สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงห่วงใยปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ

ข่าวทั่วไป Wednesday November 14, 2001 10:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 พ.ย.--กทม.
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร ณ ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร อาคารสำนักการระบายน้ำ ชั้น 6 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง เวลา 16.30 น. เมื่อวานนี้ (13 พ.ย. 44) โดยมี นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสหัส บัณฑิตกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ปลัดกรุงเทพมหานคร เฝ้าฯรับเสด็จ ในวโรกาสนี้ปลัดกรุงเทพมหานครทูลเกล้าฯถวายหนังสือ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกราบบังคมทูลรายงานความเป็นมาของศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร และ นายสหัส บัณฑิตกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กราบบังคมทูลรายงานการปฏิบัติการของศูนย์ควบคุมฯ
จากนั้นเวลา 17.15 น. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังสถานีสูบน้ำพระโขนง เพื่อทอดพระเนตรการเดินเครื่องสูบน้ำ และการทำงานของสถานีสูบน้ำพระโขนง โดยมี นายสหัส บัณฑิตกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางธารินทร์ สงวนเสริมศรี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสนั่น โตทอง รองปลัดกรุงเทพมหานคร เฝ้าฯรับเสด็จ และนายสหัส บัณฑิตกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกราบบังคมทูลรายงานการปฏิบัติการของสถานีสูบน้ำพระโขนง
สำหรับศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานครจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2533 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศูนย์ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2533 ศูนย์ดังกล่าวมีมูลค่าการก่อสร้าง 184.8 ล้านบาท มีสถานีแม่ข่ายและสถานีเครือข่าย 25 แห่ง ตั้งอยู่ ณ ประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำที่สำคัญ ครอบคลุมพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ประมาณ 600 ตารางกิโลเมตร ซึ่งสามารถส่งข้อมูลปริมาณฝน ระดับน้ำ การทำงานของประตูระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำและคุณภาพน้ำไปยังสถานีแม่ข่ายโดยอัตโนมัติผ่านสายโทรศัพท์ และจากการประมวลผลทางเครื่องคอมพิวเตอร์ที่สถานีแม่ข่ายทำให้สามารถทราบสถานการณ์ต่างๆ ในการระบายน้ำและการป้องกันน้ำท่วมได้ทันที ต่อมาปี พ.ศ. 2538 ได้มีการขยายขีดความสามารถของศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม โดยเพิ่มสถานีเครือข่าย ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาอีก 8 สถานี สถานีเครือข่ายฝั่งตะวันตก 17 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ 400 ตารางกิโลเมตร ทำให้มีสถานีเครือข่ายรวม 50 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ทั้งสองฝั่งประมาณ 1,000 ตารางกิโลเมตร นอกจากนี้ยังได้เปลี่ยนระบบส่งข้อมูลจากสายโทรศัพท์เป็นคลื่นวิทยุ เชื่อมข้อมูลเรดาร์จากกรม อุตุนิยมวิทยา มาแสดงผลที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม ใช้งบประมาณ 67 ล้านบาท และต่อมาได้เพิ่มสถานีเครือข่ายอีก 2 แห่ง ปัจจุบันจึงมีสถานีเครือข่ายรวม 52 แห่ง
นอกจากนั้นกรุงเทพมหานครกำลังดำเนินโครงการทำนายน้ำท่วม เนื่องจากน้ำฝนในพื้นที่ฝั่งตะวันออกเพื่อห้สามารถทราบล่วงหน้าประมาณ 6 ชั่วโมง ว่าฝนจะตกบริเวณใด เป็นปริมาณเท่าใด และจะมีน้ำท่วมพื้นที่ใดมากน้อยแค่ไหน ขณะนี้กำลังอยู่ใน ขั้นตอนขออนุมัติประกวดราคา
ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมของกรุงเทพมหานคร เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการในการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วม กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยปฏิบัติตามแนวพระราชดำริที่ได้ทรงพระราชทานอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ด้วยพระเมตตาอันประเสริฐของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อชาวกรุงเทพมหานคร ปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ จุดอ่อนได้รับการป้องกันและแก้ไขจนบรรเทาเบาบางลงไปบ้างแล้ว ยังคงมีบางพื้นที่เท่านั้นที่ยังต้องการการร่วมแรงและสามัคคีของชาวกรุงเทพมหานครที่จะช่วยกันสานต่อแนวพระราชดำริของพระองค์ให้สำเร็จผลยิ่งขึ้นต่อไป
ส่วนสถานีสูบน้ำพระโขนงนั้น เดิมเป็นประตูระบายน้ำอยู่ในความดูแลของกรมชลประทานเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตรและการเดินเรือสัญจร ในปี พ.ศ.2527 กรมชลประทานได้รับงบประมาณจากรัฐบาลและเงินทุนช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อปรับปรุงเป็นสถานีสูบน้ำตามโครงการระบายน้ำทุ่งตะวันออกของกรุงเทพมหานครตามแนวพระราชดำริ ปี พ.ศ.2531 กรมชลประทานได้โอนให้อยู่ในความดูแลและรับผิดชอบของสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร เป็นสถานีสูบน้ำ ที่มีกำลังสูบระบายน้ำที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ในซอยเสาวนิตย์ ห่างจากปากซอยสุขุมวิท 50 ประมาณ 500 เมตร พื้นที่ 16 ไร่ 67 ตารางวา มีหน้าที่หลักในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยการสูบระบายน้ำและควบคุมระดับน้ำในคลองพระโขนงซึ่งเชื่อมต่อกับคลองประเวศ คลองแสนแสบ และคลองลาดพร้าว รับและระบายน้ำฝน น้ำทิ้งจากชุมชนในเขตพระโขนง บึงกุ่ม วัฒนา คลองเตย มีนบุรี หนองจอก ประเวศ ลาดกระบัง ห้วยขวาง และลาดพร้าว รวมพื้นที่รับผิดชอบ 360 ตารางกิโลเมตร การถ่ายเทน้ำในคลองพระโขนงเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเท่าเสียในคลองชั้นในของกรุงเทพมหานคร ตลอดจนการเตรียมการและปฏิบัติการควบคุมการเดินเครื่องสูบน้ำ ควบคุมการปิด-เปิดประตูระบายน้ำ และประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม
สำหรับการดำเนินการด้านการระบายน้ำของสถานีสูบน้ำพระโขนง ในช่วงฤดูแล้ง จะรักษาระดับน้ำด้านในให้ต่ำกว่าระดับน้ำในคลองเล็กน้อยเพื่อใช้ในการเกษตร และมีการถ่ายเทน้ำเสียจากคลองผดุงกรุงเกษมผ่านคลองแสนแสบเข้าคลองพระโขนง เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำในคลองพื้นที่เขตชั้นในเน่าเสีย ส่วนช่วงฤดูฝน จะทำการเดินเครื่องสูบน้ำเพื่อระบายน้ำและลดระดับน้ำในคลอง เพื่อให้มีที่ว่างสำหรับปริมาณความจุในการรองรับน้ำฝน กรณีช่วงฤดูฝนและน้ำทะเลหนุน จะควบคุมระดับน้ำให้อยู่ระดับ 34.00-34.30 ม. กทม. รวมทั้งระดับน้ำในทุ่งตะวันออกด้วย โดยจะเดินเครื่องสูบน้ำทั้งหมด 50 เครื่อง หมุนเวียนกัน และป้อนน้ำจากทุ่งตะวันออกลงมาให้ทันกับการเดินเครื่องสูบน้ำ ผ่านทางประตูระบายน้ำกระทุ่มเสือปลา และประตูระบายน้ำตามแนวคันกั้นน้ำใน พระราชดำริ--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ