กรุงเทพฯ--3 ก.พ.--กรมประมง
"ปลาช่อน" จัดเป็นปลาน้ำจืดอีกชนิดที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจของประเทศไทยพบอาศัยอยู่แหล่งน้ำจืดทั่วประเทศ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หนองบึง และเนื่องจากปลาช่อนเป็นปลาที่มีรสชาติดีก้างน้อย สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด จึงทำให้ปลาช่อนได้รับความนิยมแพร่หลายในตลาดของผู้บริโภค
นายสนธิพันธ์ ผาสุขดี ผอ.กองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมงได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยเกษตร จัดโครงการพัฒนาการเพาะเลี้ยงปลาช่อนให้กับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร โดยมีการจัดทีมนักวิจัยจากกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ลงพื้นที่นำความรู้ในเรื่องของเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไปถ่ายทอดให้กับเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายซึ่งก็ถือว่า โครงการดังกล่าวได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี เกษตรกรส่วนใหญ่สามารถเพาะเลี้ยงปลาช่อนเป็นรายได้หลักในการหาเลี้ยงครอบครัวได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับโครงการนี้เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือและการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน เช่น กรมพัฒนาที่ดินที่ขุดบ่อเลี้ยงปลาให้ อบต.ได้มีการของบสร้างโรงเพาะฟักขนาดเล็กรวมทั้งยังได้ของบในการสร้างบ่อเพาะไรแดงเพื่อที่จะนำมาเป็นอาหารในการอนุบาลปลา รวมถึงกรมทรัพยากรน้ำบาดาลที่มีการจัดสรรปริมาณน้ำให้เกษตรกรมีน้ำเพียงพอในการใช้งาน ทำให้มีแนวโน้มในการขายรวมถึงการขยายผลผลิตให้เพิ่มมากขึ้นต่อไปได้
กองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดในฐานะหน่วยงานหลักของกรมประมงที่รับผิดชอบดูแลโครงการดังกล่าว ได้มีการคัดเลือกทีมนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ให้เข้ามาช่วยในการถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นการสาธิตวิธีการฉีดฮอร์โมนปลาช่อน การอนุบาลลูกปลาที่ถูกต้องรวมไปถึงเรื่องของการบริหารจัดการคุณภาพน้ำและโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับสัตว์น้ำ นอกจากนี้ได้มีการแนะนำให้เกษตรกรโดยเฉพาะเกษตรกรที่เลี้ยงปลาช่อนให้มีการเลี้ยงปลาสลับชนิดพันธุ์กันเนื่องจากโรคสัตว์น้ำบางชนิดจะเกิดกับขึ้นกับปลาเกล็ด บางชนิดจะเกิดขึ้นกับปลาหนัง ดังนั้นจึงควรเลี้ยงสลับกันไปเพื่อเป็นการตัดวงจรโรคที่อาจจะเกิดขึ้น
นายวินัย จั่นทับทิม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมนักวิจัย
ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าการฝึกอบรมเกษตรกรในโครงการได้มีการแนะนำข้อมูลความรู้ถ่ายทอดให้กับเกษตรกรอย่างละเอียด โดยในการเลี้ยงปลานั้นจะแนะนำให้เกษตรกรเลี้ยงปลาช่อน 2 รุ่น รุ่นละ 4 เดือน หลังจากนั้น ให้เลี้ยงปลาชนิดอื่น เช่นปลานิล สลับกันไปมาเพื่อเป็นการตัดวงจรการเกิดโรคปลาช่อน อีกทั้งยังแนะนำให้เกษตรกรมีบ่อพักน้ำบำบัดด้วยพืชน้ำหมุนเวียน เพื่อนำน้ำกลับมาใช้ได้ใหม่อีกด้วย ปัจจุบันถือว่าผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ เกษตรกรสามารถบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี ทั้งในเรื่องการเพาะเลี้ยงปลาช่อนและการบริหารจัดการน้ำ ปัจจุบันเกษตรกร รุ่นที่ 1 ที่ผ่านการอบรม สามารถเพาะพันธุ์ปลาช่อนได้แล้วจำนวน 2 รุ่นและจำหน่ายลูกพันธุ์ให้กลุ่มสมาชิกราคาตัวละ 50 สตางค์ หรือขายให้เกษตรกรทั่วไปราคาตัวละ 1.50 บาท
ผอ.สนธิพันธ์กล่าวในตอนท้ายว่า ทางกรมประมงโดยอธิบดีกรมประมง ดร.วิมล จันทรโรทัย ท่านมีนโยบายในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในประเทศ ให้ประชาชนทุกระดับมีสัตว์น้ำไว้กินไว้ใช้ รวมถึงการสร้างอาชีพให้กับประชาชนได้มีรายได้หาเลี้ยงครอบครัว โครงการนี้ฯ จึงเป็นโครงการที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากเกษตรกร เนื่องจากเกษตรกรสามารถเพาะพันธุ์ลูกปลาได้เองไม่ต้องซื้อลูกพันธุ์ปลามาเลี้ยง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการเลี้ยงต่ำลง นอกจากนี้กรมประมงได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการลดต้นทุนอาหาร โดยได้ดำเนินการของบประมาณในการขอทุนวิจัยสูตรอาหารที่ใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นในการนำมาผสมเป็นอาหาร อาทิ กากน้ำตาลหรือมันสำปะหลัง เพื่อเป็นการช่วยลดต้นทุนให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาช่อนต่อไปในอนาคต