กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--ปตท.
ฯพณฯ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือการซื้อขายก๊าซธรรมชาติ ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ บมจ. ปตท. กับกลุ่มผู้ผลิตก๊าซฯ รวม 3 ฉบับ
สัญญาฉบับที่หนึ่งและสองเป็นการลงนาม ระหว่าง บมจ.ปตท. กับ กลุ่มผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติแหล่งเอราวัณ (ยูโนแคล 1) และแหล่งยูโนแคล 2 และ 3 ได้แก่ บริษัท ยูโนแคล ประเทศไทย บริษัท มิตซุยออยล์ เอ็กซพลอเรชั่น จำกัด และ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) สำหรับสัญญาฉบับที่สามเป็นการลงนามระหว่าง บมจ.ปตท. กับ กลุ่มผู้ผลิตก๊าซฯ แหล่งทานตะวัน/เบญจมาศ ซึ่งประกอบด้วย บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไทยโป จำกัด บริษัท B8/32 Partner และ บริษัท พลังโสภณ จำกัด ทั้งนี้ ข้อตกลงซื้อขายก๊าซธรรมชาติดังกล่าวทำให้ประเทศไทยสามารถประหยัดค่าก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณและแหล่งยูโนแคล 2 และ 3 จำนวน 638 ล้านบาท และแหล่งทานตะวัน/เบญจมาศ (B 8/32) ประมาณ 512 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมส่วนที่รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นจากภาษีและเงินได้อื่นๆ จากแหล่งทานตะวัน/เบญจมาศ อีกประมาณ 1,106 ล้านบาท รวมเป็นมูลค่าที่ประหยัดได้จากค่าก๊าซธรรมชาติและผลประโยชน์ของรัฐที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนทั้งสิ้น 2,256 ล้านบาท
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ความสำเร็จจากการตกลงซื้อขายก๊าซธรรมชาติครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สอง ภายหลังจากที่ประสบความสำเร็จในการเจรจากับกลุ่มผู้ผลิตแหล่งบงกชเป็นรายแรกไปแล้ว ซึ่งเป็นผลจากการเจรจาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยยังคงมีเหลืออยู่เพียงพอสำหรับการจัดสรรให้แก่ผู้ผลิตก๊าซในอ่าวไทย โดยได้วางแผนใช้ก๊าซฯ จากสหภาพพม่าอย่างเต็มที่แล้วเช่นกัน จึงได้มีการเจรจาเพื่อจัดสรรก๊าซฯ ส่วนที่เหลือให้แก่ผู้ผลิตก๊าซฯ ในอ่าวไทย บนหลักการผลประโยชน์ร่วมของทุกฝ่าย ทั้งนี้ ปตท.จะนำส่วนที่ประหยัดได้จากการเจรจาครั้งนี้ไปใช้ในการลดราคาก๊าซฯ ให้แก่ภาคการผลิตไฟฟ้าและอุตสาหกรรมต่อไป นอกจากนี้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นของภาครัฐประมาณ 1,106 ล้านบาทยังสามารถนำไปใช้จัดสรรในการแก้ปัญหาภาคเศรษฐกิจโดยรวมได้ด้วย
ทางด้านนายวิเศษ จูภิบาล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. เปิดเผยว่า สาระสำคัญของข้อตกลงกับกลุ่มผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติแหล่งเอราวัณและยูโนแคล 2 และ 3 นั้น เป็นการรับซื้อก๊าซฯ ตามปริมาณที่ซื้อในสัญญา คือ 18.3 พันล้านลูกบาศก์ฟุตของช่วงการซื้อ-ขาย 15 เดือน คือ ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2544 — เดือนกันยายน 2545 ซึ่งจะสามารถประหยัดเงินค่าก๊าซธรรมชาติได้ 638 ล้านบาท
ส่วนข้อตกลงกับผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติแหล่งทานตะวัน/เบญจมาศเป็นการจัดสรรก๊าซธรรมชาติส่วนที่เหลือจากแหล่งยูโนแคล 1-3 และที่จะไปทดแทนแหล่งอื่นในอ่าวไทยที่มีราคาสูงกว่าในปริมาณ 56 พันล้านลูกบาศก์ฟุตเป็นระยะเวลา 29 เดือน คือ ระหว่างเดือนตุลาคม 2544 — เดือนกุมภาพันธ์ 2547 ซึ่งจะสามารถประหยัดเงินได้ประมาณ 512 ล้านบาทการเจรจาข้อตกลงความร่วมมือซื้อขายก๊าซธรรมชาติในครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการแบ่งเบาภาระของภาคเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับค่าเงินบาทอ่อนตัว นอกจากนี้ รัฐยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากภาษีและเงินได้อื่นอีกรวม 1,106 ล้านบาท อนึ่ง ปัจจุบันประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติประมาณวันละ 2,300 ล้านลูกบาศก์ฟุต เทียบเท่าการใช้น้ำมันประมาณ 400,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งเท่ากับร้อยละ 30 ของการใช้พลังงานรวมของประเทศทั้งหมด โดยร้อยละ 80 ของก๊าซธรรมชาตินำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า นอกจากก๊าซธรรมชาติจะมีราคาต่ำกว่าน้ำมันเตาแล้ว ยังเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาด และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเชื้อเพลิงปิโตรเลียมอื่นอีกด้วย--จบ--
-สส-