กรุงเทพฯ--2 ก.พ.--สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
เมื่อเร็วๆนี้ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) ครั้งที่ 1/2559 โดยมีผู้บริหารระดับสูงขององค์กรบริหารจัดการงานวิจัยของประเทศซึ่งเป็นสมาชิก คอบช. ประกอบด้วย ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) น.ส.กุลวรา โชติพันธุ์โสภณ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) น.ส.สุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ร่วมประชุม โดยมี นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นประธานที่ประชุม ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ผู้บริหารได้ร่วมวางแผนขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดยมีแนวทางการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศต่อไป
นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า การสร้างงานวิจัยที่จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยเพื่อลดการนำเข้าหรือเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันการส่งออก สิ่งสำคัญต้องมีการเชื่อมโยงผลลัพธ์งานวิจัยโดยมองภาพรวมของการพัฒนาอย่างรอบด้าน รวมทั้งต้องมีกระบวนการต่อยอดงานวิจัยให้ไปถึงการใช้ประโยชน์ คอบช. นับเป็นกลไกสำคัญหนึ่งของการขับเคลื่อนงานวิจัย ด้วยการทำงานที่เน้นการบูรณาการ ลดความซ้ำซ้อนทั้งด้านทรัพยากรและประเด็นการทำงานได้อย่างดี ทั้งนี้ งานวิจัยด้านสุขภาพ ในส่วนที่สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศได้ เช่น วิจัยสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย วิจัยยาที่ใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบัน ฯลฯ ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญของการพัฒนาสู่ระดับโลกได้
ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า หลังจากนี้ไปประเทศไทยจะมีงานวิจัยเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลผลิตจากโครงการวิจัยมุ่งเป้าภายใต้การบริหารจัดการงานวิจัยร่วมกับของ คอบช. ซึ่งงานวิจัยที่เพิ่มขึ้นนั้นมีความสำคัญทั้งที่เป็นวาระชาติ และเป็นโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ คอบช. ต้องหาแนวทางการทำงานเพื่อรองรับความท้าทาย ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพงานวิจัยให้มากขึ้น โดยเสนอให้มีการปรับปรุงระบบการทำงานร่วมกัน อาทิเช่น ระบบการประชุมผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานเพื่อเชื่อมประสานการทำงานให้เกิดความต่อเนื่องและเร่งขับเคลื่อนการสนับสนุนทุนวิจัย การร่วมค้นหาโจทย์วิจัยเพื่อแก้ปัญหาประเทศ โดยบูรณาการการทำงานทั้งเชิงการร่วมคิดและร่วมทำ การขยายเครือข่ายสมาชิก คอบช. ให้กว้างขึ้น ทั้งหมดภายใต้การขับเคลื่อนงานวิจัย สู่เป้าหมายสร้างการเปลี่ยนแปลงของประเทศ โดยเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ
น.ส.สุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตามที่คณะกรรมการกำกับโครงการวิจัยท้าทายไทย ได้พิจารณาและเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการทุนโครงการท้าทายไทยและโครงการวิจัยเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลตามวาระแห่งชาติซึ่งเน้นโจทย์วิจัยที่ท้าทายต่อการพัฒนาประเทศในเรื่องสำคัญๆ โดยระหว่างนี้ วช. ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการบริหารจัดการโครงการท้าทายไทย กำลังพิจารณารูปแบบการบริหารจัดการโครงการที่เหมาะสมกับการขับเคลื่อนงานวิจัยที่มีผลกระทบสูงต่อการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศได้อย่างแท้จริง ซึ่ง คอบช. จะเป็นเครือข่ายการทำงานที่สำคัญในการร่วมขับเคลื่อนโครงการฯให้เป็นระบบและเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวถึงการดำเนินงาน ภายใต้การขับเคลื่อนของ คอบช. ในเรื่องแนวทางการใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเสริมสร้างความสามารถการแข่งขันใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (New Engine of Growth) ของประเทศ ซึ่งมีกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยขับเคลื่อนหลักนั้น ได้ดำเนินการรวบรวมงานวิจัยจากหน่วยงานสมาชิก คอบช. ที่มีความสอดคล้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าว โดยรวมได้ทั้งสิ้น 407 โครงการ แบ่งเป็น 5 อุตสาหกรรมเดิมที่ศักยภาพ (First S-curve) 222 โครงการ ในจำนวนนี้ 129 โครงการ เป็นโครงการวิจัยในอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และใน 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) มี 185 โครงการ ในจำนวนนี้ 73 โครงการ เป็นโครงการวิจัยในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
ทั้งนี้ ในด้านการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ที่ประชุมเสนอแนวทางสำคัญๆ ไว้ ดังนี้ 1) การประสานให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาควิชาการกับภาคเอกชน ตลอดจนหน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกำหนดความต้องการใช้ประโยชน์ตั้งแต่ต้นทาง โดยเริ่มจากการกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศที่ควรจะเป็น การวิเคราะห์ช่องว่างการพัฒนา ที่จะสร้างงานวิจัยมาอุดช่องว่างหรือเติมเต็มการพัฒนานั้นได้อย่างไรต่อไป 2) จัดลำดับความสำคัญและสถานะงานวิจัยที่จะนำไปใช้ประโยชน์ พร้อมๆกับการเติมเต็มองค์ความรู้ที่ยังขาดอยู่ เพื่อผลักดันไปสู่การใช้ประโยชน์ในระดับต่างๆ 3) สร้างโอกาสและช่องทางสื่อสารระหว่างผู้ผลิตงานวิจัยและผู้ใช้ประโยชน์ เพื่อให้เกิดการนำเสนอผลงานวิจัยและการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เช่น งานแสดงผลงานวิจัย งานสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การเผยแพร่หรือถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านสื่อหรือช่องทางต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้ สิ่งที่ คอบช. จะเร่งดำเนินการในขณะนี้ก่อน คือ การสังเคราะห์งานวิจัยที่มีโอกาสใช้ประโยชน์ได้สูง เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการผลักดันการใช้ประโยชน์ โดยส่วนหนึ่งจะจัดทำเป็นข้อเสนอเพื่อการปฏิรูประบบวิจัยเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติต่อไปนอกจากนั้น คอบช. ยังร่วมกันเชื่อมโยงข้อมูลงานวิจัยเข้าสู่ระบบ NRMS ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลงานวิจัยที่สำคัญของประเทศต่อไป