กรุงเทพฯ--3 ก.พ.--ธนาคารกสิกรไทย
ลีสซิ่งกสิกรไทย ชี้ตลาดรถยนต์ ปี 59 โอกาสที่ยอดขายจะหดตัว 4-8% หวังโครงการภาครัฐ การท่องเที่ยว และการปลดล็อกภาษีรถยนต์คันแรกในปีนี้เป็นปีแรกหลังถือครบ 5 ปี ผู้ซื้อจะเปลี่ยนรถใหม่ช่วยกระตุ้นตลาด สำหรับปี 58 ปล่อยกู้ได้ 7.2 หมื่นล้าน เพิ่ม 19% กำไร 655 ล้านบาท โต 31%
นายทวี ธีระสุนทรวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ผลประกอบการของบริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด ในปี 2558 สามารถปล่อยสินเชื่อได้ 72,704 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 19.13% แบ่งเป็นสินเชื่อใหม่เช่าซื้อและลีสซิ่ง 31,046 ล้านบาท ลดลง 7.62% และสินเชื่อผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ (Floorplan) 41,658 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51.91% สำหรับยอดสินเชื่อคงค้าง (Outstanding Loan) มียอดรวม 88,671 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 1.24% ซึ่งสอดคล้องกับสภาพตลาดรถยนต์โดยรวมที่มียอดขายลดลงจากปี 2557 ทั้งนี้บริษัทมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 1.50% ส่งผลให้บริษัทมีกำไร 655 ล้านบาท เติบโต 31.4%
สำหรับสถานการณ์ตลาดรถยนต์ปี 2559 คาดว่าจะอยู่ในภาวะทรงตัวเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยมีโอกาสที่จะเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงหดตัว 4-8% หรือคิดเป็นยอดขายประมาณ 735,000 ถึง 765,000คัน ด้านแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2559 บริษัทเน้นทำการตลาดในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพ เช่น กลุ่มรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ (Big Bike) และกลุ่มรถกระบะ รถบรรทุก รวมทั้งการร่วมมือทางการตลาดระหว่างบริษัทคู่ค้าและพันธมิตร โดยบริษัทตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อใหม่และลีสซิ่งไว้ที่ 73,744 ล้านบาท ซึ่งจะทำบริษัทมียอดสินเชื่อคงค้างราว 91,950 ล้านบาท ตั้งเป้าสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไว้ไม่เกิน 1.91% และกำไรปี 2559 ประมาณ 728 ล้านบาท
ทั้งนี้ ปัจจัยบวกสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ในปีนี้ ได้แก่ การลงทุนภาครัฐที่จะเดินหน้ามากขึ้นซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับผู้บริโภคส่วนหนึ่ง ภาคการท่องเที่ยวก็ยังคงมีแนวโน้มสดใส อีกทั้งการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ที่จะเกิดขึ้น โดยค่ายรถยนต์น่าจะมีการใช้กลยุทธ์กระตุ้นยอดขายที่ยังอยู่ในภาวะซบเซาต่อเนื่องไปอีกปี นอกจากนี้รถจากโครงการรถยนต์คันแรกเริ่มปลดล็อกในปีนี้เป็นปีแรก ทำให้ผู้ซื้อรถที่มีศักยภาพมีโอกาสเปลี่ยนรถใหม่ได้และจะเป็นช่วงจังหวะการซื้อที่ดี โดยค่ายรถและลีสซิ่งต่าง ๆ น่าจะมีการนำเสนอโปรโมชั่นส่งเสริมการตลาดออกมากระตุ้นการซื้อมากยิ่งขึ้น
สำหรับตลาดรถมือสองปี 2559 มีโอกาสกลับมาขยายตัวได้อีก ตามความต้องการที่น่าจะเพิ่มขึ้น หลังรถยนต์ใหม่ส่วนใหญ่มีการปรับราคาขึ้นตามอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ ยกเว้นในกลุ่มรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่ราคาไม่ปรับขึ้นและมีบางรุ่นปรับลดลง โดยความต้องการรถมือสองที่เพิ่มขึ้นจะสวนทางกับปริมาณรถมือสองคุณภาพดีที่จะเข้าสู่ตลาดน้อยลง แม้อาจจะมีเจ้าของรถโครงการรถยนต์คันแรกที่จะถูกปลดล็อคในปีนี้เป็นปีแรก หลังถือครองครบ5 ปี มีการขายรถเก่าเพื่อเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่ก็ตาม ทว่าเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคยังมีความไม่แน่นอนสูงและราคารถยนต์ใหม่ปรับขึ้น อาจจะทำให้ผู้บริโภคบางคนเลือกที่จะถือครองรถคันเดิมต่อไปก่อน
ส่วนตลาดรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ในปี 2558 มียอดจดทะเบียน 55,658 คัน ขยายตัวกว่า 14% จากปี2557 ซึ่งทิศทางในปี 2559 นี้ ก็ยังมีโอกาสขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจากความนิยมที่ยังคงมีอยู่สูง ขณะที่มีรถใหม่เปิดตลาดออกมาอย่างต่อเนื่อง ผู้ซื้อยังเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ จึงได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจไม่มาก ขณะที่การกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวในประเทศไปยังพื้นที่ใหม่ ๆ ในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น น่าจะเป็นปัจจัยกระตุ้นตลาด ส่งผลให้ยอดขายรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ในปี 2559 มีโอกาสขยายตัวต่อได้ในตัวเลขสองหลัก
นายทวี กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย ที่ในช่วงหลายปีก่อนสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เคยมีบทบาทค่อนข้างมาก แต่ในปี 2559 น่าจะเติบโตอย่างจำกัดเนื่องจากอยู่ในภาวะพักฐานสอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ที่ยังคงหดตัวลง ทั้งนี้ แม้ว่าสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีจะมีแนวโน้มขยับขึ้น แต่การเติบโตของหนี้ครัวเรือนไทยได้ชะลอความร้อนแรงลงเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีตจากหลายปัจจัยกดดันทั้งจากฝั่งอุปสงค์และอุปทาน ไม่ว่าจะเป็นภาระหนี้สะสมซึ่งอยู่ในระดับสูง ความเชื่อมั่นในการก่อหนี้ใหม่ของภาคครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มที่มีหนี้สะสมไม่สูงนักยังผูกโยงกับความต่อเนื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และสถาบันการเงินคงใช้นโยบายเครดิตที่ระมัดระวังต่อเนื่องจากปี 2557-2558