กรุงเทพฯ--17 มี.ค.--ธนาคารกรุงไทย
คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบวันที่ 5 ตุลาคม ในมาตรการเพิ่มเติมตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อส่งเสริมให้มีการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ได้อย่างรวดเร็วและเพื่อให้บริษัทบริหารสินทรัพย์สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ บรรลุผลสำเร็จโดยเร็ว ขณะเดียวกันก็จะต้องมีมาตรการที่ทางการกำกับดูแลการดำเนินกิจการของบริษัทบริหารสินทรัพย์ให้เป็นไปอย่างโปร่งใส ไม่เอื้อประโยชน์ต่อลูกหนี้รายใดรายหนึ่งเป็นการเฉพาะ และไม่มีส่วนส่งเสริมหรือชักจูงให้เสียวินัยในการชำระหนี้ของระบบสถาบันการเงินโดยรวมด้วยดังนี้
1. มาตรการด้านภาษีและค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
1.1 ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ตากกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ได้รับสิทธิประโยชน์ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เช่นเดียวกับสถาบันการเงิน
อนึ่ง เนื่องจากสิทธิประโยชน์ในกรณีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินและเจ้าหนี้อื่น จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2542 แต่การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ยังจำเป็นต้องดำเนินการต่อไปอีกระยะหนึ่ง จึงเห็นควรขยายเวลาการให้สิทธิประโยชน์ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงิน รวมถึงบริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์และเจ้าหนี้อื่นออกไปอีก 2 ปี โดยให้สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2544 ด้วย
1.2 ให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะแก่สถาบันการเงิน สำหรับรายรับที่เป็นดอกเบี้ยที่ได้รับจากบริษัทบริหารสินทรัพย์ในกรณีต่อไปนี้
1.2.1 รายรับที่เป็นดอกเบี้ยซึ่งเกิดจากการขายหรือโอนสินทรัพย์ด้วยคุณภาพของสถาบันการเงินนั้นให้บริษัทบริหารสินทรัพย์หรือจากการขายหรือโอนสินทรัพย์ด้วยคุณภาพของสถาบันการเงินอื่นที่สถาบันการเงินนั้นถือหุ้นมากกว่าร้อยล ของหุ้นทั้งหมดมีสิทธิออกเสียงให้บริษัทบริหารสินทรัพย์
1.2.2 รายรับที่เป็นดอกเบี้ย ซึ่งเกิดจากการให้สินเชื่อเพื่อบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเฉพาะในส่วนที่ซื้อหรือรับโอนมาจากสถาบันการเงินนั้น หรือในส่วนที่ซื้อหรือรับโอนมาจากสถาบันการเงินอื่นที่สถาบันการเงินนั้นถือหุ้นมากกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง
กรณี 1.2.1 และ 1.2.2 ข้างต้น ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้
- สถาบันการเงินถือหุ้นโดยตรงในบริษัทบริหารสินทรัพย์มากกว่าร้อยละ 5 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงหรือ
- กรณีทีนิติบุคคลอื่นถือหุ้น ทั้งในสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์มากกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงของสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์ดังกล่าว
1.3 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เรียกเก็บจากกำไรสุทธิของบริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ สำหรับกำไรสุทธิที่เกิดจากการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ซื้อหรือรับโอนมาจากสถาบันการเงิน ทั้งนี้โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังนี้ 1.3.1 บริษัทบริหารสินทรัพย์ต้องจ่ายเงินปันผลให้แก่สถาบันการเงินเท่ากับกำไรสุทธิที่ได้รับการยกเว้นภาษีดังกล่าว
1.3.2 ให้ถือว่า รายจ่ายของสถาบันการเงินส่วนที่เป็นผลขาดทุนจากการขายหรือโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์นั้น เป็นรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณกำไรสุทธิของสถาบันการเงินในจำนวนเก่ากับเงินปันผลที่ได้รับตาม 1.3.1
1.3.3 สถาบันการเงินต้องถือหุ้นโดยตรงในบริษัทบริหารสินทรัพย์มากกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง
ในกรณีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นผู้ถือหุ้นโดยตรงหรือโดยอ้อมในบริษัทบริหารสินทรัพย์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ดังกล่าว ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เรียกเก็บจากกำไรสุทธิ
1.4 ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์สามารถนำเงินสำรองที่ได้กันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารประเทศไทยประกาศกำหนด เฉพาะส่วนที่ตั้งเพิ่มขึ้นจากเงินสำรองประเภทดังกล่าวที่ปรากฏในงบดุลของรอบระยะเวลวบัญชีก่อน มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีนิติบุคคลได้
ในกรณีที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ได้นำเงินสำรองในส่วนที่ตั้งเพิ่มขึ้นดังกล่างข้างต้นมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไปแล้ว และต่อมาหากมีการตั้งเงินสำรองประเภทดังกล่าวลดลง ก็ให้นำเงินสำรองส่วนที่ตั้งลดลง ซึ่งได้ถือเป็นรายจ่ายไปแล้วนั้น มารวมคำนวณเป็นรายได้ต่อไปด้วย
1.5 ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์สามารถจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ในส่วนของหนี้ที่เป็นลูกหนี้จัดชั้นสูญและลูกหนี้จัดชั้นสงสัยจะสูญ ได้กันสำรองครบร้อยละ 100 ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดได้ ซึ่งจะมีผลให้สามารถนำมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ โดยจะต้องมีการออกกฏกระทรวงต่อไป
1.6 ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์สามารถเลือกใช้เกณฑ์เงินสดในการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ โดยกรมสรรพากรจะออกคำสั่งในเรื่องนี้ต่อไป
1.7 เพื่อประโยชน์การคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้ถือว่าอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินเรียกเก็บจากบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินนั้นไปบริหาร โดยอัตราดอกเบี้นดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดเป็นกรณีมีเหตุอันสมควรตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร โดยกรมสรรพากรจะออกคำสั่งในเรื่องนี้ต่อไป
1.8 ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์สามารถเลือกเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นจริงในรอบ 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี ตามมาตรา 67 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากรได้ โดยกรมสรรพากรที่ออกประกาศให้สิทธิดังกล่าวเป็นการทั่วไป โดยไม่ต้องขออนุมัติอธิบดีกรมสรรพากรเป็นรายๆไป
2. มาตรการในแก้ไขปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ด้านการเงิน
กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย จะดำเนินการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ด้านการเงินที่สำคัญดังนี้
2.1 ผ่อนผันเกณฑ์การจัดชั้นและการกันสำรอง โดยเปลี่ยนผู้รับภาระการจัดชั้นและการกันสำรองของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีสถาบันการเงินถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด จากเดิมกำหนดให้สถาบันการเงินเป็นผู้จัดชั้นและกันสำรองสำหรับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพส่วนที่ขายให้บริษัทบริหารสินทรัพย์มาเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ดังกล่าวเป็นผู้จัดชั้นและกันสำรองสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยได้เอง
2.2 อนุญาตให้สถาบันการเงินซื้อหรือถือหุ้นในบริษัทบริหารสินทรัพย์ จากเดิมอนุญาติให้สถาบันการเงินซื้อหรือถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 10 ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทบริหารสินทรัพย์ มาเป็นอนุญาตให้สถาบันการเงินซื้อหรือถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 10 ของหุ้นของบริษัทที่ได้รับอนุมัติวัตถุประสงค์ให้จัดตั้งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์จากธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วได้ทันที ทั้งนี้เพื่อลดขั้นตอนในการดำเนินการจัดตั้งบริษัทสินทรัพย์ลง
2.3 สถาบันการเงินจะได้รับการผ่อนผันให้สามารถให้สินเชื่อลงทุนและการก่อภาวะผูกพันธ์แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ได้เกินกว่าร้อยละ 25 ของเงินกองทุนชั้นที่ 1 โดยกระทรวงการคลังจะอนุญาตให้ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศผ่อนผันได้ในสัดส่วนไม่เกิน 1.5 เท่าของเงินกองทุนชั้นที่ 1 โดยไม่นับวงเงินดังกล่าวรวมอยู๋ในเพดานวงเงินของลูกหนี้ที่ผ่อนผันทุกราย รวมกันไม่เกิน 3.5 เท่าของเงินกองทุนชั้นที่ 1 และหากมีกรณีที่เกินสัดส่วนหรือวงเงินดังกล่าว กระทรวงการคลังก็จะพิจารณาผ่อนผันให้ตามความเหมาะสมเป็นกรณีไป
3. มาตรการด้านการกำกับดูแลบริษัทบริหารสินทรัพย์
นอกจากการกำกับดูแลโดยทั่วไปของทางการตากกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์แล้ว ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแลบริษัทบริหารสินทรัพย์ในลักษณะที่เข้มงวดเป็นพิเศษเพื่อให้การดำเนินงานของบริษัทบริหารสินทรัพย์เป็นไปอย่างโปร่งใส ไม่เอื้อประโยชน์ต่อลูกหนี้รายใดรายหนึ่งเป็นการเฉพาะ และไม่มีส่วนส่งเสริมหรือชักจูงให้เสียวินัยในการชำระหนี้ของระบบสถาบันการเงินดังนี้
3.1 ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยตรวจสอบการโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ให้เป็นไปตามราคาและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
3.2 ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัทบริหารสินทรัพย์ให้เป็นไปตามลักษณะที่เป็นการดำเนินธุรกิจในเชิงที่ก่อให้เกิดผลกำไรสูงสุด
3.3 ให้ธนาคารแห่งประเทศกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ตรวจสอบบัญชีของสถาบันการเงินเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีของบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่สถาบันการเงินนั้นเป็นเจ้าของด้วย
มาตรการภาษีอาการ มาตรการปรับปรุงกฎเกณฑ์ด้านการเงินและมาตรการกำกับดูแลบริษัทบริหารสินทรัพย์ดังกล่าวข้างต้น จะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมและเร่งรัดให้มีการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ มีการดำเนินการที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้และมีความเป็นธรรมต่อไป--จบ--