กรุงเทพฯ--4 ก.พ.--มรภ.สงขลา
อาจารย์ มรภ.สงขลา วิทยาเขตสตูล คว้ารางวัลบทความวิจัยดีเด่น ม.เกษตร จากการศึกษานำน้ำทิ้งในโรงงานปาล์มน้ำมัน มาเป็นวัตถุดิบผลิตเชื้อราฆ่าแมลง ช่วยลดปริมาณของเสีย ปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค
ดร.วนิดา เพ็ชร์ลมุล อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) วิทยาเขตสตูล เปิดเผยถึงงานวิจัยเรื่อง "การประยุกต์ใช้สถิติแบบพื้นผิวตอบสนองในการหาสภาวะที่เหมาะสมของการผลิตเชื้อราบิวเวอเรียในน้ำทิ้งหลังผลิตไฮโดรเจนซึ่งเป็นของเสียจากโรงงานปาล์ม" ซึ่งได้รับรางวัลบทความวิจัยดีเด่นสาขาวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่า เนื่องจากอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันในภาคใต้เติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดวัสดุเศษเหลือจากโรงงานอุตสาหกรรมอย่างหลากหลายและมีปริมาณมาก งานวิจัยนี้จึงศึกษาเกี่ยวกับการนำวัสดุเศษเหลือเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยใช้น้ำทิ้งหลังผลิตไฮโดรเจน ซึ่งเป็นของเสียแบบของเหลวในโรงงาน มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตเชื้อราฆ่าแมลง นั่นก็คือ เชื้อราบิวเวอเรีย ที่มีฤทธิ์ในการฆ่าแมลงตามวิธีการควบคุมแมลงศัตรูพืชแบบชีววิธี
ดร.วนิดา กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้ทำงานส่งเสริมงานด้านเกษตรและสิ่งแวดล้อม อันจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เพราะการใช้เชื้อราบิวเวอเรียสำหรับฆ่าแมลง ก่อให้เกิดความปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภคพืชผักทางการเกษตร ทั้งยังช่วยลดปริมาณของเสียจากโรงงานที่จะก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม โดยนำของเสียจากโรงงานมาใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างมูลค่า เป็นการส่งเสริมการทำเกษตรแบบปลอดสารพิษ ส่วนการต่อยอดงานวิจัยจากนี้คือ การศึกษาอายุการเก็บรักษา การพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ มีบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อยืดอายุการใช้งานของเชื้อราชนิดนี้ให้ยาวนานยิ่งขึ้น