กรุงเทพฯ--1 ก.พ.--
รร.เซ็นจูรี่ พาร์ค//สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ลงนามบันทึกความเข้าใจ เรื่อง ความร่วมมือด้านการมาตรฐาน กับ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์(สฟอ.) ภายใต้กรอบความตกลงยอมรับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ร่วมกันในกลุ่มประเทศอาเซียน หวังเพิ่มศักยภาพการส่งออกสินค้าจากไทยสู่ตลาดอาเซียนให้มีความคล่องตัวขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการทดสอบซ้ำซ้อน ณ ประเทศปลายทาง พร้อมให้การรับรองระบบงาน หน่วยรับรองผลิตภัณฑ์ : มอก. 17065 ยกระดับเครื่องหมาย EEI Mark ขึ้นแท่นการยอมรับจากประเทศสมาชิกอาเซียน คาดในอนาคตตลาดอาเซียนมีแนวโน้มเติบโตดี โดยปี 2558 ที่ผ่านมาไทยส่งออกไปตลาดอาเซียนราว 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือด้วยสัดส่วนราว 19% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด 5.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
นายธวัช ผลความดี เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวว่า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) มีฐานะเป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติที่ประสานความร่วมมือในการกำหนดมาตรฐานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) โดยมีภารกิจหลักในการกำหนดมาตรฐาน และให้การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานที่กำหนดขึ้น และเนื่องจากกิจกรรมด้านการมาตรฐานมีความหลากหลายและมีขอบข่ายกว้างขวาง จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรมาก แต่ละหน่วยงานไม่สามารถดำเนินการเองได้ทั้งหมด ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ดังนั้น การพัฒนาระบบมาตรฐานของประเทศไทย จึงพิจารณาถึงความจำเป็นและความต้องการของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และจัดระบบให้เหมาะสมกับความจำเป็นของประเทศ ทำให้เกิดความร่วมมือในการทำงานระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดมาตรฐาน การตรวจสอบรับรอง และมาตรวิทยา ด้วยการสร้างเครือข่าย
"ในการลงนามบันทึกความเข้าใจครั้งนี้นับว่าเป็นนิมิตรหมายอันดีที่ สมอ. จะร่วมมือด้านการมาตรฐานสาขาไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ กับ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สฟอ.) อย่างเต็มที่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้กล้าแกร่งและมีศักยภาพเพียงพอที่จะแข่งขันได้ในระดับสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้เป็นไปตามกรอบความตกลงว่าด้วยการปรับระบบด้านกฎระเบียบและการควบคุมบริภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน (Agreement on the ASEAN Harmonized Electrical and Electronic Equipment Regulatory Regime หรือ AHEEERR ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการของไทยในการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทดสอบ ณ ประเทศปลายทาง เกิดการยอมรับในเครื่องหมาย EEI Mark ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งสฟอ.เป็นผู้รับรองผลิตภัณฑ์ โดยสมอ.ได้มอบ
ใบรับรองระบบงาน หน่วยรับรองผลิตภัณฑ์ : มอก. 17065 ให้แก่ สฟอ. เพื่อยืนยันว่างานบริการด้านการรับรองผลิตภัณฑ์เป็นไปตามมาตรฐานสากล"
นายพสุ โลหารชุน ในฐานะประธานคณะกรรมการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสถาบันเครือข่าย ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ทั้งเรื่องการสนับสนุนเครื่องมือทดสอบ ความร่วมมือด้านการจัดทำมาตรฐาน การเป็นหน่วยงานร่วม ภายใต้ข้อตกลงยอมรับร่วมระบบการรับรองรายงานการทดสอบที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (IEC System of Conformity Assessment for Electrotechnical Equipment and Components หรือ IECEE CB Scheme) ความร่วมมือด้านการตรวจประเมินโรงงาน และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งทำให้สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายสมบูรณ์ หอตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า ปัจจุบัน สฟอ. มีความพร้อมทั้งด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ และบุคลากร ในการรองรับงานบริการด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีศูนย์ปฏิบัติการและมาตรฐาน เป็นหน่วยงานให้บริการทดสอบผลิตภัณฑ์ บริการสอบเทียบเครื่องมือวัด และบริการตรวจคุณภาพโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งเป็นหน่วยงานแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองระบบคุณภาพตามมาตรฐานครบทั้ง 3 บริการ จาก สมอ. กล่าวคือ ห้องปฏิบัติกาทดสอบ ได้รับการรับรองระบบคุณภาพตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 โดยมีขอบข่ายมากกว่า 138 มาตรฐาน ได้รับการรับรองห้องสอบเทียบ ISO/IEC 17025 ครอบคลุม 5 สาขา และได้รับการรับรองหน่วยตรวจคุณภาพโรงงานตามมาตรฐาน ISO/IEC 17020 เป็นรายแรกของประเทศไทย
ในส่วนของงานบริการด้านการรับรองผลิตภัณฑ์ ภายใต้เครื่องหมาย EEI Mark เป็นระบบงานที่ สฟอ. จัดทำขึ้นมาโดยได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO/IEC 17065 มีจุดประสงค์เพื่อให้การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์โดยมีการสุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์ทดสอบอ้างอิงมาตรฐานทดสอบผลิตภัณฑ์ตาม มอก. หรือ IEC เป็นต้น
"เชื่อมั่นว่ามาตรฐานผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมาย EEI Mark จะมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ การส่งออกผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยสู่ตลาดอาเซียนมีความคล่องตัวมากขึ้น เนื่องจากประเทศสมาชิกมีความตกลงยอมรับในมาตรฐานการรับรองผลิตภัณฑ์ดังกล่าวร่วมกัน สอดรับกับในอนาคตที่คาดว่าตลาดอาเซียนมีแนวโน้มเติบโตดี โดยปี 2558 ที่ผ่านมาไทยส่งออกไปตลาดอาเซียนราว 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือด้วยสัดส่วนราว 19% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดราว 5.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ"