กรุงเทพฯ--1 ก.พ.--ปตท.
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปปรับเพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (ICE Brent) เพิ่มขึ้น 3.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 33.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 3.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 27.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (NYMEX WTI) เพิ่มขึ้น 2.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 32.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 1.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 49.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 3.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 35.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่
ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25-0.50% ในการประชุมวันที่ 27-28 ม.ค. 59 โดยยังจับตามองการพัฒนาของเศรษฐกิจและการเงินของโลก รวมถึงการเทขายในตลาดหุ้นเมื่อต้นเดือน ม.ค. 59 ทั้งนี้ FED มีกำหนดประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 15-16 ก.พ. 59
· Reuters รายงานรัสเซียและ OPEC หารือเกี่ยวกับการลดกำลังการผลิตน้ำมันลง 5% เพื่อพยุงราคาน้ำมัน ซึ่งล่าสุดรัสเซียอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้
· Reuters รายงานเกิดพายุหิมะตกหนักปกคลุมพื้นดินหนา 50 เซนติเมตรถึง 1 เมตร บริเวณEast Coast ของสหรัฐฯ และอากาศหนาวเย็นเป็นประวัติการณ์ ในรอบกว่า 50 ปี บริเวณเอเชียเหนือ
· Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 29ม.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 12 แท่น หรือ 2.4% มาอยู่ที่ 498 แท่น
· บริษัทพลังงาน Genscape ของสหรัฐฯ คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี 2559 จะปรับตัวลดลงสู่ระดับ 8.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากการผลิตที่ระดับ 9.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ธ.ค. 58 เนื่องจากผู้ผลิต Shale Oil ขนาดใหญ่ 3 บริษัทในสหรัฐฯ ได้แก่ บริษัทContinental Resources, Hess Corp. และ Noble Energy ขาดสภาพคล่องและประกาศปรับลดการลงทุนปี 2559 ลงจากปีก่อน 66%, 50% และ 40% ตามลำดับ
· China National Petroleum Corp. (CNPC) ของจีนคาดการณ์จีนบริโภคน้ำมันดิบในปี2559 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.3% มาอยู่ที่ระดับ 11.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ปริมาณการนำเข้าคิดเป็น62% ของความต้องการใช้ภายในประเทศ) ความต้องการน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นจากการขยายกำลังการผลิตของโรงกลั่นอิสระ (Teapot Refineries) ที่เข้ามาแข่งขันชิงส่วนแบ่งตลาดจากโรงกลั่นของรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 ม.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 8.4 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 494.9ล้านบาร์เรล แตะระดับสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์
· กระทรวงน้ำมันของอิรักรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งทางภาคกลางและใต้ของประเทศที่รัฐบาลอิรักมีอำนาจควบคุมเดือน ธ.ค. 58 อยู่ที่ 4.13 ล้านบาร์เรล (เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 470,000 บาร์เรลต่อวัน) สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่การผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งทางตอนเหนือซึ่งควบคุมโดยรัฐปกครองพิเศษเคอร์ดิสถานผลิตที่ระดับ 600,000 บาร์เรลต่อวัน
· กระทรวงการคลังญี่ปุ่นรายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบลดลงจากปีก่อน 2.3% อยู่ที่ 3.37 ล้านบาร์เรลต่อวัน และต่ำสุดในรอบ 27 ปี เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทำให้การใช้รถยนต์น้อยลง ขณะที่คนรุ่นใหม่หันไปใช้การขนส่งสาธารณะมากขึ้น อีกทั้งรถยนต์ไฮบริดได้รับความนิยมมากขึ้นส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันลดลง
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ICE Brent และ NYMEX WTI ปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังได้รับแรงสนับสนุนจากข่าวความเป็นไปได้ในการร่วมมือระหว่างผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่เพื่อหาลู่ทางลดกำลังการผลิต เพื่อพยุงราคาน้ำมัน โดยรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของรัสเซีย นาย Alexander Novak ส่งสัญญาณพร้อมที่จะเจรจากับกลุ่มประเทศ OPEC ในการแก้ไขปัญหาราคาตกต่ำ ทั้งนี้รัสเซียพร้อมหารือและพิจารณาความเป็นไปได้ในการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบ อย่างไรก็ตามรัสเซียเริ่มแสดงท่าทีกังวลในด้านฐานะการเงินและการตั้งงบประมาณเพราะรัสเซียจะขาดสภาพคล่องทางการเงินถ้าราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ระดับ 20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เป็นเวลานาน ถึงแม้ว่าจะมีกระแสข่าวเกี่ยวกับการจับมือร่วมกันระหว่างรัสเซียและกลุ่มประเทศ OPEC แต่นักวิเคราะห์บางส่วนเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการปล่อยข่าวเพื่อดันราคาน้ำมัน ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้ ด้านความเคลื่อนไหวเชิงเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่า ICE Brent เคลื่อนไหวในกรอบ 32.70-39 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล, WTI ที่ 30.85-36.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ Dubai ที่ 28.70-35 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มขึ้นจากบริษัทน้ำมันแห่งชาติของเกาหลีใต้เผยความต้องการใช้น้ำมันเบนซิน เดือน ธ.ค. 58 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.77% มาอยู่ที่ระดับ 6.44 ล้านบาร์เรล ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเบนซิน ในปี 2558 ของเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.21% มาอยู่ที่ระดับ 76.57ล้านบาร์เรล ขณะที่ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 ม.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 300,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 13.60 ล้านบาร์เรลต่ำสุดในรอบ 4 สัปดาห์ และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 23 ม.ค. 59 ลดลง 900,000 บาร์เรลจากสัปดาห์ก่อน หรือ 7.5 % อยู่ที่10.6 ล้านบาร์เรลต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม สำนักสถิติแห่งชาติของจีนรายงานยอดผลิตน้ำมันเบนซินเดือน ธ.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 4.6 % และเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.2 % มาอยู่ที่ 90.1 ล้านบาร์เรลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ยอดส่งออกเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 54.3 % และเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 100 % มาอยู่ที่ 7.5ล้านบาร์เรล ทำสถิติสูงสุดเช่นกัน และ กรมศุลกากรจีนเผยปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน ของจีน เดือน ธ.ค. 58เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 3.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 48.9 ล้านบาร์เรล สูงสุดตั้งแต่เดือน ส.ค. 57 เนื่องจากความต้องการใช้ลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือนอยู่ที่ 2.57 ล้านบาร์เรลต่อวัน สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 46.25-51.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นจากข่าว Reuters รายงานบริษัทผู้ค้าน้ำมันหลายรายเตรียมส่งน้ำมันดีเซลออกจากภูมิภาคเอเชียไปยังตลาดยุโรป อาทิ Vitol เตรียมเรือขนาด 900,000 บาร์เรล(Suezmax) เพื่อขนส่งน้ำมันดีเซลจากเกาหลีใต้ ช่วงต้น ก.พ. 59 และ Total เช่าเรือ VLCC (ขนาด 2 MMB) แบบTime Charter เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อขนส่ง Ultra Low Sulphur Diesel (ULSD) จากมาเลเซีย หรือสิงคโปร์ และ IESรายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 ม.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.05 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 11.08 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Platts รายงาน อุปทานน้ำมันดีเซลล้นตลาดเอเชียในขณะนี้ เนื่องจากเอเชียเหนือส่งออกมากและต่อเนื่อง เช่น ญี่ปุ่นส่งออกน้ำมันดีเซลสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 ม.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนถึง 64.2 % มาอยู่ที่ 1.53 ล้านบาร์เรล และกรมศุลกากรจีนเผยปริมาณสำรองน้ำมันดีเซล ของจีน เดือน ธ.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 56.2 ล้านบาร์เรล และ PJK International B.V. รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์บริเวณ ARA สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 ม.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2.3 % มาอยู่ที่ 26.35 ล้านบาร์เรล เนื่องจากเยอรมนีและสวิตเซอร์แลนด์นำเข้าเพิ่มขึ้น สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.25-37.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล