กรุงเทพฯ--5 ก.พ.--ฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร สวทช.
มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย 13 แห่งทั่วประเทศ สานต่อแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในการประยุกต์ใช้ไอซีทีเป็นเครื่องมือยกระดับคุณภาพการศึกษา และพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ให้แก่เยาวชน โดยมี บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมสนับสนุนโครงการ ไอซีทีส่งเสริมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สร้าง Innovation Space : ขยายโอกาสพัฒนาทักษะนวัตกรรมไอที
ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการใช้ไอทีในการเพิ่มคุณภาพชีวิต การพัฒนาการศึกษาแลการเพิ่มโอกาสการทำงานให้แก่ผู้ด้อยโอกาส กระทั่งปัจจุบันในปี 2559 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชกระแสรับสั่งให้จัดตั้งเป็น "มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี" เพื่อรับผิดชอบการดำเนินงานในระยะต่อไป และช่วยให้ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริแนวทางในการดำเนินงานส่วนหนึ่งว่า "ให้เผยแพร่ส่วนที่สำเร็จด้วยดีแก่หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ หรือเกี่ยวข้องโดยตรงในเรื่องนั้นๆ เพื่อให้รับช่วงต่อในเรื่องของการขยายผลในวงกว้างต่อไป" ดังนั้น ฝ่ายเลขานุการโครงการฯ จึงได้ประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเครือข่าย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยราชภัฎซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ใกล้ชิดกับโรงเรียนในชนบท และมีพื้นที่ตั้งกระจายอยู่ทั่วประเทศ ในการสานต่อและเผยแพร่กิจกรรมการประยุกต์ใช้เทคโนยีสารสนเทศในการเรียนการสอนตามแนวทางของโครงการเทคโนยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
การทำงานร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยดังกล่าว จะช่วยให้เกิดการขยายผลการดำเนินงานในวงกว้าง โดยมหาวิทยาลัยจะเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาโรงเรียนในโครงการ และยังสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาการจัดการศึกษาหลักสูตรครุศาสตร์บัณฑิต ช่วยเตรียมความพร้อมของครูยุคใหม่ในการใช้ไอซีทีจัดการเรียนการสอนในอนาคต โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาครูยุคใหม่อย่างน้อย 1,200 คน/ปี และสามารถขยายผลโรงเรียนในท้องถิ่น ไม่ต่ำกว่า 120 แห่ง และร่วมสร้างบทเรียนออนไลน์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 อย่างน้อย 12 เรื่อง เพื่อเปิดบริการบทเรียนออนไลน์ฯ และฝึกภาคปฏิบัติให้แก่ครูในท้องถิ่นได้ต่อไป
ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กรรมการและรองเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ดำเนินโครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยสนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย 13 แห่งทั่วประเทศ ร่วมต่อแนวพระราชดำริและเผยแพร่กิจกรรมที่สำเร็จด้วยดีในโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ไปยังโรงเรียนในพื้นที่ทั่วประเทศ และขยายไปยังนักศึกษาคณะครุศาสตร์ เพื่อเตรียมความพร้อมของครูในการใช้ไอซีทีจัดการเรียนการสอนกับนักเรียนต่อไป ซึ่งในปี พ.ศ. 2558 มหาวิทยาลัยร่วมดำเนินการขยายผลการประยุกต์ใช้ไอซีทีส่งเสริมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 จำนวน 4 กิจกรรมคือ กิจกรรมเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว (embedded technology) กิจกรรมการใช้ไอซีทีจัดการเรียนรู้ด้วยโครงการ (Project-based Learning using ICT) การสร้างชิ้นงาน 3 มิติด้วย 3D-Printer และบทเรียนบนระบบสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกลฯ (MOOC) โดยมีมหาวิทยาลัยเข้าร่วม 13 แห่งใน 4 ภูมิภาค และหน่วยงานเอกชนร่วมสนับสนุนการดำเนินงาน ดังนี้
1. มหาวิทยาลัยราชภัฏ 12 แห่ง ประกอบด้วย ภาคเหนือ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 3 แห่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ภาคกลาง จำนวน 3 แห่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ในพระราชูปถัมภ์ฯ และภาคใต้ จำนวน 2 แห่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
2. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมดำเนินงานโดยภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้การทำงานของห้องปฏิบัติการนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ (Learning Inventions Lab) ที่ได้มุ่งออกแบบเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้โดยใช้ระบบสมองกลฝังตัว และนำไปประยุกต์ใช้กับเยาวชน ให้เยาวชนได้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีสมองกลฝังตัวและการเขียนโปรแกรม เพื่อเสริมสร้างทักษะที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 อันได้แก่ การคิดอย่างเป็นระบบ คิดเป็น แก้ไขปัญหาเป็น ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างเป็นกัลยาณมิตร ฝึกตนจนติดนิสัยใฝ่เรียนรู้ไปตลอดชีวิต
3. บริษัทอินเทลไมโครอิเล็กทรอกนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินกิจกรรมมุ่งสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนไทยมีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยี ผ่าน Innovation Space
นางสาวสติยา ลังการ์พินธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอกนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงการสนับสนุนโครงการไอซีทีส่งเสริมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ภายใต้มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า "ด้วยความเชื่อว่านวัตกรรมนำไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และจะช่วยสร้างสังคมที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน อินเทลจึงมุ่งสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนไทยมีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยี ผ่าน Innovation Space ที่จัดร่วมกับหลายภาคส่วน รวมถึงโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเปิดพื้นที่ เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษาหรือแม้กระทั่งครูอาจารย์ได้ลองเรียนรู้ด้วยวิธีการใหม่ๆ ได้ออกแบบและประดิษฐ์อุปกรณ์อัจฉริยะ (smart device) ที่ประยุกต์ใช้หน่วยประมวลผลคอมพิวเตอร์ เช่น ชุดอุปกรณ์ อินเทล กาลิเลโอ (Intel Galileo) สร้างอุปกรณ์ที่สามารถรับข้อมูลจากสภาพแวดล้อมแล้วทำงานตามที่นักเรียนออกแบบโปรแกรมไว้ นอกจากนั้นยังสามารถเชื่อมโยงสู่ระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อบันทึก วิเคราะห์ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลต่อไป ทักษะพื้นฐานเหล่านี้จะมีคุณค่ามากในวันข้างหน้าที่โลกมุ่งเข้าสู่ยุคของอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (Internet of Things - IoT) ดังนั้น Innovation Space จึงเป็นทั้งพื้นที่และโอกาสที่เยาวชนไทยจะได้ลงมือประดิษฐ์คิดค้นด้วยเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มพูนทักษะด้านนวัตกรรม เกิดแรงบันดาลใจในการใช้เทคโนโลยีไปทำสิ่งที่มีประโยชน์ โดยเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏสนองพระราชดำริเป็นช่องทางสำคัญที่จะขยายโอกาสนี้สู่ท้องถิ่นได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น"