กรุงเทพฯ--27 ม.ค.--EXIM BANK
นายเขมทัศน์ สายเชื้อ รักษาการกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า EXIM BANK พร้อมทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันให้ภาคการส่งออกของไทยขยายตัวได้ตามเป้าหมาย 5% ที่รัฐบาลตั้งไว้ ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือทางการเงินให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเริ่มต้นและขยายธุรกิจส่งออกได้ เริ่มจากการส่งเสริมการค้าชายแดนซึ่งนับวันยิ่งทวีความสำคัญต่อการส่งออกและเศรษฐกิจของประเทศ เห็นได้จากการค้าชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 มีมูลค่าถึง 8.3 แสนล้านบาท เฉพาะการส่งออกผ่านด่านชายแดนมีมูลค่าถึง 4.8 แสนล้านบาทหรือ 8% ของมูลค่าส่งออกรวมของไทย เมื่อการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) เกิดขึ้นแล้ววันนี้ การส่งออกผ่านชายแดนจะสะดวกราบรื่นและมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของไทยได้รับการขับเคลื่อน เอื้อต่อการส่งออกและลงทุนของผู้ประกอบการไทยจากพื้นที่ชายแดนของไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ดังจะเห็นได้จากรายได้เฉลี่ยของชาวกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมาในปัจจุบันโตกว่า 20% จาก 5 ปีก่อน และคาดว่าจะขยายตัวในอัตราเฉลี่ย 7-8% ต่อปีไปอีกไม่ต่ำกว่า 5 ปี และขยายต่อไปยังตลาดอาเซียนโดยรวมได้
รักษาการกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม รูปแบบการบริโภคสินค้าและบริการของประชากรในประเทศเพื่อนบ้านเริ่มเปลี่ยนไป จากเดิมไทยส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีราคาไม่สูงเป็นหลัก แต่ในอนาคตความต้องการสินค้าคุณภาพสูงหรือสินค้าฟุ่มเฟือยจะเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งความต้องการวัตถุดิบและ สินค้าทุน เช่น วัสดุก่อสร้าง วัตถุดิบสิ่งทอต้นน้ำ และเครื่องจักรกลจากไทยจะเพิ่มขึ้น หลังจากมีการขยายการลงทุนไปประเทศเพื่อนบ้านอย่างคึกคักเพื่อใช้เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมป้อนตลาดอาเซียน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงต้องปรับปรุงคุณภาพสินค้าและบริการของไทยให้แข่งขันได้ในระยะยาว
นายเขมทัศน์ กล่าวว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการค้าในตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ และยุโรป ผู้ประกอบการไทยอาจใช้โอกาสนี้หันมาพัฒนาสินค้าและบริการของไทย โดยปรับปรุงเครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิต รวมถึงวิจัยพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างแบรนด์และจุดยืนให้สินค้าและบริการของไทยมีมูลค่าเพิ่มและแตกต่างจากผู้ผลิตรายอื่นในตลาด ขณะเดียวกันก็เริ่มบุกตลาดการค้าการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีและอื่นๆ ภายใต้ AEC โดย EXIM BANK มีเครื่องมือทางการเงิน ทั้งด้านสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ ประกันการส่งออกซึ่งช่วยคุ้มครองความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าและบริการจากผู้ซื้อในต่างประเทศ และประกันความเสี่ยงการลงทุน คุ้มครองความเสี่ยงทางการเมืองจากการที่โครงการลงทุนของไทยได้รับความเสียหายในการดำเนินนโยบาย กฎระเบียบ หรือการดำเนินการใดๆ ของรัฐบาลประเทศเป้าหมายการลงทุน
"EXIM BANK มีเงินทุนควบคู่กับความคุ้มครองการไม่ได้รับชำระเงิน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้ในทุกตลาด แม้จะอยู่ในช่วงเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจส่งออก พัฒนานวัตกรรม ปรับปรุงการผลิต รวมทั้งเข้าไปลงทุนในพื้นที่ชายแดนของไทยและประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างมั่นใจทั้งในปัจจุบันและระยะยาว" นายเขมทัศน์ กล่าว