กรุงเทพฯ--27 ม.ค.--ศูนย์บริการวิชาการ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.จักรกฤษณ์ ดวงพัสตรา คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ปี 2557 พบว่า ในภาพรวม ประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีการใช้ผลิตภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับของไทยมากที่สุด ได้แก่บรูไน (นำเข้ามูลค่าเฉลี่ย 503.05 บาท/คน) นอกจากนี้หากพิจารณาเป็นรายผลิตภัณฑ์ พบว่า (ก) เพชร ตลาดที่มีมูลค่าเฉลี่ยต่อหัวของประชากรในการซื้อเพชรจากไทยมาก ได้แก่ สิงคโปร์ (ข) พลอยเจียระไน ตลาดที่มีมูลค่าเฉลี่ยต่อหัวของประชากรในการซื้อพลอยเจียระไนจากไทยมาก ได้แก่ สิงคโปร์ (ค) เครื่องประดับทอง ตลาดที่มีมูลค่าเฉลี่ยต่อหัวของประชากรในการซื้อเครื่องประดับทองจากไทยมาก ได้แก่ บรูไน และ (ง) เครื่องประดับเงิน ตลาดที่มีมูลค่าเฉลี่ยต่อหัวของประชากรในการซื้อเครื่องประดับเงินจากไทยมาก ได้แก่ สิงคโปร์
ทั้งนี้ การรวมตัวเป็น AECก่อให้เกิดความท้าทายต่างๆ ต่อธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ได้แก่
1) การลด/ยกเลิกภาษีอากรนำเข้าและภาษีส่งออกของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ทำให้เกิดผลกระทบทางบวกและลบต่อสินค้าแต่ละประเภทของไทย ซึ่งการลดภาษีนำเข้าสินค้าของไทยภายใต้ AEC เป็นการถาวรจะช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์การนำเข้าวัตถุดิบจากอาเซียนมาใช้เป็นปัจจัยการผลิตได้โดยลดภาระต้นทุนด้านภาษีลง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยควรเร่งพัฒนารูปแบบสินค้าและบริหารต้นทุนการผลิตให้มีความเหมาะสมในการส่งออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพใน AEC เนื่องจากประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งคู่เจรจาของอาเซียน เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย มีพันธกรณีการเปิดตลาดให้ไทยตามกรอบระยะเวลาการลด/ยกเลิกภาษีที่กำหนดไว้ในตารางข้อผูกพันการเปิดตลาดสินค้า
2) การลดอุปสรรคที่มิใช่ภาษี เช่น การลดข้อจำกัดใบอนุญาตนำเข้าและใบอนุญาตส่งออก ข้อกำหนดการโอนเงินและการชำระเงินระหว่างประเทศ การเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด ระเบียบพิธีการศุลกากร การใช้ระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน การจัดตั้งระบบบริการแบบเบ็ดเสร็จ การเปิดด่านการค้าใหม่ การใช้ระบบประเมินราคาศุลกากรที่เป็นสากล และการพิจารณาปรับลดข้อจำกัดการกำหนดมูลค่าขั้นต่ำของสินค้าที่จะต้องทำพิธีการศุลกากรจะทำให้การเคลื่อนย้ายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับภายในภูมิภาคเป็นไปโดยสะดวกยิ่งขึ้น
3) การปรับมาตรฐานสินค้าและมาตรฐานวิชาชีพให้เป็นรูปแบบเดียวกัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการจัดทำมาตรฐานพลอย ทองคำ เงิน และมาตรฐานวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับอัญมณีและเครื่องประดับ เช่น ผู้ประกอบวิชาชีพนักอัญมณีศาสตร์ เป็นต้น ตลอดจนผู้ผลิตต้องปรับมาตรฐานคุณสมบัติของสินค้าให้สอดคล้องกับรสนิยมของผู้บริโภค อาทิ การทำเครื่องประดับทองคำในประเทศไทยจะนิยมทองคำที่มีมาตรฐานความบริสุทธิ์ที่ 96.5% หรือ 23.16 กะรัตซึ่งจะได้สีทองที่เหลืองเข้มและมีความแข็งของเนื้อทองพอเหมาะสำหรับนำมาทำเครื่องประดับ ขณะเดียวกันในตลาดอื่นในอาเซียนจะเน้นการใช้ทองคำที่มีความบริสุทธิ์แตกต่างกันไป ทำให้ผู้ผลิตต้องเรียนรู้การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องประดับแท้และเทียม
4) การส่งเสริมกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าและการจัดทำระเบียบพิธีการทางปฏิบัติภายใต้กฎแหล่งกำเนิดสินค้า เช่น การยอมรับการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตัวผู้ส่งออกเอง (Self Certification) การยอมรับระบบ Back to Back Certificate of Origin เพื่อส่งเสริมให้นำวัตถุดิบภายในอาเซียนมาประกอบรวมกันเพื่อส่งออกไปยังประเทศคู่เจรจาของอาเซียน (เช่น การที่สิงคโปร์นำเข้าเครื่องประดับเงินจากประเทศไทยแล้วส่งต่อไปจำหน่ายยังบรูไนอีกทอดหนึ่งภายใต้สิทธิประโยชน์ ASEAN Trade in Goods Agreement (ATIGA) หรือการที่ไทยนำเข้าหยกจากเมียนมาร์มาประกอบเป็นตัวเรือนในไทยแล้วส่งออกไปยังจีนโดยใช้สิทธิประโยชน์ ACFTA โดยให้คนในอาเซียนเป็นผู้จำหน่าย) การยอมรับระบบ Third Party Invoicing เพื่อส่งเสริมการใช้วัตถุดิบภายในอาเซียนโดยผ่านตัวแทนนายหน้าจากต่างประเทศในการทำการค้า (เช่น การที่ไทยนำเข้าหยกจากเมียนมาร์มาประกอบเป็นตัวเรือนที่ไทยแล้วส่งออกไปยังจีน โดยใช้คนนอกอาเซียนเป็นผู้จำหน่าย เช่น ฮ่องกง และดูไบ เป็นต้น) การส่งเสริมการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้า ตลอดจนการพยายามปรับกฎถิ่นกำเนิดสินค้าที่แตกต่างกันภายใต้ความตกลงการค้าเสรีฉบับต่างๆ ที่อาเซียนทำกับประเทศต่างๆ ให้เป็นแบบอย่างเดียวกัน ซึ่งผลที่เกิดขึ้นทำให้ระบบโครงข่าย Supply Chain ของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในภูมิภาคเปลี่ยนแปลงไป
5) การเปิดตลาดการลงทุน การบริการ และการทำงาน โดยการลงทุนอาเซียนเปิดตลาดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนถือหุ้นข้างมากในกิจการได้และให้การคุ้มครองการลงทุนและผู้ลงทุนต่างชาติ โดยในกรณีของไทย ต่างชาติสามารถเข้ามาถือหุ้นข้างมากในกิจการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับได้ ตลอดจนสามารถนำผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหาร และผู้จัดการต่างชาติเข้ามาทำงานได้ภายใต้กฎระเบียบของกฎหมายไทย ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยก็สามารถก้าวไปลงทุนทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับในตลาดอาเซียนได้ โดยประเทศที่ผู้ประกอบการไทยให้ความสนใจมากในการไปลงทุนมักเป็นประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม และกัมพูชา
6) การเรียนรู้ของภาครัฐไทยในการปรับกฎกติกาของไทยให้สอดคล้องกับระบบของอาเซียนเพื่อขจัดความเสียเปรียบของอุตสาหกรรมของไทย เช่น (1) การพิจารณาปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 30 เหลือ 20 เพื่อให้ทัดเทียมกับอาเซียน (2) การปรับลดภาษีสรรพสามิตที่เรียกเก็บจากคริสตัลและอัญมณีบางประเภท ตลอดจน (3) การยกเลิกวีซ่าและการพิจารณาอำนวยความสะดวกแก่นักธุรกิจที่เข้ามาติดต่อการค้าในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศโดยไม่ต้องขอวีซ่าและใบอนุญาตทำงานโดยการออก ASEAN Travel Card for Business Persons เป็นต้น
7) การปรับเทคนิคการตลาดเพื่อเพิ่มโอกาสการส่งออกในอาเซียน ได้แก่ การทำความเข้าใจกับลักษณะโครงสร้างตลาด และพฤติกรรมการค้าและการบริโภค และการจัดการกลยุทธ์การตลาดการส่งออก
ผลการศึกษาช่องทางการจัดจำหน่ายและพฤติกรรมผู้บริโภค
บรูไน
บรูไนเป็นประเทศขนาดเล็กที่มีศักยภาพสูงในอาเซียน บรูไนมีประชากรรวม 4.09 แสนคน ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยทำงานอายุตั้งแต่ 25-54 ปี อายุเฉลี่ยของประชากรไม่มากโดยมีอายุเฉลี่ยรวม 28.7 ปี ทำให้สังคมของบรูไนเป็นสังคมของคนวัยหนุ่มสาวและคนวัยทำงาน ประชากรมีอัตราการรู้หนังสือมาก มีการศึกษาดี มีอัตราการเพิ่มของประชากรเฉลี่ยร้อยละ 1.7 โดยมีสัดส่วนของประชากรเพศชายและเพศหญิงอยู่ใกล้เคียงกัน การใช้ชีวิตของประชากรส่วนใหญ่อยู่ในสังคมเมือง โดยประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองหลวง ได้แก่ กรุงบันดาเสรีเบกาวัน และประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมถึง 2 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นคนจีน คนเชื้อสายอินเดีย คนพื้นเมืองที่มาจากรัฐซาราวัคของมาเลเซีย
จากการศึกษา พบว่า ขนาดตลาดอัญมณีและเครื่องประดับมีมูลค่า 2.48 พันล้านบาท (99 ล้านบรูไนดอลล่าร์) อัตราการใช้จ่ายการซื้ออัญมณีและเครื่องประดับ 6,120 บาท/คน/ปี หรือ 248 บรูไนดอลล่าร์/คน/ปี สินค้าที่ได้รับความนิยม ได้แก่ (1) ทองรูปพรรณ (2) เครื่องประดับทอง (ทอง 18 – 22 กะรัตประดับด้วยเพชร) และ (3) เครื่องประดับเงิน (ประดับพลอยสีเจียระไน) โดยเน้นเครื่องประดับที่ขนาดใหญ่กว่าที่คนไทยชอบสวมใส่ เน้นลวดลายรูปดอกไม้ สินค้าที่นิยม ได้แก่ กำไลข้อมือ แหวน และสร้อยคอ (ขนาดของเครื่องประดับที่บรูไนนิยมจะออกแบบขนาดใหญ่และหนากว่าไทย แต่มีน้ำหนักเบา ส่วนสินค้าประเภทต่างหูไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากผู้หญิงบรูไนจะสวมใส่ผ้าโพกศีรษะ) เทศกาลที่มีการซื้อขายมาก ได้แก่ เดือนถือศีลอดของมุสลิม (รอมฎอน) ฮารีรายอ (ประมาณเดือนกันยายน) ตรุษจีน คริสต์มาส และงานแต่งงาน ซึ่งพบว่าเทศกาลที่ซื้อขายจะอยู่ในช่วง 6 เดือนหลังของปี โดยจับกลุ่มคนบรูไนเชื้อสายบรูไนและคนบรูไนเชื้อสายจีน โดยการซื้อขายแต่ละครั้งมีมูลค่าครั้งละไม่มาก เนื่องจากคนบรูไนจะมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย
กัมพูชา
กัมพูชามีประชากรรวม 14.9 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยทำงานอายุตั้งแต่ 25-54 ปี อายุเฉลี่ยประชากร 23.3 ปี ทำให้สังคมของกัมพูชาในปัจจุบันเป็นสังคมของคนรุ่นใหม่และคนวัยทำงาน อย่างไรก็ตาม ประชากรกัมพูชามีอัตราการรู้หนังสือไม่มากนัก
จากการศึกษา พบว่า ขนาดตลาดอัญมณีและเครื่องประดับมีมูลค่า 26.15 พันล้านบาท อัตราการใช้จ่ายซื้ออัญมณีและเครื่องประดับ 1,749 บาท/คน/ปี ในภาพรวม กัมพูชายังไม่ใช่ตลาดที่บริโภคเครื่องประดับมากนัก เนื่องจากมีรายได้ต่อหัวน้อย อย่างไรก็ตาม โอกาสในการจำหน่ายเครื่องประดับในกัมพูชาเกิดจากการที่กัมพูชาเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวมาก เช่น ยุโรปตะวันตก ยุโรปเหนือ เกาหลี และจีน โดยเฉพาะในหัวเมืองที่สำคัญ ได้แก่ กรุงพนมเปญ และเมืองเสียมเรียบ (นครวัด) หากพิจารณาด้านพฤติกรรมการบริโภคของตลาดกัมพูชา เทศกาลที่มีการซื้อขายเครื่องประดับมากจะอ้างอิงตามโอกาสสำคัญต่างๆ ได้แก่ ของขวัญวันแต่งงาน ของขวัญวันครบรอบ และของขวัญสำหรับคนพิเศษ
อินโดนีเซีย
อินโดนีเซียมีประชากรรวม 248.6 ล้านคน ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยทำงานอายุตั้งแต่ 25-54 ปี อายุเฉลี่ยของประชากรไม่มากโดยมีอายุเฉลี่ยรวม 28.5 ปี ทำให้สังคมของอินโดนีเซียเป็นสังคมของคนวัยหนุ่มสาวและคนวัยทำงาน ประชากรมีอัตราการรู้หนังสือมาก ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองสำคัญ ได้แก่ กรุงจาการ์ตา เมืองสุราบายา เมืองบันดุง เมืองเมดาน และเมืองเซมารัง ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมร้อยละ 86
จากการศึกษา พบว่า ขนาดตลาดอัญมณีและเครื่องประดับมีมูลค่า 1,360.9 พันล้านบาท อัตราการซื้ออัญมณีและเครื่องประดับ 5,473 บาท/คน/ปี สินค้าที่ได้รัความนิยม ได้แก่ (1) ทองรูปพรรณ (2) เครื่องประดับทอง (ทอง 18 – 22กะรัตประดับด้วยเพชรและคริสตัล) (3) เครื่องประดับเงิน (ประดับพลอยสีเจียระไน) โดยเน้นเครื่องประดับลวดลายรูปดอกไม้ดวงดาว และรูปทรงเรขาคณิต สินค้าที่นิยมมาก ได้แก่ กำไลข้อมือ (ขนาดน้ำหนักตั้งแต่ 18 กะรัต) แหวน สร้อยคอ และที่กลัดเสื้อ (ขนาดเครื่องประดับที่อินโดนีเซียนิยมจะออกแบบขนาดใหญ่และหนากว่าของไทย แต่มีน้ำหนักเบา ตลาดของผู้ซื้อในอินโดนีเซียมีค่านิยมการซื้อทองและเครื่องประดับทองเพื่อเป็นการลงทุนและการเก็งกำไร โดยลูกค้าหลัก คือ ผู้หญิง หากพิจารณาด้านพฤติกรรมการบริโภคของตลาดอินโดนีเซีย เทศกาลที่มีการซื้อขายมาก ได้แก่ เดือนถือศีลอดของมุสลิม (รอมฎอน) ฮารีรายอ (ประมาณเดือนกันยายน) ตรุษจีน คริสต์มาส และงานแต่งงาน
ลาว
ลาวมีประชากรรวม 6.5 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยทำงานอายุตั้งแต่ 25-54 ปี อายุเฉลี่ยของประชากร 21.4 ปี ทำให้สังคมของลาวเป็นสังคมของเด็ก คนวัยหนุ่มสาว และคนวัยทำงาน ประชากรมีอัตราการรู้หนังสือไม่มาก การใช้ชีวิตของประชากรส่วนใหญ่อยู่ในสังคมชนบท เมืองที่มีประชากรอยู่อาศัยมาก ได้แก่ กรุงเวียงจันทน์ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวลาวและชาวเขา และนับถือศาสนาพุทธ
จากการศึกษา พบว่า ขนาดตลาดอัญมณีและเครื่องประดับมีมูลค่า 5.76 พันล้านบาท อัตราการใช้จ่ายการซื้ออัญมณีและเครื่องประดับ 874 บาท/คน/ปี ในภาพรวม ลาวยังไม่ใช่ตลาดที่มีการบริโภคเครื่องประดับมากนัก เนื่องจากคนลาวมีรายได้ต่อหัวน้อยและให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารการกินและการออมเงินเพื่อใช้จ่ายเป็นค่าที่พักและการเดินทางมากกว่าเรื่องการใช้จ่ายเงินเพื่อการแต่งตัว อย่างไรก็ตาม โอกาสการจำหน่ายเครื่องประดับในลาวเกิดจากการที่ลาวเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวมาก เช่น ยุโรปตะวันตก ยุโรปเหนือ และจีน โดยเฉพาะในหัวเมืองที่สำคัญ ได้แก่ กรุงเวียงจันทน์ และเมืองหลวงพระบาง ทำให้มีโอกาสในการจำหน่ายเครื่องประดับ ได้แก่ เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงินที่มีราคาไม่สูงมาก หากพิจารณาด้านพฤติกรรมการบริโภคของตลาดลาว เทศกาลที่มีการซื้อขายมาก ได้แก่ ของขวัญวันแต่งงาน ของขวัญวันเกิด โดยคนลาวจะซื้อเครื่องประดับไม่บ่อย เนื่องจากเป็นของฟุ่มเฟือยและยังมีระดับรายได้ไม่สูงมากนัก และคนส่วนใหญ่นิยมซื้อทองรูปพรรณ เช่น สร้อยคอทองคำ แหวนทองคำ เป็นต้น มากกว่าซื้อเครื่องประดับ โดยหากซื้อเครื่องประดับก็จะเน้นราคาย่อมเยา ลวดลายสวยงาม และมีขนาดไม่ใหญ่มาก และหากเป็นเครื่องประดับจะชอบเครื่องประดับเงินมากกว่าเครื่องประดับทอง เช่น แหวนเงินสำหรับผู้ชาย แหวนเงินประดับเพชรขนาดเล็กสำหรับผู้หญิง เนื่องจากราคาถูกกว่าเครื่องประดับทอง
มาเลเซีย
มาเลเซียมีประชากรรวม 29.2 ล้านคน ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยทำงานอายุตั้งแต่ 25-54 ปี อายุเฉลี่ยของประชากร 27.1 ปี ทำให้สังคมของมาเลเซียเป็นสังคมของคนวัยหนุ่มสาวและคนวัยทำงาน ประชากรมีอัตราการรู้หนังสือมาก มีการศึกษาดี การใช้ชีวิตของประชากรส่วนใหญ่อยู่ในสังคมเมือง โดยประชากรส่วนใหญ่อยู่ในเมืองหลวง ได้แก่ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองแคลง และยะโฮบาร์รู และประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมร้อยละ 60 ของประชากรทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ ผู้นับถือศาสนาพุทธ และฮินดู
จากการศึกษา พบว่า ขนาดตลาดอัญมณีและเครื่องประดับมีมูลค่า 376.3 พันล้านบาท อัตราใช้จ่ายการซื้ออัญมณีและเครื่องประดับ 12,897 บาท/คน/ปี สินค้าที่ได้รับความนิยม ได้แก่ (1) ทองรูปพรรณ (2) เครื่องประดับทอง และ (3) เครื่องประดับเงิน (ประดับพลอยสีเจียระไน) เน้นลวดลายรูปดอกไม้ และเรขาคณิต สินค้าที่นิยมมาก ได้แก่ กำไลข้อมือ สร้อยข้อมือ แหวน สร้อยคอ ต่างหู โดยเฉพาะเครื่องประดับทองจะเป็นที่นิยมมากกว่าเครื่องประดับเงิน เทศกาลที่มีการซื้อขายมาก ได้แก่ เทศกาลที่มีการซื้อขายมาก ได้แก่ เดือนถือศีลอดของมุสลิม (รอมฎอน) ฮารีรายอ ตรุษจีน คริสต์มาส และงานแต่งงาน ซึ่งพบว่าเทศกาลที่ซื้อขายจะอยู่ในช่วง 6 เดือนหลังของปี โดยจับกลุ่มคนมาเลเซียเชื้อสายมาเลย์ และคนมาเลเซียเชื้อสายจีน
เมียนมาร์
ประเทศเมียนมาร์มีประชากรรวม 54.6 ล้านคน ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยทำงานอายุตั้งแต่ 25-54 ปี อายุเฉลี่ยของประชากรเฉลี่ย 27.2 ปี ทำให้สังคมของเมียนมาร์เป็นสังคมของคนวัยทำงาน ประชากรมีอัตราการรู้หนังสือมาก มีสัดส่วนของประชากรเพศชายน้อยกว่าเพศหญิงเล็กน้อย การใช้ชีวิตของประชากรส่วนใหญ่อยู่ในสังคมชนบท เมืองสำคัญที่มีประชากรอาศัยอยู่มาก ได้แก่ เมืองร่างกุ้ง กรุงเนปิดอว์ และเมืองมัณฑะเลย์
จากการศึกษา พบว่า ขนาดตลาดอัญมณีและเครื่องประดับมีมูลค่า 3.3 พันล้านบาท อัตราใช้จ่ายการซื้ออัญมณีและเครื่องประดับ 60.8 บาท/คน/ปี เครื่องประดับที่นิยม ได้แก่ เครื่องประดับทอง ในภาพรวม เมียนมาร์ยังไม่ใช่ตลาดที่มีการบริโภคเครื่องประดับมากนัก เนื่องจากเป็นคนเมียนมาร์มีรายได้ต่อหัวน้อยและให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารการกินและออมเงินเพื่อใช้จ่ายเป็นค่าที่พักและการเดินทางมากกว่าเรื่องการใช้จ่ายเงินเพื่อแต่งกาย อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ทองรูปพรรณ และเครื่องประดับทอง เนื่องจากมีค่านิยมการเก็บทองและเครื่องประดับไว้เพื่อลงทุน ตลอดจนเมียนมาร์เริ่มพัฒนาการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับเพื่อการส่งออกมากขึ้น และมีทรัพยากรแร่อัญมณีและหยกจำนวนมาก จึงเป็นตลาดวัตถุดิบที่สำคัญของไทย หากพิจารณาด้านพฤติกรรมการบริโภคของตลาดเมียนมาร์ เทศกาลสำคัญที่มีการซื้อขายมาก ได้แก่ ของขวัญวันแต่งงาน โดยคนเมียนมาร์จะมีการซื้อเครื่องประดับไม่บ่อย เนื่องจากเป็นของฟุ่มเฟือยและยังมีระดับรายได้ไม่สูงมาก
ฟิลิปปินส์
ฟิลิปปินส์มีประชากรรวม 103.8 ล้านคน ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยทำงานอายุตั้งแต่ 25-54 ปี อายุเฉลี่ยของประชากร 23.1 ปี ทำให้สังคมของฟิลิปปินส์เป็นสังคมของคนวัยหนุ่มสาวและคนวัยทำงาน ประชากรมีอัตราการรู้หนังสือมาก มีการศึกษาดี การใช้ชีวิตของประชากรอยู่ในสังคมเมืองและสังคมชนบทใกล้เคียงกัน เมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่มาก ได้แก่ กรุงมะนิลา เมืองดาวัว เมืองซิบูซิตี้ และเมือง แซมโบแอนก้า
จากการศึกษา พบว่า ขนาดตลาดอัญมณีและเครื่องประดับมีมูลค่า 38.8 พันล้านบาท อัตราใช้จ่ายการซื้ออัญมณีและเครื่องประดับ 374 บาท/คน/ปี โดยเครื่องประดับที่เป็นที่นิยม ได้แก่ เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน โดยเทศกาลสำคัญที่จะมีการซื้อขายมาก ได้แก่ ของขวัญวันแต่งงาน เทศกาลคริสต์มาส ส่วนเครื่องประดับ Costume Jewelleryมักจะเลือกซื้อให้เข้ากับโทนสีของเครื่องผ้าที่สวมใส่โดยไม่มีเทศกาลในการเลือกซื้อเป็นการเฉพาะ
สิงคโปร์
สิงคโปร์มีประชากรรวม 5.1 ล้านคน ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยทำงานอายุตั้งแต่ 25-54 ปี อายุเฉลี่ยของประชากร 33.5 ปี ทำให้สังคมของสิงคโปร์เป็นสังคมของคนวัยทำงาน ประชากรมีอัตรากรรู้หนังสือมาก มีการศึกษาดี ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธร้อยละ 42.5อิสลามร้อยละ 14.9 คริสต์ร้อยละ 14.6
จากการศึกษา พบว่า ขนาดตลาดอัญมณีและเครื่องประดับมีมูลค่า 85.2 พันล้านบาท อัตราใช้จ่ายการซื้ออัญมณีและเครื่องประดับ 15,907 บาท/คน/ปี สินค้าที่นิยม ได้แก่ เครื่องประดับทอง (เพชร พลอยเจีรยะไน) โดยใช้ทอง 18-22 กะรัตเครื่องประดับเงิน เพชรเจียระไน พลอยเจียระไน เครื่องประดับแฟชั่น และทองรูปพรรณ (ย่าน Little India และย่านตอนเหนือของสิงคโปร์ที่มีคนเชื้อสายมาเลย์อยู่อาศัย) ที่ออกแบบลวดลายคล้ายอินเดียและตะวันออกกลาง รูปแบบสินค้าที่นิยม ได้แก่ สร้อยข้อมือ แหวน กำไลข้อมือ สร้อยคอ ต่างหู โดยเฉพาะเครื่องประดับทองจะเป็นที่นิยมมากกว่าเครื่องประดับเงิน เนื่องจากผู้ซื้อในสิงคโปร์นิยมซื้อทองและเครื่องประดับทองเพื่อเป็นการลงทุนและการเก็งกำไร ซึ่งเป็นค่านิยมของคนอาเซียน เอเชียใต้ และมุสลิม อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มของการบริโภคเครื่องประดับเงินและเครื่องประดับแฟชั่นเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีราคาต่ำกว่าเครื่องประดับทอง และสามารถใช้สวมใส่ได้ทุกโอกาส และเป็นที่นิยมของวัยหนุ่มสาวและผู้อยู่ในวัยทำงานที่อายุไม่เกิน 45 ปี
เวียดนาม
เวียดนามมีประชากรรวม 91.5 ล้านคน ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยทำงานอายุตั้งแต่ 25-54 ปี อายุเฉลี่ยของประชากร 28.2 ปี ประชากรมีอัตราการรู้หนังสือมาก การใช้ชีวิตของประชากรส่วนใหญ่อยู่ในสังคมชนบท โดยเมืองที่มีประชากรอยู่อาศัยมาก ได้แก่ นครโฮจิมินต์ กรุงฮานอย เมืองไฮฟอง และเมืองดานัง
จากการศึกษา พบว่า ขนาดตลาดอัญมณีและเครื่องประดับมีมูลค่า 87.8 พันล้านบาท อัตราการใช้จ่ายการซื้ออัญมณีและเครื่องประดับ 960 บาท/คน/ปี โดยเครื่องประดับที่เป็นที่นิยม ได้แก่ เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับเทียม สินค้าที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ทองรูปพรรณ และเครื่องประดับทอง เนื่องจากมีค่านิยมการเก็บทองและเครื่องประดับไว้เพื่อการลงทุน โดยเทศกาลสำคัญที่จะมีการซื้อขายมาก ได้แก่ ของขวัญวันแต่งงาน โดยคนเวียดนามจะมีการซื้อเครื่องประดับไม่บ่อย เนื่องจากเป็นของฟุ่มเฟือยและยังมีระดับรายได้ไม่สูงมากนัก โดยสินค้าที่เป็นที่นิยม ได้แก่ แหวน สร้อยคอ สร้อยข้อมือ และต่างหู (ประดับด้วยเพชร หรือมุก)
กลยุทธ์การตลาดเพื่อการส่งออกไปตลาดอาเซียน
ประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการและภาครัฐไทยต้องให้ความสำคัญมาก ได้แก่ (1) การรักษาภาพลักษณ์สินค้าไทย ร้านค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย (2) การส่งเสริมการสร้างแบรนด์ไทยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระดับอุตสาหกรรม (3) การส่งเสริมการสร้างและพัฒนาแบรนด์ของผู้ประกอบการไทยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและการสร้างคุณค่าในระดับธุรกิจ (4) การประชาสัมพันธ์เครื่องหมายรับรองของไทย และ (5) การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด และการฝึกอบรมพัฒนาผู้ประกอบการไทย ผู้ผลิต นักการตลาด และนักออกแบบไทยให้เข้าใจวัฒนธรรมการบริโภค วัฒนธรรมการทำธุรกิจ การใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี
กลยุทธ์ส่วนประสมการตลาดที่ควรพิจารณาในการส่งออกไปตลาดอาเซียนมีดังนี้
กลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ (Product)
• สินค้าเครื่องประดับเงิน พลอยเจียระไน และเครื่องประดับทองคำ เน้นน้ำหนักเบา ขนาดเล็ก รูปแบบทันสมัย ตลอดจนเน้นจุดขายการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย มีมาตรฐานรับรองคุณภาพ ราคาถูกกว่าที่นำเข้าจากยุโรปและสหรัฐอเมริกา สวมใส่ได้ทุกโอกาส มีคุณภาพ มีสายผลิตภัณฑ์ Product Line หลายชนิด (ซื้อแบบเป็น Set และซื้อแยก) และมีการสร้างแบรนด์สินค้าไทย
• พิจารณาปรับปริมาณเนื้อทองเป็นเครื่องประดับทอง 18-22 กะรัตในกรณีที่ต้องการจับกลุ่มลูกค้าตลาดหลัก และพิจารณาจัดทำเครื่องประดับทองแท้ในกรณีที่ต้องการจับตลาดเฉพาะกลุ่ม
กลยุทธ์ราคา (Pricing)
• ตั้งราคาสูงกว่าเครื่องประดับที่ผลิตจากจีน แต่ถูกกว่ายุโรปและสหรัฐอเมริกา
กลยุทธ์การจัดจำหน่าย (Channel Distribution)
• ผู้ส่งออกเครื่องประดับควรทำตลาดร่วมกันหุ้นส่วนอาเซียน และใช้ประโยชน์จากงาน Fair และการทำ Mobile Store
กลยุทธ์การส่งเสริมการจัดจำหน่าย (Promotion)
• เน้นการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า ผู้นำเข้า และตัวแทนจำหน่าย และเจาะตลาดใหม่
• รัฐบาลและสมาคมการค้าจัดกิจกรรม B-B Matching ในพื้นที่ที่สำคัญ / คู่ค้ารายสำคัญ