ่น นำโดย นาย Shinichi Totsuka บริษัทโตชิบา และนายHitoshi TEZUKA บริษัท ฟูจิตสึ จำกัด พร้อมคณะ รวม 11 คน เข้าเยี่ยมคารวะและหารือรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (นายวันชัย วราวิทย์) เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น ในโอกาสที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับการบริหารการค้าสินค้าที่ใช้ได้สองทางของไทย (e-TMD) เพื่อรองรับมาตรการภายใต้ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้สินค้าที่ใช้ได้สองทางเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาต และกำหนดสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ.2558 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2561
CISTEC เป็นหน่วยงานที่ไม่หวังผลกำไร ในการเป็นศูนย์กลางการให้ข้อมูลข่าวสารด้านการควบคุมการส่งออกที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (WMD) ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2532 ภายหลังเหตุการณ์ Toshiba Machine ที่สหรัฐฯ ได้ประณามและยกเลิกการนำเข้าสินค้าของบริษัทฯ รวมทั้งสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นด้วย และได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการส่งออกของญี่ปุ่น ด้วยเหตุดังกล่าว ภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นจึงรวมตัวกันจัดตั้ง CISTEC ขึ้น เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับมาตรการรักษาความมั่นคงและสันติภาพของโลก ปัจจุบัน CISTEC มีบุคลากรประมาณ 40 คน และสมาชิก 422 บริษัทจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร และการสื่อสาร เป็นต้น
ในโอกาสนี้ ผู้แทน CISTEC ได้แสดงความชื่นชมต่อระบบ TMD และ e-TMD ของไทย โดยเฉพาะระบบ e-Self Certification ในการอำนวยความสะดวกผู้ส่งออกสินค้าที่มี HS Code ตามบัญชี 2 แต่ไม่มีคุณสมบัติเป็น DUI รับรองตนเองก่อนส่งออก นอกจากนี้ คณะผู้แทนฯ ได้ขอให้ไทยเร่งออกกฎหมายเป็นการเฉพาะ (พระราชบัญญัติการค้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยาย WMD) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการตื่นตัวในการปฏิบัติตามมาตรการได้มากขึ้น และเสนอให้จัด Outreach เพื่อสร้างความมั่นใจต่อมาตรการดังกล่าวว่าจะไม่เป็นอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศ และเสริมว่าการที่ประเทศไทยทอดระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายหลังออกประกาศฯ เป็นระยะเวลากว่า 2 ปีนั้น เอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการ ในการเตรียมความพร้อมและจัดสรรโครงสร้างภายในบริษัท ให้เป็นไปตามมาตรการของไทย
นางดวงพรฯ ได้กล่าวเน้นย้ำว่ามาตรการ TMD ของไทยจะไม่เป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้ประกอบการ และจะยังคงพัฒนาและปรับปรุงระบบ e-TMD ให้มีความสมบูรณ์สอดคล้องตามหลักสากล และต้องเหมาะสมกับบริบททางการค้าต่างประเทศของไทยต่อไป