กรุงเทพฯ--1 ก.พ.--สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจพฤติกรรมและความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ประเภทกลุ่มส่วนตัว (private group)
ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า ในปัจจุบันผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้มีการพัฒนาการให้บริการเพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้งานด้วยเช่นกัน ซึ่งบริการหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้บริการในปัจจุบันคือการสร้างกลุ่มส่วนตัว (private group) เพื่อใช้สำหรับสื่อสารเฉพาะสมาชิกในกลุ่มซึ่งมีทั้ง กลุ่มครอบครัว กลุ่มเพื่อนฝูง กลุ่มเพื่อนร่วมงาน รวมไปถึงกลุ่มคนที่มีความชอบในเรื่องเฉพาะ เช่น กลุ่มเพลงเก่า กลุ่มเทคโนโลยี หรือกลุ่มที่ตั้งขึ้นสำหรับการทำกิจกรรมเฉพาะ เป็นต้น ซึ่งสมาชิกในกลุ่มสามารถสื่อสารถึงกันได้อย่างรวดเร็ว
แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนึ่งที่พบในการใช้งานกลุ่มส่วนตัวบนเครือข่ายสังคมออนไลน์โดยเฉพาะผู้ที่เป็นสมาชิกกลุ่มส่วนตัวหลายๆกลุ่มคือการส่งข้อมูลไปผิดกลุ่มซึ่งอาจก่อให้เกิดความรำคาญกับสมาชิกคนอื่นได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆได้แก่ สมาชิกในกลุ่มอาจถูกสมาชิกคนอื่นนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม รวมถึงการเป็นสมาชิกกลุ่มส่วนตัวหลายๆกลุ่มอาจส่งกระทบในการทำงาน การเรียน หรือการใช้ชีวิตประจำวันได้ ซึ่งผู้คนในสังคมส่วนหนึ่งได้เริ่มออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาจากการใช้งานกลุ่มส่วนตัวบนเครือข่ายสังคมออนไลน์
จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจพฤติกรรมและความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ประเภทกลุ่มส่วนตัว (private group) โดยได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 23 ถึง 28 มกราคม พ.ศ. 2559
ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,158 คน ซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.78 เพศชายร้อยละ 49.22 ส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 25 ถึง 34 ปีคิดเป็นร้อยละ 30.92 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านพฤติกรรมการเป็นสมาชิกกลุ่มส่วนตัวบนเครือข่ายสังคมออนไลน์นั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 38.95 ระบุว่าตนเองเป็นสมาชิกกลุ่มส่วนตัว (private group) บนเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆประมาณ 7 – 10 กลุ่ม ขณะที่กลุ่มตัวอย่างเกือบหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 31.87 ระบุว่าตนเองเป็นสมาชิกกลุ่มส่วนตัว 4 – 6 กลุ่ม ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 16.23 ระบุว่าตนเองเป็นสมาชิกกลุ่มส่วนตัวมากกว่า 10 กลุ่ม และกลุ่มตัวอย่างที่เหลือระบุว่าตนเองเป็นสมาชิก 1 – 3 กลุ่มซึ่งคิดเป็นร้อยละ 12.95
สำหรับประเภทของกลุ่มส่วนตัวบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่กลุ่มตัวอย่างเป็นสมาชิกมากที่สุด 5 อันดับได้แก่ กลุ่มเพื่อนสนิทคิดเป็นร้อยละ 85.32 กลุ่มเพื่อนร่วมงาน/เจ้านาย-ลูกน้องคิดเป็นร้อยละ 82.9 กลุ่มเพื่อนร่วมชั้น/ร่วมวิชาเรียน/ครูอาจารย์-ลูกศิษย์คิดเป็นร้อยละ 80.57 กลุ่มองค์กร/สถาบันที่ตนเรียน/ทำงานอยู่คิดเป็นร้อยละ 77.81 และกลุ่มที่มีความชอบเฉพาะอย่างคิดเป็นร้อยละ 75.3 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.02 ระบุว่าตนเองเป็นสมาชิกกลุ่มครอบครัว/ญาติพี่น้อง อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสี่ในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 83.42 ระบุว่ามีสมาชิกร่วมกลุ่มส่วนตัวบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 16.58 ระบุว่าไม่มี
นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 44.21 ระบุว่าตนเองดูชื่อกลุ่มส่วนตัวบนเครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ก่อนที่จะส่งข้อมูลใดใดเข้าไป ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงประมาณหนึ่งในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 20.12 ระบุว่าตนเองดูชื่อกลุ่มทุกครั้ง โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 23.75 ยอมรับว่าส่วนใหญ่ตนเองไม่ได้ดูชื่อกลุ่มส่วนตัวก่อนส่งข้อมูลใดใดเข้าไป และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 11.92 ยอมรับว่าไม่เคยดูชื่อกลุ่มเลย ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 60.02 ระบุว่าตนเองเคยส่งข้อมูลเข้ากลุ่มส่วนตัว (private group) บนเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เป็นสมาชิกอยู่ผิดกลุ่มบ้างเป็นบางครั้ง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 17.27 ยอมรับว่าตนเองส่งผิดกลุ่มเป็นประจำ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 22.71 ระบุว่าตนเองไม่เคยส่งผิดกลุ่ม และเมื่อเปรียบเทียบสาเหตุการส่งข้อมูลเข้ากลุ่มส่วนตัวบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ผิดกลุ่มระหว่างการไม่ได้ดูชื่อกลุ่มกับการรีบร้อนส่ง กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 55.42 ระบุว่าทั้งสองสาเหตุพอๆกัน โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างมากกว่าหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 27.71 ระบุว่าเพราะการรีบร้อนส่งมากกว่า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 16.87 ระบุว่าเพราะไม่ได้ดูชื่อกลุ่มมากกว่า
ในด้านความรู้สึกและความคิดเห็นต่อการเป็นสมาชิกกลุ่มส่วนตัวบนเครือข่ายสังคมออนไลน์นั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 59.24 รู้สึกกลัวว่าจะมีสมาชิกร่วมกลุ่มส่วนตัวบนเครือข่ายสังคมออนไลน์จะนำข้อมูลส่วนตัวของตนไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น การแอบอ้างทำธุรกรรมต่างๆ การขายสินค้า การหลอกลวง เป็นต้น ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 40.76 ไม่รู้สึกกลัว ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.36 ร้อยละ 59.67 ร้อยละ 58.72 และร้อยละ 56.91 มีความคิดเห็นว่าการเป็นสมาชิกกลุ่มส่วนตัว (private group) หลายๆกลุ่มบนเครือข่ายสังคมออนไลน์จะส่งผลให้มีสมาธิในการทำงาน/การเรียนลดลง ได้พูดคุยกับบุคคลทั่วไปน้อยลง ได้พักผ่อนน้อยลง และมีเวลาทำกิจกรรมทั่วไปในแต่ละวัน เช่น อ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ รับประทานอาหาร น้อยลง ตามลำดับ ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าว