กรุงเทพฯ--19 ธ.ค.--เอ.อาร์.อินฟอร์เมชัน แอนด์ พับลิเคชัน
เอ.อาร์.เสนอทางออกเวนเดอร์ไอทีไทยและเทศ ร่วมสร้างงานแสดงและจำหน่ายสินค้าไอทีรูปแบบใหม่ เพื่อเป็นศูนย์กลางซื้อ-ขายสินค้าไอที อย่างมีระบบ ในมาตรฐานสากล พร้อมรับที่หนึ่งตลาดงานแสดงสินค้าไอที
นายบัณฑิต คุปพิทยานันท์ ผู้อำนวยการธุรกิจเอ็กซิบิชั่น และรองผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอ.อาร์.อินฟอร์เมชัน แอนด์ พับลิเคชัน จำกัด ประกาศเดินหน้าจัดงานต่อเนื่อง โดยยืนนโยบายจัดปีละ 2 ครั้ง เพื่อตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของตลาด โดยในวันที่ 21-24 เดือนมีนาคม เป็นงานคอมมาร์ต เน้นคอนเซ็ปต์การแสดงและซื้อ-ขายสินค้าไอที ราคาประหยัด คุณภาพมาตรฐาน ส่วนงานคอมเทคจะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2002 เน้นการแสดงเทคโนโลยีไอทีใหม่ๆ สดๆ จากต่างประเทศ
นายบัณฑิตกล่าวว่า “ปัจจุบันงานแสดงและจำหน่ายสินค้าไอทีมีมากมายหลายงาน เท่าที่เราประเมินจากพฤติกรรมและสภาพเศรษฐกิจ เชื่อว่าผู้บริโภคจะใช้เม็ดเงินในการจับจ่ายซื้อของจริงๆเพียงแค่ 1-2 ครั้ง ต่อปีเท่านั้น การนี้ผู้บริโภคต้องไปเดินทุกๆงานทั้งที่บางครั้งการจัดงานไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ เพราะคอนเซ็ปต์งานไม่ชัดและไม่ตรงกับที่ได้ประชาสัมพันธ์ออกไป จะทำให้ผู้ชมงานผิดหวังได้ เอ.อาร์. ในฐานะผู้ผลิตสื่อไอทีที่คุ้นเคยกับบริษัทเจ้าของเทคโนโลยี และผู้ซื้อสินค้าไอทีมานาน เราจึงเข้าถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค ทำให้การจัดงานทุกครั้งมีเป้าหมายและกิจกรรมที่ชัดเจน ตอบสนองความต้องการของทุกฝ่ายได้ ดังตัวอย่างงานคอมมาร์ตและคอมเทค ไทยแลนด์ 2001 ในเดือนมีนาคม และตุลาคมที่ผ่านมา”
งานคอมมาร์ต ไทยแลนด์ 2002 จะจัดขึ้นในวันที่ 21-24 มีนาคม 2545 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โซนซี โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายเข้าชมงานเป็น 3 กลุ่มหลักด้วยกัน คือ
กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อย และองค์กรขนาดย่อม เพราะกลุ่มนี้เป็นผู้มีแผนการใช้เงินอย่างระมัดระวัง จึงคาดหวังจะได้ใช้ของคุณภาพดี ราคาเหมาะสม กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ผู้ใช้คอมพิวเตอร์เป็นประจำ บางรายอาจยังไม่มีเครื่องใช้เอง บางรายอาจต้องการอัพเกรดเพิ่มเติม กลุ่มนี้เป็นผู้มีกำลังซื้อและเต็มใจที่จะซื้อ ทั้งเพื่อใช้ในการศึกษาและกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน กลุ่มบุคคลทั่วไป เน้นไปที่กลุ่มครอบครัว ซึ่งมีบุตรหลานที่กำลังศึกษา อยู่ในช่วงปิดเทอมและเริ่มต้นเรียนรู้คอมพิวเตอร์ ผู้ปกครองเล็งเห็นความสำคัญของการเรียนรู้เทคโนโลยี จึงสนับสนุนให้ใช้จ่ายเงินในด้านไอที นอกจากนี้ ยังมีการประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มผู้ที่กำลังคิดจะทำธุรกิจซื้อ-ขายสินค้าไอที เพื่อให้เกิดการต่อยอดในธุรกิจสินค้าไอทีอีกด้วย
การประชาสัมพันธ์ เอ.อาร์. ยึดนโยบายการเผยแพร่ข่าวสารของงานและรายละเอียดในงานให้มากที่สุด โดยทุ่มงบกว่า 10 ล้านบาท ในการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ไปที่กลุ่มเป้าหมายของงานอย่างครอบคลุมและต่อเนื่อง ซึ่งเป็นยอดงบประมาณที่มากกว่างบประมาณการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ของงานคอมมาร์ตครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2544
นายบัณฑิตกล่าวเพิ่มเติมว่า “การให้รายละเอียดของงาน กิจกรรมให้ความรู้และบันเทิง โปรโมชั่น มากที่สุดเพื่อสกรีนผู้บริโภคของงานที่แท้จริง เพราะหากว่ามาแล้ว ไม่ใช่งานที่ตัวเองมองหาอยู่ ก็จะเสียความรู้สึกและหมดความเชื่อมั่นที่จะเดินงานแสดงสินค้าดังที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ดังนั้น เอ.อาร์.จึงใช้งบประมาณด้านนี้สูง ถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและเรียกทัศนคติที่ดีของผู้บริโภคที่มีต่องานแสดงสินค้าไอทีกลับคืนมา”
นอกจากนี้ เอ.อาร์.ยังได้พิจารณาถึงการสนับสนุนผู้ร่วมแสดงงาน หรือ Exhibitor โดยนอกเหนือจากการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคแล้ว กิจกรรมภายในงานยังส่งเสริมการขายให้กับผู้เข้าร่วมแสดงและจำหน่ายสินค้า แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักด้วยกันคือ
กิจกรรมเสริมความรู้ให้กับผู้เข้าชมงาน ได้แก่กิจกรรมบนเวที (Special event of the day) กิจกรรมสนับสนุนการตัดสินใจซื้อ ทั้งก่อนเข้างานและในวันงาน ได้แก่แคตตาล็อคสินค้าและโปรโมชันที่กระจายให้กับกลุ่มเป้าหมายก่อนงาน, โครงการลุ้นรางวัล, Upgrade Zone, รวมทั้งการประมูลซึ่งทำให้ผู้เข้าชมงานสามารถเลือกที่จะซื้อในราคาที่พอใจ โครงการสร้างและเพิ่มอำนาจการซื้อ ได้แก่ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพร้อมข้อเสนอพิเศษกับผู้ซื้อของในงาน สำหรับ Buyer ’s guide corner ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักของงานคอมมาร์ต ยังคงนำทีมดำเนินและควบคุมคุณภาพกิจกรรมโดยกองบรรณาธิการนิตยสารคอมมาร์ต มาให้คำปรึกษากับผู้ที่กำลังมองหาคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ไอทีอื่นๆ
นายภาคภูมิ ขรรค์วิไลกุล บรรณาธิการบริหารนิตยสารคอมมาร์ตกล่าวว่า “กิจกรรมนี้เป็นการให้ความรู้กับผู้เข้าชมงานซึ่งเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เตรียมเงินเพื่อมาซื้อสินค้าในงานอยู่แล้ว แต่ยังไม่มั่นใจว่าแบบไหนจะเหมาะสมกับการใช้งาน การมารับคำปรึกษาจึงสร้างความมั่นใจและให้ความกระจ่างในการเลือกซื้อ” นอกจากนี้ นายภาคภูมิยังกล่าวด้วยว่าในปีนี้ Buyer ’s Guide Corner จะมีบางสิ่งที่พิเศษกว่าเดิม แต่จะขอเปิดเผยในภายหลัง
“จะเห็นว่าการทำงานของเอ.อาร์. ยึดหลัก Win- Win ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่เอ.อาร์.กับผู้ร่วมแสดงงานเท่านั้น แต่เป็นการ Win-Win 3 ฝ่าย คือผู้บริโภค ผู้ร่วมแสดงงาน และเอ.อาร์. เพราะเพียง 2 ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดกับใคร ไม่สามารถทำให้งานสำเร็จและยิ่งใหญ่ได้ เราจะเป็นตัวกลางในการเชื่อมธุรกิจต่อธุรกิจและเชื่อมผู้จำหน่ายกับผู้ซื้อ เข้าด้วยกันอย่างลงตัว จนกลายเป็นศูนย์กลางที่มีศักยภาพต่อทุกฝ่าย เพราะนั่นคือความสำเร็จของเอ.อาร์.ในการเป็นที่หนึ่งของธุรกิจนี้ต่อไป” นายบัณฑิต กล่าวในที่สุด--จบ--
-สส-