กรุงเทพฯ--27 ม.ค.--
น.สพ.ปราโมทย์ ตาฬวัฒน์ นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย ยืนยันว่า กระบวนการผลิตเนื้อหมูของประเทศไทยตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงสุกรจนถึงกระบวนการแปรรูป โดยเฉพาะการควบคุมการใช้ยาและเวชภัณฑ์จะอยู่ภายใต้ข้อกำหนด และมาตรฐานกรมปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด ได้ มาตรฐานสากล สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
ปัจจุบัน ผู้ผลิตเนื้อสุกรมุ่งเน้นการผลิตตามหลักอาหารปลอดภัย( food safety) โดยพัฒนาระบบป้องกันโรค เพื่อป้องกันสัตว์ป่วย และการจัดการโรงเรือนตามมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ (animal welfare) เพื่อให้สัตว์อยู่สบาย เมื่อไม่ป่วยจึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ
กรณีที่มีปัญหาสุขภาพ การใช้ยาเพื่อรักษาจะอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบสารตกค้างก่อนทำการชำแหละ ณ โรงชำแหละมาตรฐาน ตลอดจนป้องกันการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียระหว่างการขนส่งชิ้นเนื้อและผลิตภัณฑ์อีกด้วย
ด้านน.สพ. สุเมธ ทรัพย์ชูกุล นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสัตว์ปีก กล่าวว่าปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทย มีการพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตตามหลักอาหารปลอดภัย ได้มาตรฐานสากล ตรวจสอบย้อนกลับได้ เป็นที่ยอมรับในเวทีระดับโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมไก่เนื้อไทย ที่สามารถส่งออกเนื้อไก่ไปยังต่างประเทศ โดยมีคู่ค้าที่สำคัญทั้งสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง ซึ่งยอมรับในมาตรฐานการผลิตของไทยที่สะอาดปลอดภัย ตั้งแต่การเลี้ยงในระบบโรงเรือนที่ดีทำให้สัตว์อยู่สบายจึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง สามารถตรวจสอบถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบได้ ตลอดจนมีกระบวนการและเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย ปัจจุบันมีฟาร์มสุกรและฟาร์มสัตว์ปีกเข้าสู่ระบบมาตรฐานฟาร์ม ที่ได้รับการรับรองโดยกรมปศุสัตว์เพื่อให้ผลิตปศุสัตว์ที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคมากขึ้น ดังนั้นผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์เนื้อไก่และหมูที่ผลิตในระดับอุตสาหกรรมมีความปลอดภัย ปราศจากเชื้อดื้อยาเป็นสำคัญ
ภาคปศุสัตว์มีความชัดเจนสูงมากต่อการรณรงค์เพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น เนื่องจากภาคปศุสัตว์มีเงื่อนไขทางต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ รวมถึงข้อกำหนด และมาตรฐานของประเทศคู่ค้าของไทยที่มีความเข้มงวดสูงและมีข้อตกลงร่วมกันในประเด็นสารตกค้างจากยาปฏิชีวนะอย่างมาก ทั้งสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ทั้งนี้อุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ของไทยได้ร่วมมือกับภาครัฐดำเนินการผลิตเนื้อสัตว์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะระบบป้องกันยาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อสัตว์ของไทยได้มีประสิทธิภาพสูง ดำเนินการตามข้อกำหนดต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งมาตรฐาน Food Safety สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดกระบวนการผลิต และตอบสนองความต้องการของประเทศคู่ค้าได้