กรุงเทพฯ--28 ม.ค.--สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
สสว.เผยความคืบหน้าช่วยเหลือและส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs คนรุ่นใหม่ที่มีนวัตกรรมและนำนวัตกรรมไปปรับใช้กับกิจการ เดินหน้าเร่งโครงการ Strong/Regular, Start Up, Turn Around พร้อมจับมือ TCDC พัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ผู้ประกอบการในร้านค้าประชารัฐ รวมถึงพาผู้ประกอบการบุกตลาดการค้าต่างประเทศ ทั้งในจีนและตลาดรอง รวมถึงในกลุ่มฮาลาล ล่าสุดพา SMEs จับคู่ธุรกิจที่อิหร่าน ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการเดือนธ.ค. พุ่งสูงสุดในรอบปี
ในวันที่ 27 มกราคม 2559 นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้แถลงผลงานความคืบหน้าการดำเนินงานของ สสว. ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ สรุปได้ดังนี้
1. การนำนวัตกรรมมาให้ผู้ประกอบการใช้ปรับปรุงสินค้าและบริการ
สสว. จะสร้างคนรุ่นใหม่เป็น SMEs ที่มีนวัตกรรมและนำนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้กับกิจการที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยขอให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ร่วมการบ่มเพาะ และมหาวิทยาลัยที่เป็นภาคี เช่น มหาวิทยาธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าจัดผลงานวิจัยเป็นหมวดหมู่ เช่น อาหาร เกษตร ไอที วิศวกรรม ฯลฯ และหาทางให้ SMEs ได้รับทราบถึงผลงานวิจัยเหล่านั้น เพื่อให้ SMEs นำมาใช้ในเชิงพาณิชย์
ซึ่งสสว.จะช่วยหาแหล่งเงินทุนจากธนาคารของรัฐ และธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีโครงการช่วยเหลือสังคม (Social Enterprise) มาช่วยสนับสนุนในการนำนวัตกรรมมาให้ SMEs ใช้ปรับปรุงสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น และทำการตลาดสำหรับสินค้าและบริการที่ปรับปรุงขึ้นใหม่นั้น
โครงการต่างๆ ที่สสว.อยู่ระหว่างการดำเนินงาน เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ จะพัฒนา SMEs 3 กลุ่ม ได้แก่
1.1 กลุ่ม SMES ที่ดำเนินกิจการอยู่แล้ว (Strong/Regular SMEs)
1.2 กลุ่มผู้ประกอบการใหม่ (Start Up)
1 .3. กลุ่มที่ต้องการปรับปรุงกิจการ (Turn Around)
โดยทั้ง 3 โครงการ ได้รับอนุมัติการใช้งบประมาณจากคณะกรรมการ สสว. เมื่อ 7 มกราคม 2559 ขณะนี้ สามารถดำเนินการได้แล้ว
2. โครงการประชารัฐเพื่อวิสาหกิจชุมชน
สสว. ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กรมการพัฒนาชุมชน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บมจ.ปตท. จำกัด (ปตท.) ธนาคารเอสเอ็มอี ดำเนินการจัดตั้ง (ร้านประชารัฐสุขใจ SHOP) จำนวน 148 ร้านค้าทั่วประเทศ เพื่อจำหน่ายสินค้าวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ และสร้างความเข้มแข็งให้วิสาหกิจชุมชน โดยมีสถานที่จำหน่ายสินค้าถาวร ในราคาที่เหมาะสม สามารถผลิตสินค้าได้อย่างมีมาตรฐาน มีบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม ตรงตามความต้องการของตลาด รวมทั้งให้ชุมชนในเขตภูมิภาคมีรายได้เพิ่มขึ้นและสามารถต่อยอดดูแลร้านค้าให้ยั่งยืนด้วยตนเองในอนาคต
หน้าที่ของสสว.ในโครงการนี้ คือ ร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชนคัดเลือกสินค้า OTOP สินค้าวิสาหกิจชุมชน เข้ามาขายในร้านค้าประชารัฐ รวมทั้งช่วยเหลือดูแลในเรื่องการขนส่งและการจัดการสินค้า โดยจะช่วยฝึกบุคลากรจากชุมชนให้สามารถบริหารจัดการร้านได้ ในส่วนของสินค้า จะพยายามคัดเลือกสินค้าเด่นของชุมชน ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด สำหรับสินค้าซึ่งยังไม่ได้มาตรฐาน สสว.ได้เชิญศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) มาช่วยพัฒนารูปแบบสินค้า (Product Renovation) และออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ดึงดูดใจลูกค้า
ด้านความคืบหน้าคือ ขณะนี้ ร้านค้าประชารัฐ อยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่า จะสามารถเปิดตัวพร้อมกันทั่วประเทศ 148 แห่ง ในเดือน เมษายน 2559
3. โครงการเปิดตลาดการค้าระหว่างประเทศ
สำหรับการเปิดตลาดการค้าระหว่างประเทศนั้น สสว. ได้มีการนำผู้ประกอบการไปต่างประเทศเป็นระยะ โดยเมื่อวันที่ 21-22 ม.ค. ที่ผ่านมาสมาคมการค้าการลงทุนเอเชียน-สากล AITIA ได้เชิญ สสว. เข้าร่วมพิธีเปิดงานแสดงสินค้า โครงการคาราวานแบรนด์ไทยไปทั่วจีน ภายใต้งาน The 9th Chian Xinjiang New Year Shopping Fair 2016 ณ Xinjiang International Convention & Exhibition Center เมืองอูหลูมูฉี เขตปกครองพิเศษตนเองซิน เจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อประสานความร่วมมือและศึกษาแนวทางในการสนับสนุนผู้ประกอบการฯ และได้รับทราบว่า สินค้าไทย มีโอกาสสูง ที่จะเข้าไปเปิดตลาดในหัวเมืองระดับรอง เช่น เมืองซีอาน เมืองฝูโจว เมืองซีหนิง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทย มีช่องทางทางการค้า สามารถขยายสินค้าไทย และเพิ่มความหลากหลายของสินค้าไทยในตลาดจีน
และในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559 สสว.จะนำผู้ประกอบการ 30 ราย ติดตามคณะรองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ไปจับคู่ธุรกิจที่ประเทศอิหร่าน ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการไทยได้ไปเปิดตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ อาหารและสินค้าเกษตรแปรรูปแบบฮาลาล ซึ่งเป็นสินค้าที่ประเทศไทยมีศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกสูง นอกจากนั้นสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านให้ความสนใจในเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวแบบฮาลาล ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทยมีสถานที่ท่องเที่ยวแบบฮาลาลในจังหวัดภาคใต้และกรุงเทพมหานคร
4. ดัชนีความเชื่อมั่น SME ในเดือนธันวาคม 2558 ส่งสัญญาณบวก ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก
ดัชนีความเชื่อมั่น SME ภาคการค้าและบริการ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 110.8 ในเดือนธันวาคม 2558 นับเป็นระดับสูงที่สุดสำหรับปี 2558 ค่าดัชนีความเชื่อมั่นของ SME ที่เพิ่มขึ้น เกิดจากองค์ประกอบทั้งในด้านของยอดจำหน่าย กำไร และการลงทุน โดยปรับตัวดีขึ้นมากทั้งในภาคบริการและภาคการค้า ดัชนีปรับตัวสูงในทุกกลุ่ม สาขาธุรกิจที่โดดเด่นมากคือ สถานีบริการน้ำมัน การขนส่ง และบริการท่องเที่ยว นอกจากนี้มาตรการลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาโครงการช็อปช่วยชาติให้กับบุคคลธรรมดาในช่วงปีใหม่ยังมีส่วนกระตุ้นการบริโภคในประเทศมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ สถานการณ์ด้านการบริโภคในภาพรวมมีความคึกคักเพิ่มมากขึ้น มีการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มมากขึ้น และต้นทุนของการประกอบการก็ลดลงทั้งจากราคาน้ำมันที่ลดลงและการปรับลดของค่าไฟฟ้าจากในส่วนของค่า FT ด้วย
สำหรับดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้านั้น ก็อยู่ระดับสูงที่ 110 เช่นกัน การที่ดัชนีอยู่สูงกว่าค่าฐาน 100 เป็นเรื่องที่ดีเพราะหมายถึง ผู้ประกอบการ SMEsเริ่มมั่นใจมากขึ้น มองมุมบวกต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะเป็นเพราะเริ่มมั่นใจว่า มาตรการส่งเสริม SME จากภาครัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการเงินและในด้านเพิ่มขีดความสามารถของ SME และการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนในประเทศ จะสามารถบรรเทาผลกระทบความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้
ดัชนี SME ภาคการค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นนี้ เป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีอุตสาหกรรมและดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นมากเช่นกันในเดือน ธ.ค. 2558