กรุงเทพฯ--27 ม.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยในเบื้องต้นเน้นให้เกษตรกรเข้าสู่มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ GAP ในขณะเดียวกัน สำหรับเกษตรกรที่มีความพร้อม กระทรวงเกษตรฯ จะส่งเสริมสนับสนุนให้เข้าสู่ระบบการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ หรือออร์แกนิก (Organic) เพื่อยกระดับผลผลิตให้มีคุณภาพและมีความปลอดภัยเป็นไปตามความต้องการของตลาด ซึ่งระบบเกษตรอินทรีย์เป็นระบบที่ไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี เน้นการพึ่งพาตนเองและลดการใช้ปัจจัยการผลิตจากภายนอก ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและส่งผลดีต่อสุขภาพของเกษตรกรผู้ผลิต รวมถึงผู้บริโภค ทั้งยังช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วย ปัจจุบันมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ประมาณ 150,000 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ ประมาณ 90,000 ไร่ พืชผัก 3,000 ไร่ ไม้ผล 5,000 ไร่ และอื่นๆ อีกกว่า 50,000 ไร่ อาทิ พืชไร่ พืชสมุนไพรและพืชอื่นๆ รวมทั้งประมงและปศุสัตว์อินทรีย์ ซึ่งปัจจุบันปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์มีประมาณ 50,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท
ปี 2559 นี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้มีแผนเร่งขับเคลื่อนพัฒนาเกษตรอินทรีย์ซึ่งเป็น 1 ใน 6 นโยบายสำคัญของกระทรวงให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยมุ่งใช้ระบบซิงเกิล คอมมานด์ (Single Command) เป็นกลไกสำคัญในการดำเนินงานพัฒนาเรื่องดังกล่าว มีเป้าหมายขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ทั้งประเทศเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10 % ต่อปี พร้อมนำร่องให้จังหวัดยโสธรเป็นต้นแบบเมืองเกษตรอินทรีย์ หรือยโสธรโมเดล (Model) ด้านเกษตรอินทรีย์ เพื่อเป็นต้นแบบเกษตรอินทรีย์ของประเทศ ซึ่งในปี 2560 คาดว่า จะสามารถส่งเสริมพัฒนาพื้นที่การเกษตรจังหวัดยโสธรให้เข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ 60,000 ไร่ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดในอนาคต การดำเนินการครอบคลุมสินค้าพืชอินทรีย์ ปศุสัตว์อินทรีย์ และสัตว์น้ำอินทรีย์ โดยมุ่งต่อยอดขยายผลและผลักดันเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดที่มีความพร้อม เพื่อให้เป็นฐานการพัฒนาภาคเกษตรของไทยสู่การผลิตที่ยั่งยืนในระยะยาว โดยในวันที่ 29 ม.ค.นี้กระทรวงเกษตรฯ กำหนดให้มีพิธีลงนามเอ็มโอยูโครงการพัฒนาการเกษตรอินทรีย์วิถียโสธร ระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กับ จังหวัดยโสธรด้วย
"การขับเคลื่อนงานด้านเกษตรอินทรีย์ของประเทศ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค Single command ในกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย รวมถึงประชาคมชาวบ้าน กลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นไปตามรูปแบบประชารัฐ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงตั้งแต่การผลิตถึงการตลาด โดยเน้นเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์เดิมเพื่อเป็นกลุ่มต้นแบบ และสร้างเครือข่ายการเรียนรู้โดยขยายผลจากกลุ่มเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จแล้วในพื้นที่ ในขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรฯ จะให้การสนับสนุนและพัฒนาเกษตรกรที่มีความต้องการและมีความพร้อมที่จะเข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ที่สำคัญต้องเน้นการทำเกษตรอินทรีย์แบบกลุ่มซึ่งจะสามารถดูแลด้านการผลิตและหาตลาดได้ง่ายกว่าการทำเกษตรอินทรีย์แบบรายเดี่ยว" รมว.เกษตรและสหกรณ์กล่าว
นอกจากนั้น กระทรวงเกษตรฯ ยังมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดร่วมบูรณาการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องด้านเกษตรอินทรีย์ให้กับเกษตรกรผู้ผลิต ทั้งด้านการผลิตตามมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์และการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ ขณะเดียวกันยังเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในเรื่องของสินค้าเกษตรอินทรีย์ของแท้ ต้องสังเกตสัญลักษณ์หรือตรารับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์ พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ตลาดและผู้บริโภคทราบถึงแหล่งผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ผ่านสื่อต่างๆ อาทิ การจัดทำหนังสือรวบรวมแหล่งผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพื่อความสะดวกในการค้นหาและเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและการตลาด อีกทั้งยังใช้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) กว่า 40 ศูนย์ ซึ่งมีความชำนาญและมีองค์ความรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และช่วยพัฒนาองค์ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ที่ถูกต้อง และขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น
"นอกจากจะพัฒนาการผลิตเกษตรอินทรีย์ให้ได้การรับรองมาตรฐานแล้ว ยังสร้างเครือข่ายการตลาดเพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลผลิตให้กับเกษตรกรด้วย เพื่อให้เกษตรกรมีความมั่นคงทางรายได้" พลเอกฉัตรชัย กล่าว
สำหรับสินค้าอินทรีย์ที่ไทยมีศักยภาพการผลิตและส่งออกสูง คือ ข้าวอินทรีย์และผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิอินทรีย์ นอกจากนี้ ยังมีการส่งออกผักและผลไม้อินทรีย์ เช่น กล้วยหอม สับปะรด มะม่วง เงาะ มังคุด ทุเรียน ผักสลัด แครอท กระเจี๊ยบเขียว รวมทั้งชาและกาแฟอินทรีย์ ตลาดส่งออกสำคัญปัจจุบัน คือ สหภาพยุโรป (EU) สหรัฐอเมริกา ส่วนตลาดที่มีศักยภาพดีในอนาคต เช่น ญี่ปุ่น จีน และประเทศในอาเซียน เป็นต้น