กรุงเทพฯ--29 ม.ค.--ทีทีดับบลิว
คุณชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ (ที่ 1 จากขวา) กรรมการผู้จัดการ บมจ.ทีทีดับบลิว (TTW) ร่วมเป็นวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในงานเสวนา "น้ำน้อย แพ้พลังใจ รวมพลังคนไทย ร่วมใจฝ่าภัยแล้ง" พร้อมด้วยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านน้ำ อาทิ คุณชวลิต จันทรรัตน์ (ที่ 1 จากซ้าย) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายต่างประเทศ บจ.ทีม กรุ๊ป คัมปานีส์ คุณเจริญ ภัสระ (ที่ 2 จากขวา) ประธานกรรมการการประปานครหลวง (กปน.) และคุณวิทยา ฉายสุวรรณ ประธานกรรมการ (กลาง) บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (East Water) ดำเนินรายการโดยคุณกิตติ สิงหาปัด โดยร่วมกันรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญ และคำนึงถึงผลกระทบของปัญหาภัยแล้งในปี 2559 ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงกว่าทุกปี รวมถึงเป็นการสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนออกมาแสดงบทบาท และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ พร้อมทั้งรณรงค์ให้มีการประหยัดน้ำลง 20% เพื่อให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ และสามารถผ่านภัยแล้งไปด้วยกัน งานเสวนาในครั้งนี้จัดขึ้นโดยคณะนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่น 2550 (วปอ. รุ่นปี 2550) ณ คอนเวนชั่น เอ 2 รร.เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์
"ในฐานะผู้ผลิตน้ำประปาภาคเอกชนรายใหญ่ที่สุดของประเทศ เราได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในแต่ละช่วงเวลาอย่างใกล้ชิด และได้ส่งตัวอย่างน้ำให้กับห้องปฏิบัติการกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบคุณภาพในทุกๆ เดือน พร้อมทั้งส่งเจ้าหน้าที่คอยดูแลผู้ใช้น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้อาจจะพบปัญหาอยู่บ้าง ทั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องของปริมาณน้ำดิบที่ไม่เพียงพอ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องคุณภาพน้ำที่จะนำมาใช้ในกระบวนการผลิตมีคุณภาพด้อยลง เนื่องจากน้ำต้นทางที่มาจากการเกษตรกรรมมีสารเคมีปนเปื้อนค่อนข้างมาก รวมถึงเกิดปัญหาน้ำค้างทุ่ง ไม่เกิดการไหลเวียนทำให้เกิดปัญหาน้ำขุ่นเหลือง และด้อยคุณภาพตามมา แต่ในกระบวนการผลิตของบริษัทฯ สามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับอัตราการใช้สารเคมีในปริมาณที่เพียงพอและเหมาะสม"
"TTW ได้เตรียมรองรับการขยายตัวของเมือง และภาคอุตสาหกรรมทางฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานคร (สมุทรสาคร-นครปฐม) โดยการก่อสร้างโรงผลิตน้ำประปาแห่งที่ 2 (กระทุ่มแบน) กำลังการผลิตสูงสุด 400,000 ลบ.ม./วัน เราได้นำเทคโนโลยีเมมเบรน (Membrane) มาใช้ในกระบวนการผลิต ทำให้เป็นระบบไฮบริด (Hybrid) ที่สามารถเปลี่ยนระบบการกรองจาก Conventional เป็นระบบการกรองแบบ Ultra Filtration ซึ่งสามารถขจัดสิ่งปนเปื้อน ลดเชื้อโรค ไวรัส และแบคทีเรียได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงลดการใช้สารเคมีในการผลิต"
"นอกจากนี้ TTW ยังได้ทำโครงการปลูกป่าต้นน้ำ "โครงการ 1 ล้านกล้า สร้างป่าต้นน้ำ" อย่างต่อเนื่องในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี มาเป็นระยะเวลา 5 ปี โดยแต่ละปีจะปลูกป่าต้นน้ำจำนวน 200,000 ต้น ในเนื้อที่ 1,000 ไร่ รวม 1,000,000 ต้น โดยเลือกพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือเราจะดูแลทุกแปลงที่ปลูกอย่างต่อเนื่องอีก 2 ปี จนมั่นใจว่ากล้าไม้เหล่านี้มีอัตราการรอดตายไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 จึงจะทำการส่งมอบให้กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นสมบัติของประเทศชาติต่อไป ซึ่งขณะนี้ TTW ได้ส่งมอบผืนป่าต้นน้ำไปแล้ว 3,000 ไร่ หรือคิดเป็นกล้าไม้ประมาณ 600,000 ต้น ในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา โดยทั้งหมดนี้เป็นการแก้ปัญหาน้ำน้อยโดยใช้หลัก 3Rs ที่ปลายน้ำคือ Reduce Reuse Recycle และที่ต้นน้ำคือ Reserve-การรักษาผืนป่าที่แท้จริง Rethink-ระดมความคิดแบบบูรณาการ และ Redo- การปลูกป่าที่ต้องได้ผืนป่าอย่างแท้จริง นำไปสู่การรักษาสมดุลของแหล่งต้นน้ำธรรมชาติ"
"สำหรับปัญหาภัยแล้งนั้น คงไม่ใช้ปัญหาเฉพาะของใครคนใดคงหนึ่ง คงต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนในการช่วยกันประหยัดน้ำ และให้องค์ความรู้ในการบริหารจัดการน้ำกินน้ำใช้อย่างถูกวิธี รวมถึงการบำบัดน้ำเสียที่ถูกต้องภายหลังการใช้งานด้วย สำหรับ TTW ในฐานะผู้ผลิตน้ำประปาภาคเอกชนรายใหญ่ที่สุดของประเทศ เรายังคงมุ่งมั่นให้บริการผู้ใช้น้ำทั้งภาคอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และครัวเรือน ในการส่งจ่ายน้ำประปาที่มีคุณภาพ ได้อย่างเพียงพอ และต่อเนื่อง" คุณชัยวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ TTW กล่าว