กรุงเทพฯ--27 ม.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในพิธีลงนาม ข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาระบบคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง และคนขอทานในชุมชน ระหว่างกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กับเทศบาลนคร และเมืองพัทยา นอกจากนี้ภายในงานยังมีนิทรรศการผลงานของเทศบาลนคร ด้านการพัฒนาสังคม รวมทั้งการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ของกลุ่มอาชีพของเทศบาล สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง และศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า การจัดทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือกับเทศบาลนคร เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานภายใต้พระราชบัญญัติการคุ้มครอง คนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. ๒๕๕๗ และการจัดระเบียบคนขอทานในระดับพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การขับเคลื่อนงานด้านคนไร้ที่พึ่ง และขอทาน เชิงบูรณาการให้เกิดผลในการปฏิบัติเป็นรูปธรรม ภายใต้กรอบของกฎหมาย โดยการดำเนินงานที่ส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกันตามบทบาทหน้าที่ อันเป็นภารกิจที่สำคัญของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) รวมทั้งองค์กรที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ได้กำหนดขั้นตอนในการดำเนินงานในการส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งและคนขอทานในชุมชน จำนวน ๓ ขั้นตอน ดังนี้ ๑) จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "แบ่งปันความรู้ นำไปสู่การพัฒนา เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาคนไร้ที่พึ่งและขอทาน ซึ่งได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๓–๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ๒) การยกร่างบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือและลงพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อสร้างความเข้าใจหาแนวทางในการดำเนินงานร่วมกัน กับเทศบาลนคร ๔ ภาค จำนวน ๙ แห่ง ซึ่งได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๙-๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๘ และ ๓) จัดสัมมนา เชิงปฏิบัติการพิจารณาร่างบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือการพัฒนาระบบคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งและขอทานในชุมชน ระหว่าง พส. กับเทศบาลนคร และเมืองพัทยา ซึ่งได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๘-๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาคนไร้ที่พึ่งและคนขอทานเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง จำเป็นที่หน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยงานในพื้นที่จะต้องร่วมมือกัน เชื่อมโยงบูรณาการทำงานอย่างเป็นระบบ ครบวงจร เพื่อเฝ้าระวังป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ระดับต้นทาง ระหว่างทาง และปลายทาง โดยเฉพาะปัจจุบันพบว่ามีปัญหาการค้ามนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในรูปแบบของการนำพาคน จากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเร่ร่อนขอทานที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ทั้งนี้ หลังจากการลงนามในบันทึกข้อตกลงเพื่อเป็นแนวทางในการทำงานร่วมกันเรียบร้อยแล้ว จะได้ผลการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ทั้งในเรื่องของข้อมูลสถานการณ์กลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ การจัดทำแผนปฏิบัติงานร่วมกัน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ปฏิบัติงาน เพื่อพัฒนาเทคนิค วิธีการในการทำงาน ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ที่ให้สามารถบรรลุผลตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้คนไทย อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี มีความเข้มแข็ง ร่วมมือร่วมใจกัน อันจะนำไปสู่การสร้างสังคมคุณภาพ ประชาชนอยู่อย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป