กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--กทม.
ที่ อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานแถลงข่าวการจัดการแข่งขัน Wheelchair Basketball Thailand Open 2001 โดยมีนายอนันต์ ศิริภัสราภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักสวัสดิการสังคม นายสุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ รองเลขาธิการ ฝ่ายเทคนิค สมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย นายณรงค์ ปฏิบัติสรกิจ ประธานมูลนิธิศูนย์มิตรภาพมนุษย์ล้อเอเชีย (ประเทศไทย) ร่วมแถลงข่าว จากนั้นปลัดกรุงเทพมหานครเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารศาลาประชาคมและสนามกีฬาในร่ม (อาคารกีฬาเวสน์ 1 ) ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ซึ่งปรับปรุงใหม่ให้ทันสมัยกว่าเดิม
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สืบเนื่องจากศูนย์เยาวชนกทม .(ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง ได้เปิดให้บริการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2525 ในโอกาสที่กรุงเทพมหานครครบ 200 ปี และจากการที่มีอายุการใช้งานยาวนาน ทำให้อาคารสถานที่ต่างๆ เกิดชำรุดทรุดโทรมต้องทำการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งขณะนี้ได้มีการก่อสร้างอาคารศาลาประชาคมและสนามกีฬาในร่ม (อาคารกีฬาเวสน์) 1 ขึ้นใหม่ที่มีขนาดใหญ่ทันสมัยแทนอาคารเดิม
ทั้งนี้กทม. จะจัดพิธีเปิดอาคารกีฬาเวสน์ 1 อย่างเป็นทางการในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2544 โดยมีนายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน และในวันที่ 21-22 ก.พ.2544 กรุงเทพมหานครร่วมกับสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทยจัดการแข่งขัน Wheelchair Basketball Thailand Open 2001 ซึ่งจะมีการถ่ายทอดสดแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง 11 ตั้งแต่เวลา 15.30 — 18.00 น. สำหรับนักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันมีด้วยกัน 7 ประเทศได้แก่ กัมพูชา ญี่ปุ่น ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และประเทศไทย การจัดการแข่งขันในครั้งนี้เพื่อส่งเสริม ให้กำลังใจนักกีฬาคนพิการที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ อีกทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนชาวไทยได้ชมความสามารถของนักกีฬาคนพิการวีลแชร์บาสเก็ตบอล อันเป็นส่วนหนึ่งที่นักกีฬาคนพิการจะได้แสดงออกถึงศักยภาพของตนเองให้คนในสังคมได้รับรู้ถึงคุณค่า ความสามารถของคนพิการ เป็นการส่งเสริมให้คนพิการได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่นและสามารถที่จะสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้อย่างอเนกอนันต์ นอกจากนี้กรุงเทพมหานครยังได้ประสานงานกับสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทยและมูลนิธิศูนย์มิตรภาพมนุษย์ล้อเอเซีย (ประเทศไทย) จัดการอบรมเทคนิคการเล่นกีฬา Wheelchair Basketball ระหว่างวันที่ 18-20 ก.พ.44 ด้วย
ผู้อำนวยการสำนักสวัสดิการสังคม กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสวัสดิการสังคม ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารศาลาประชาคมและสนามกีฬาในร่ม (อาคารกีฬาเวสน์ 1) ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ขึ้นแทนอาคารเดิมซึ่งมีสภาพชำรุดทรุดโทรม อาคารใหม่นี้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม เพื่อใช้เป็นสนามแข่งขันกีฬาในร่ม โดยจัดสนามตามประเภทกีฬา ดังนี้ 1. บาสเกตบอล 3 สนาม 2. แบดมินตัน 9 สนาม 3. วอลเลย์บอล 4 สนาม นอกจากนั้นยังมีอัฒจันทร์จุผู้ชมได้ 3,874 คน
สำหรับทิศทางในการจัดกีฬานั้น กทม.ได้แบ่งออก 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มนักกีฬาปกติทั่วไป 2. กลุ่มกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ 3. กลุ่มบุคคลด้อยโอกาส เช่น คนพิการ กรุงเทพมหานคร ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรบุคคล ไม่ว่าจะเป็นคนปกติทั่ว ๆ ไปหรือคนพิการ จึงมีการออกแบบอาคารและสาธารณูปโภคต่าง ๆ ในอาคารกีฬาเวสน์ 1 เพื่อเอื้อประโยชน์ทั้งคนปกติและคนพิการ โดยเฉพาะคนพิการนั้น นอกจากการที่นักกีฬาคนพิการสามารถใช้สนาม แข่งขันกีฬาได้เหมือนคนปกติทั่วไปแล้ว สนามกีฬาเวสน์ 1 จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพของคนพิการ และขยายโอกาสการมีส่วนร่วมในสังคมสำหรับคนพิการให้มากยิ่งขึ้น
ด้านเลขาธิการสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย ต้องขอขอบคุณทางกรุงเทพมหานครที่ได้เข้ามาร่วมรับดำเนินการจัดการแข่งขันครั้งนี้ สมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทยมีหน้าที่รับผิดชอบกีฬาทุกชนิดกีฬาในทุกประเภทคนพิการ และมีนโยบายในการส่งเสริมให้มีการจัดตั้งชมรม หรือสมาคมกีฬาแต่ละชนิดกีฬา เช่น การส่งเสริมให้มีชมรมวีลแชร์บาสเกตบอลแห่งประเทศไทยขึ้น สำหรับการจัดการแข่งขันวีลแชร์บาสเกตบอลในครั้งนี้นับว่าเป็นความก้าวหน้าอีกระดับหนึ่งของกีฬาวีลแชร์บาสเกตบอล ซึ่งเป็นกีฬาที่สนุกตื่นเต้นและน่าชมมาก
ประธานมูลนิธิศูนย์มิตรภาพมนุษย์ล้อเอเชีย (ประเทศไทย) กล่าวด้วยว่า ในการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ จำเป็นต้องอาศัยกระบวนการฟื้นฟูที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูโดยทางการแพทย์ การส่งเสริมการศึกษา การฝึกอาชีพ การมีงานทำ การจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ เป็นต้น โดยการฟื้นฟูเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือการทำให้คนพิการได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมและการมีส่วนร่วมในสังคมโดยสมบูรณ์ ตลอดจนให้คนพิการเหล่านี้สามารถพึ่งพาตนเองได้ และสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคม
มูลนิธิศูนย์มิตรภาพมนุษย์ล้อเอเชีย (ประเทศไทย) จัดตั้งขึ้นโดยกำหนดกิจกรรมหลักไว้ 5 ด้านด้วยกัน คือ 1. การส่งเสริมด้านการศึกษา โดยการดำเนินโครงการนำร่องค้นหาคนพิการในท้องถิ่น และโครงการโรงเรียนต้นแบบซึ่งได้ประสานความร่วมมือกับกรุงเทพมหานครโดยจัดที่โรงเรียนสามเสนนอก 2.โครงการสนับสนุนการก่อตั้งและการดำเนินงานของโรงงานผลิตเก้าอี้ล้อเข็นหรือวีลแชร์ โดยร่วมกับสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย 3. กิจกรรมด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับคนพิการให้แก่สังคม 4. กิจกรรมส่วนหนึ่งที่จะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2544 คือการส่งเสริมกีฬาคนพิการ โดยการร่วมมือกับสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย--จบ--
-นห-