ศงป.แถลงผลงานครบ 1 ปี สำเร็จตามเป้า วางหมากรุกท้องที่เข้าหาประชาชน

ข่าวทั่วไป Wednesday October 25, 2000 14:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ต.ค.--ศงป.
ศงป.แถลงผลการดำเนินงานครบ 1 ปี ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย จำนวนผู้ใช้บริการ 21,464 ราย วงเงินให้คำปรึกษารวม 76,682 ล้านบาท ปี 2544 วางแนวนโยบายประชาสัมพันธ์ เชิงรุก และร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้น เน้นจัดสัมมนาฟรีให้ความรู้ประชาชน ทั่วประเทศ และเจาะกลุ่ม อบต.ท้องถิ่น
นายอานันท ไม้พุ่ม กรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์ให้คำปรึกษาทางการเงินสำหรับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และประชาชน (ศงป.) แถลงผลการดำเนินงานครบ 1 ปีว่า มีผู้มาใช้บริการขอคำปรึกษา ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2542 ถึง วันที่ 30 กันยายน 2543 รวม 21,464 ราย วงเงินให้คำปรึกษา รวม 76,682 ล้านบาท แยกเป็นบุคคลธรรมดาร้อยละ 55 คิดเป็นวงเงินรวม 10,818 ล้านบาท และธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม ร้อยละ 45 คิดเป็นวงเงินรวม 65,858 ล้านบาท โดยปัญหาที่ขอปรึกษามากที่สุดยังคงเป็นปัญหาเรื่องหาแหล่งเงินทุน ร้อยละ 41 คิดเป็นวงเงินประมาณ 18,350 ล้านบาท รองลงมาได้แก่ปัญหาเรื่องหนี้ NPL ร้อยละ 27 วงเงินประมาณ 55,515 ล้านบาท ส่วนประเภทกิจการของผู้ใช้บริการ 3 อันดับแรกที่มาขอคำปรึกษาได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง ร้อยละ 33 วงเงินรวม 13,170 ล้านบาท อันดับสอง คือ ภาคการผลิต ร้อยละ 25 วงเงินรวม 19,521 ล้านบาท และอันดับสาม ภาคการบริการ ร้อยละ 18 วงเงินรวม 10,300 ล้านบาท
กรรมการผู้อำนวยการ ศงป. กล่าวต่อว่า ผลการดำเนินงานในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาถือว่าประสบผลความสำเร็จตามที่วางไว้ เนื่องจากบางศูนย์เพิ่งทยอยก่อตั้งเมื่อต้นปี 2543 ส่วนเป้าหมายในปี 2544 คาดว่าจะให้คำปรึกษาได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 2,500 ราย (25 ศูนย์) รวมทั้งปี 2544 คาดว่าไม่ต่ำกว่า 30,000 ราย สำหรับแนวนโยบายในการบริหาร ศงป. ได้วางแนวไว้ 5 ประการ คือ ประการแรก ยังคงเน้นเรื่องการประชาสัมพันธ์ให้ SMEs และประชาชนรู้จักบทบาทหน้าที่ของ ศงป. ให้มากขึ้น โดยเน้นเรื่องการรักษาความลับ การไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่ง ศงป.จะเป็นที่พึ่งพึงได้และการเข้ามาติดต่อ ศงป.ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ประการที่สอง วางแนวทางความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ สภาอุตสาหกรรมและหอการค้าไทย ตลอดจนสถาบันการเงินทั้งรัฐและเอกชน จะสานต่อและดำเนินการให้เป็นรูปธรรม มากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดความคล่องตัวกับ SMEs และประชาชนที่มาใช้บริการกับ ศงป. ประการที่สาม ร่วมเปิดบูธให้คำปรึกษาในงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ SMEs และประชาชน เพื่อขยายการบริการให้เข้าถึงกลุ่มมากขึ้น ประการที่สี่ ใช้นโยบายเชิงรุก โดยจะให้ศูนย์ศงป.ในต่างจังหวัดเข้าไปให้คำปรึกษาแนะนำแก่ SMEs และประชาชนในท้องถิ่นให้มากขึ้น โดยการเข้าไปร่วมประชุมกับกลุ่ม อบจ. อบต. และกลุ่มชาวบ้าน ซึ่งที่ผ่านมาประสบความสำเร็จพอสมควร และทำให้รับทราบปัญหาที่แท้จริงของประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ และ ประการสุดท้าย วางแผนการจัดสัมมนาให้ความรู้แก่ SMEs และประชาชนให้ครบทุกภาค โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น เพื่อที่จะได้ทราบถึงปัญหาต่างๆ ตลอดจนสอนและแนะนำให้รู้และเข้าใจในเรื่องการเขียนแผนธุรกิจ และการทำงบกระแสเงินสด ซึ่งเป็นจุดด้อยของ SMEs และประชาชนในประเทศของเรา
นายอานันท สรุปในตอนท้ายว่า ศงป. ยังคงความตั้งใจและยึดแนวนโยบายที่มุ่งช่วยเหลือประชาชนและ SMEs ให้ผ่อนคลายปัญหาหรือมีแนวทางในการดำเนินธุรกิจที่มีทิศทางและระเบียบแบบแผนมากขึ้น และ ศงป.ทั้ง 25 ศูนย์ทั่วประเทศยังคงตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ต่อไป--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ