กรุงเทพฯ--4 ก.พ.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
เมื่อวันที่ ๑ ก.พ. ๕๙ เวลา ๑๑.๐๐ น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานการประชุมหารือเกี่ยวกับโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามเส้นทางโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน
โดยมีนายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และนางอุบลวรรณ สืบยุคล รักษาการผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
พลตำรวจเอก อดุลย์ เปิดเผยว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยการเคหะแห่งชาติ (กคช.) จัดทำแผนแม่บท การพัฒนาที่อยู่อาศัย ตามเส้นทางโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี( 2559-2568) เพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยรองรับผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง (Mixed Income) ที่ต้องการที่อยู่อาศัยใกล้เส้นทางรถไฟฟ้า ซึ่งสะดวกในการเดินทางไปยังที่ทำงานและสถานที่ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ทำให้ประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านค่าครองชีพและพลังงานของชาติ โดยการพัฒนาพื้นที่จะใช้รูปแบบผสมผสาน(Mixed Use) ระหว่างพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่พาณิชยกรรม ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเน้นกลุ่มเป้าหมาย(Target Group) กลุ่มผสมระหว่างรุ่น (Mixed Generation) เช่น ผู้สูงอายุ คนทำงาน และคนรุ่นใหม่ เป็นต้น
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า การบริหารจัดการโครงการดังกล่าว กคช. ได้ศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ ถึงกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดินในลักษณะ Highest and Best โดยแบ่งแหล่งที่มาของที่ดินเป็น 3 แหล่ง
ประกอบด้วย ที่ดินของ กคช. ที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และที่ดินของภาคเอกชน เพื่อกำหนดโมเดลและแนวคิดเป็นต้นแบบของโครงการ โดยคำนึงถึงผลกระทบทางด้านสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เป็นสำคัญ ทั้งช่วงก่อน ระหว่าง และหลังพัฒนาโครงการ ทั้งนี้ ความเป็นไปได้ของการดำเนินโครงการเชิงลึก มีจำนวน 7 พื้นที่ ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายเร่งด่วน ในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าของรัฐบาล สำหรับพื้นที่โครงการนำร่องดังกล่าว ประกอบด้วย 1) ที่ดินของ กคช. มี 4 พื้นที่ ได้แก่ บริเวณพื้นที่ลำลูกกา คลอง 2 ประชานิเวศน์ 3 เคหะบางปู และเคหะ ร่มเกล้า และ 2) ที่ดินของ รฟม. มี 3 พื้นที่ ได้แก่ บริเวณพื้นที่จอดแล้วจร มีนบุรี และบางปิ้ง และบริเวณสถานีศูนย์ซ่อมคลองบางไผ่
"ทั้งนี้ ในส่วนพื้นที่โครงการนำร่องของที่ดิน กคช. จะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ ๔,๐๐๐ หน่วย คาดว่าจะให้ แล้วเสร็จภายใน ๑-๒ ปี ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียดโครงการ นอกจากนี้ การประชุมครั้งนี้ ตนได้มอบหมายให้ กคช. เร่งดำเนินการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวเพื่อนำสู่การปฏิบัติโดยเร็ว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนต่อไฟป" พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวในตอนท้าย