กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--สมาคมอุตสาหกรรมสิ่งบันทึกเสียงไทย
รายงานข่าวจาก สมาคมอุตสาหกรรมสิ่งบันทึกเสียงไทย เรื่อง "การละเมิดลิขสิทธิ์งานส่งบันทึกเสียงในอินเทอร์เน็ต" โดยระบุว่าปัจจุบันไทยยังไม่มีระบบกฎหมายที่ควบคุมการกระทำซ้ำ หรือสำเนา งานอันมีลิขสิทธิ์แล้วแจกจ่ายแก่ผู้อื่นผ่านระบบอินเทอร์เน็ต แม้ว่าการกระทำละเมิดทางอินเทอร์เน็ตนั้น ในปัจจุบันเจ้าของลิขสิทธิ์สามารถเอาผิดกับผู้กระทำความผิดได้ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ในข้อหาทำซ้ำ และเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต เช่น นำงานเพลงที่มีลิขสิทธิ์มากระทำซ้ำในรูป MP3 แล้วมาแจกจ่ายทางอินเทอร์เน็ต อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีไฟล์เพลงละเมิดจำนวนมาก ขณะที่ผู้ทำละเมิดก็ไม่ใช้ชื่อ และที่อยู่ที่แท้จริง ดังนั้น การสืบหาเพื่อเอาผู้กระทำผิดจึงเป็นเรื่องยากลำบากพอสมควร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะจัดการเรื่องนี้ไม่ได้โดยการทำงานของระบบอินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์นั้น หากเจ้าของลิขสิทธิ์ได้รับความร่วมมือจากบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) โดยตรง การดำเนินการก็จะเป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้น แต่ปัจจุบันกฎหมายมิได้บังคับ ISP ที่ให้บริการเช่าสายเพื่อกระทำผิด ดังนั้นจึงเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้ผู้ละเมิดหลุดรอดจากความผิดได้ ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาอย่างจริงจัง และเหมาะสมประการแรกคือ การที่เจ้าของลิขสิทธิ์และ ISP ร่วมกันในการตรวจสอบ และกำจัดการละเมิดลิขสิทธิ์ที่เกิดขึ้นในเครือข่ายของ ISP ประการที่สอง คือการออกกฎหมายบังคับที่ชัดเจนเกี่ยวกับความรับผิดชอบของ ISP และสามคือ เจ้าของลิขสิทธิ์ ร่วมมือกับเจ้าของเทคโนโลยี คือส่งเสริมให้ผู้ผลิตอุปกรณ์ เช่น เครื่องบันทึกซีดี เครื่องบันทึกเสียงรวมไปถึงเครื่อง ที่สามารถดาวน์โหลจากอินเทอร์เน็ต ต้องผลิตอุปกรณ์ติดตั้งพิเศษที่เล่นเฉพาะสิ่งบันทึกเสียงที่มีลิขสิทธิ์เท่านั้น--จบ--
-สส-