กรุงเทพฯ--5 ก.พ.--กรมประมง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คุมเข้มรับนโยบายรัฐบาล ป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) รวมทั้งอนุรักษ์ทรัพยากรและเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในอ่าวไทย เตรียมประกาศปิดอ่าวไทย : ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ฯระหว่างวันที่ 15 ก.พ. – 15 พ.ค. นี้ โดยให้กรมประมงเน้นดำเนินการอย่างเข้มงวดตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งมีมาตรการที่เข้ม รัดกุมและบทลงโทษที่ค่อนข้างรุนแรงเป็นไปตามหลักสากล...หากพบการกระทำผิดให้จับกุมทันที ไม่มีผ่อนผัน
นายวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงเตรียมจัดพิธีประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ ในฤดูปลาที่มีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวในวัยอ่อน ฝั่งทะเลอ่าวไทย (ปิดอ่าว) ประจำปี 2559 (วันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 15 พฤษภาคม 2559 รวม 3 เดือน) พื้นที่ประมาณ 26,400 ตารางกิโลเมตร ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี โดยกำหนดห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิด ที่อาจส่งผลต่อการแพร่ขยายพันธุ์ของพ่อแม่พันธุ์และสัตว์น้ำวัยอ่อนในท้องทะเลอ่าวไทย โดยเฉพาะ "ปลาทู" ซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่มีคุณค่าและความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศที่จำเป็นจะต้องดูแลรักษาทรัพยากรเหล่านี้ให้มีอยู่อย่างยั่งยืน ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ 24 มกราคม 2550
สำหรับเครื่องมือทำการประมงที่ห้ามตามประกาศฉบับนี้ ได้แก่
(1) เครื่องมืออวนลากทุกชนิดที่ใช้ประกอบกับเรือกล ยกเว้นเครื่องมืออวนลากที่ใช้ประกอบกับเรือกลลำเดียวที่ความยาวเรือไม่เกิน 16 เมตร ให้ทำการประมงได้เฉพาะในเวลากลางคืน (ตั้งแต่เวลาระหว่างพระอาทิตย์ตกและพระอาทิตย์ขึ้น)
(2) เครื่องมืออวนติดตาที่ใช้ประกอบกับเรือกลทำการประมงด้วยวิธีล้อมติดปลาทูหรือด้วยวิธีอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน
(3) เครื่องมืออวนติดตาทุกชนิดที่ใช้ประกอบกับเรือกลทำการประมง ยกเว้น
ก. เครื่องมืออวนติดตาที่ใช้ประกอบกับเรือกลที่วางเครื่องกลางลำไม่มีเก๋ง (หลังคา) ขนาดความยาวเรือไม่เกิน 14 เมตร หรือการใช้เครื่องมืออวนติดตาที่ใช้ประกอบกับเรือยนต์เพลาใบจักรยาว
ข. เครื่องมืออวนติดตาที่ใช้ประกอบกับเรือกลและเครื่องมือกว้าน ช่วยในการทำการประมงโดยใช้อวนที่มีขนาดความลึกอวนไม่เกิน 70 ช่องตาอวน ความยาวอวนตั้งแต่ 4,000 เมตร ลงมาในขณะทำการประมงแต่ละครั้ง ทำการประมงในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 15 เมษายน ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม ของทุกปี .
กรณีใช้อวนตามข้อ ข. วรรคแรกซึ่งมีความยาวอวนเกินกว่า 4,000 เมตร ขึ้นไป ในขณะทำการประมงในแต่ละครั้ง ห้ามใช้เครื่องมือกว้านช่วยในการทำการประมง การนับความยาวอวนให้นับความยาวอวนทั้งหมดรวมกันขณะทำการประมง
(4) เครื่องมืออวนล้อมจับทุกชนิดที่ใช้ประกอบกับเรือกลทำการประมง
(5) เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยก ที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
(เครื่องปั่นไฟ) ทำการประมงปลากะตัก
(6) เครื่องมืออวนรุนที่ใช้ประกอบกับเรือกลที่มีขนาดความยาวเรือเกินกว่า 14 เมตรขึ้นไป
ในการวัดขนาดความยาวของเรือกลที่ใช้ประกอบกับเครื่องมือทำการประมง ตามความในประกาศนี้ให้ใช้วิธีการวัดขนาดความยาวเรือตลอดลำ (Length Over All) หรือ (L.O.A.) คือ วัดความยาวเรือทั้งหมด วัดสุดหัวถึงสุดท้าย
บทกำหนดโทษ ผู้ใดฝ่าฝืน ต้องระวางโทษ
1. ปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า
2. ใช้เรือขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงยี่สิบตันกรอสต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาท ถึง
หนึ่งแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า
3. ใช้เรือขนาดตั้งแต่ยี่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหกสิบตันกรอสต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึง
ห้าแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า
4. ใช้เรือตั้งแต่ขนาดหกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้า
แสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดสูงกว่า
5. ใช้เรือขนาดตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าล้านบาทถึงสามสิบล้านบาท
หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดสูงกว่า
และต้องรับโทษตามมาตรการทางปกครอง ดังนี้
1. ยึดสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมงนั้นหรือเครื่องมือทำการประมง
2. ห้ามทำการประมงจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง
3. สั่งพักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดครั้งละไม่เกินเก้าสิบวัน โดยจะสั่งห้ามมิให้ใช้เรือประมงนั้นจนกว่า จะ
สิ้นระยะเวลาการพักใช้ใบอนุญาตด้วยก็ได้
4. เพิกถอนใบอนุญาต และประกาศให้เรือประมงนั้นเป็นเรือที่ใช้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
5. กักเรือประมงหรือสั่งให้วางประกัน ในกรณีเรือประมงที่กระทำความผิดเป็นเรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทย
ทั้งนี้ ในการตรวจตราและเฝ้าระวังการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) อย่างเข้มข้น โดยขณะนี้มีการทำแผนลาดตระเวนอย่างละเอียดตลอด 24 ชั่วโมง ในทุกพื้นที่ปิดอ่าวฯ และหากพบการกระทำผิดจะเข้าจับกุมทันที โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายต่างๆ อาทิ ประมงอาสา ฅนเฝ้าทะเล ยุวประมง ฯลฯ ในการช่วยเป็นหูเป็นตาแทนเจ้าหน้าที่ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีและเป็นผลพวงของความสำเร็จจากการปลูกจิตสำนึกให้แก่ประชาชนในพื้นที่ให้เกิดความตระหนัก รักและหวงแหนในทรัพยากรพื้นถิ่นของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงระยะเวลาระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 15 พฤษภาคมของทุกปี จากข้อมูลการศึกษาวิจัยพบว่า ในท้องทะเลบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี เป็นช่วงเวลาที่พ่อ –แม่พันธุ์สัตว์น้ำมีความสมบูรณ์เพศสูงและพร้อมที่จะวางไข่ ดังเห็นได้จากการเก็บข้อมูลจำนวนประชากรสัตว์น้ำเมื่อปีที่ผ่านมา พบว่ามีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นในช่วงระหว่างและหลังมาตรการฯ โดยระหว่างปิดอ่าว
มีอัตราการจับเพิ่มสูงขึ้นจากก่อนปิดอ่าว 1.15 เท่า และหลังมาตรการฯ เพิ่ม 1.01 เท่า ซึ่งหากแยกเป็นประเภทและชนิดของสัตว์น้ำ พบว่า ปริมาณการจับปลาทูในช่วงหลังมาตรการปิดอ่าวสามารถจับได้สูงขึ้นกว่าก่อนมาตรการถึง 3.13 เท่า ปริมาณผลผลิตปลาทูในภาพรวมของปี 2558 ตลอด 9 เดือน อยู่ที่ 86,811.26 ตัน ซึ่งสูงกว่าปริมาณการจับในช่วงเวลาที่เท่ากันของปี 2553 – 2555 จึงแสดงให้เห็นว่ามาตรการดังกล่าวนี้สามารถสร้างความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำในท้องทะเลให้คืนกลับมาได้อย่างยั่งยืน ส่งผลให้ชาวประมงมีรายได้ในการประกอบอาชีพได้อย่างดี อีกทั้งประชาชนคนไทยได้มีสัตว์น้ำบริโภคตลอดไป โดยในปีนี้ กรมประมงได้กำหนดจัดพิธีประกาศปิดอ่าวฝั่งทะเลอ่าวไทย ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559 ณ ท่าเทียบเรือเทศบาลตำบลปากน้ำชุมพร ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร จึงขอเชิญชวนประชาชนในพื้นที่ทุกท่านไปร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีดังกล่าว สุดท้ายนี้ ฝากถึงพี่น้องชาวประมงขอความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด...อธิบดีกรมประมง กล่าว