กรุงเทพฯ--1 ก.พ.--
กรมปศุสัตว์ จับมือโรงฆ่าสุกร ตรวจสอบการลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงด้วยเทคนิคใหม่ รู้ผลในห้านาที หวังป้องปรามผู้เลี้ยงเลิกใช้สารฯจริงจัง เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
กรมปศุสัตว์ ร่วมกับโรงฆ่าสุกร "บริษัทสยามอินเตอร์พอร์ค" ถนนสุวินทวงศ์ เขตหนองจอก กรุงเทพฯ ตรวจการลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงในสุกรในโรงฆ่า ด้วยวิธีการตรวจชนิดรวดเร็ว แม่นยำ และแสดงผลตรวจภายใน 5 นาที หวังให้อุตสาหกรรมเลี้ยงหมูของไทยปลอดสารเร่งเนื้อแดง 100% เพื่อผู้บริโภคได้รับอาหารปลอดภัย
นายสัตวแพทย์ สรวิศ ธานีโต รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยระหว่างการนำหน่วยเฉพาะกิจของกรมปศุสัตว์ ลงพื้นที่เขตหนองจอกเพื่อตรวจสอบการลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดง ด้วยการสุ่มตรวจสอบโดยไม่แจ้งให้ผู้ประกอบการทราบล่วงหน้า พบว่าที่โรงฆ่าของบริษัทสยามอินเตอร์พอร์ค ไม่มีการนำสุกรที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงมาเข้าฆ่า โดยเจ้าของโรงฆ่ามีความเข้าใจและตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคจึงได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวอีกว่า กรมปศุสัตว์ได้เร่งรัดการปราบปรามสารเร่งเนื้อแดงปนเปื้อนในเนื้อสุกร ตามนโยบายด้านอาหารปลอดภัยของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมปศุสัตว์ ด้วยการสุ่มตรวจตัวอย่างปัสสาวะสุกรในโรงฆ่า โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก (เขต 1 2 7) ที่เป็นแหล่งเลี้ยงสุกรขนาดใหญ่รวมกันมากถึงกว่า 80% ของประเทศ ด้วยชุดทดสอบเบื้องตันชนิดรวดเร็ว รู้ผลภายใน 5 นาที และมีความแม่นยำสูง ทำให้ตรวจพบได้อย่างทันทีหากมีสุกรที่ลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงถูกส่งเข้ามาในโรงฆ่าสัตว์ และจะตรวจสอบย้อนกลับไปถึงฟาร์มต้นทาง โดยหากตรวจพบผลบวกในเบื้องต้น เจ้าหน้าที่จะสั่งระงับการเข้าฆ่าตามพรบ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2535 จากนั้นจะส่งตัวอย่างปัสสาวะที่ให้ผลบวกดังกล่าวไปยืนยันผลทางห้องปฏิบัติการและจะทราบผลการตรวจยืนยันภายใน 3 วัน โดยปศุสัตว์จังหวัดของฟาร์มสุกรต้นทางดังกล่าวจะเข้าไปตรวจสอบฟาร์มสุกร รวมถึงรวบรวมหลักฐาน และแจ้งความดำเนินคดี กับเจ้าของฟาร์มสุกรตามพรบ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2558
"ขอเตือนผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศว่า ให้เลิกใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงสุกร เนื่องจากผิดกฎหมาย และไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค หากฝ่าฝืนและถูกตรวจพบจะถูกดำเนินคดี โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งกรมปศุสัตว์นำเทคนิคการตรวจเร่งดำเนินการตรวจสอบในโรงฆ่าและฟาร์มสุกรอย่างจริงจังและต่อเนื่องต่อไป" นายสัตวแพทย์ สรวิศ กล่าว
นอกจากนี้ นายสัตวแพทย์ สรวิศ ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเลือกซื้อเนื้อสุกรสำหรับการบริโภคที่ปลอดจากสารเร่งเนื้อแดงว่าควรเลือกซื้อเนื้อสุกรที่มีมาตรฐาน จากแหล่งผลิตและแหล่งจำหน่ายที่เชื่อถือได้ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งที่มา โดยสังเกตที่เนื้อสุกรที่จะต้องไม่มีสีแดงจนเกินไป เมื่อกดชิ้นเนื้อจะมีสัมผัสนุ่ม ลักษณะยืดหยุ่น ไม่แข็งกระด้าง ขณะเดียวกันให้สังเกตที่ตราสัญลักษณ์ "ปศุสัตว์OK" ที่กรมปศุสัตว์ออกให้กับร้านจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ได้มาตรฐานการรับรองจากกรมฯ.