กรุงเทพฯ--27 ม.ค.--สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น
หนังสือเล่มนี้รวบรวมข้อสังเกตและความคิดเห็นอันเปิดกว้างและลุ่มลึกของผู้เขียนเกี่ยวกับอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของภาษาเกาหลี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในฐานะนักเสรีนิยมคนหนึ่ง ผู้เขียนได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นถกเถียงต่าง ๆ ไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง โดยมองว่าประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมแห่งมนุษยชาติเป็นประวัติศาสตร์แห่ง "การติดเชื้อ" ด้วยเหตุนี้ ภาษาที่สืบทอดวัฒนธรรมเหล่านั้นจึงมีประวัติศาสตร์แห่ง "การติดเชื้อ" เช่นเดียวกัน ซึ่งหมายความว่า ภาษาทุกภาษาเป็นลูกผสม ไม่อาจมีภาษาใดคงความบริสุทธิ์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
โดยบรรยากาศในงานเป็นไปด้วยความชื่นมื่น ภายใต้ชื่องาน "สังสันทน์ทางปัญญา ประสาคนกันเอง" จัดโดย สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ร่วมกับศูนย์หนังสือจุฬาฯ สาขาจามจุรีสแควร์ ในวันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2559 เวลา 13.30 – 16.00 น. ณ ลานกิจกรรม ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 4 จามจุรีสแควร์ โดยหลังจากแขกผู้มีเกียรติและสื่อมวลชน ลงทะเบียน จิบชากาแฟตามอัธยาศัย โดยมีนายอาทร เตชะธาดา กรรมการผู้จัดการบริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น จากนั้นพิธีกรได้กล่าวเปิดงานและมีการดำเนินการเสวนาโดย รศ.ดร. ตรีศิลป์ บุญขจร นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย, อดีตหัวหน้าภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมพูดคุยซักถามกับผู้แปล ผศ.ดร.ปาร์ค คยองอึน (Kyung Eun Park) หรือ คุณเจี๊ยบ ว่าที่หัวหน้าภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยฮันกุก ภาษาและกิจการต่างประเทศ (Hankuk University of Foreign Studies) ในประเด็นข้อสงสัยต่างๆในหนังสือ รวมถึงความรู้สึกในการแปลหนังสือเล่มนี้ และได้รับเกียรติจาก อาจารย์เพ็ญศรี เคียงศิริ เจ้าของนามปากกา "นราวดี", อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย, นักแปลดีเด่นเจ้าของรางวัลสุรินทราชา ปี 2551, อาจาร์ยพิเศษสอนวิชาการแปลและการประพันธ์ที่สถาบันภาษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหง และเป็นที่ปรึกษาของคณะอนุกรรมาธิการสังคมด้านเด็กและเยาวชนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มาร่วมให้ความรู้ในเรื่องหลักการแปลภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่ง ซึ่งเนื้อหาและเทคนิคต่างๆที่อาจารย์ได้นำมามอบให้ในครั้งนี้ เรียกได้ว่า หากใครที่พลาดการเสวนาในครั้งนี้ไป ถือว่าน่าเสียดายมากทีเดียว!
จากการฟังการเสวนาในครั้งนี้ จึงได้ทราบว่าหนังสือเล่มนี้ เหมาะกับคนที่เรียนภาษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะอัดแน่นไปด้วยเนื้อหาสาระทางภาษาศาสตร์ ไม่ใช่แค่เพียงความรู้ทางภาษาเกาหลีเท่านั้น แต่ยังประกอบไปด้วยบทความทางภาษาศาสตร์ของภาษาต่างๆในโลกรวมอยู่ในเล่มด้วย ซึ่งแม้จะเป็นหนังสือทางวิชาการ แต่ก็คงอรรถรสในการอ่าน ไปกับสำนวนภาษาที่สวยงามและเฉียบคมของผู้เขียนและสำนวนการแปลที่สละสลวยจากผู้แปล ทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณค่าเหมาะแก่การเป็นเจ้าของอย่างยิ่ง.