กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้ (23 ก.ค. 44) เวลา 14.00 น. ณ อาคารเวทีลีลาศ สวนลุมพินี ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ปลัดกรุงเทพมหานคร นำคณะผู้บริหารฝ่ายข้าราชการประจำ แถลงข่าวผลงานของข้าราชการประจำช่วงรอบปีที่ผ่านมาในยุคของนายสมัคร สุนทรเวช เข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในหัวข้อ “1 ปี ร่วมทำร่วมคิด สร้างทิศทางเมือง”
สำหรับวัตถุประสงค์ของการแถลงข่าวในวันนี้ นอกจากจะเป็นการรายงานให้ประชาชนรับทราบถึงความก้าวหน้าในการดำเนินงานของกรุงเทพมหานครในรอบปีที่ผ่านมา ทั้งในด้านการบริการ การพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น โดยข้าราชการประจำ ซึ่งได้รับมอบหมายภารกิจจากคณะผู้บริหารแล้ว ยังเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ระหว่างกันของหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร ทั้งสำนักและสำนักงานเขต เพื่อปรับทิศทางการทำงานให้สอดรับและเกื้อกูลกันได้อย่างสมบูรณ์ รวมทั้งเป็นการนำเสนอผลการปฏิบัติตามนโยบาย ให้คณะผู้บริหารได้รับทราบ เพื่อตรวจสอบและปรับแผนการทำงานให้สนองตอบต่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชนให้มากที่สุด ซึ่งจะนำไปสู่วิสัยทัศน์และทิศทางการบริหารเมืองในปีที่ 2 ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต่อไป
โอกาสนี้ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครเป็นเมืองใหญ่ที่มากไปด้วยปัญหา ซึ่งการแก้ไขจำเป็นต้องอาศัยการร่วมคิดร่วมทำของข้าราชการและความร่วมมือจากประชาชน คณะข้าราชการกรุงเทพมหานครมีความมั่นใจในความตั้งใจจริงของคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครชุดนี้ ซึ่งนำโดยนายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และพร้อมจะทำงานตามนโยบาย โดยร่วมคิดร่วมทำให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน งานของข้าราชการนั้นมีทั้งงานประจำและงานตามนโยบายผู้บริหาร ทั้งนี้ข้าราชการเป็นกำลังสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชน ข้าราชการจึงควรยึดมั่นในการทำงานใดก็ตามที่ทำให้ประชาชนพึงพอใจ รวมทั้งต้องมีความกระตือรือร้นและสร้างสรรค์ให้เป็น งบประมาณที่จำกัดไม่ควรจะเป็นสิ่งที่จำกัดให้ผลงานน้อยลง ในอนาคต เรื่องที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งก็คือ การกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้กรุงเทพมหานครมีภารกิจในการบริการประชาชนเพิ่มขึ้นอีกมาก ซึ่งหากข้าราชการมีความตั้งใจจริง ก็จะสามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ก้าวสู่การบริหารแนวใหม่ ทันสมัย มืออาชีพ สู่สากล และมั่นคงโปร่งใส
นางณฐนนท ทวีสิน รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงงานด้านการบริหารและการคลังว่า ช่วง 1 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ยังไม่พ้นจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ งบประมาณส่วนที่รัฐบาลต้องจัดส่งให้กทม. ซึ่งคิดเป็น 70 % ของรายได้ทั้งหมดมาล่าช้ากว่ากำหนด ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์การเงิน การคลังของกทม. แต่กทม.ก็สามารถผ่านพ้นวิกฤติมาได้ เนื่องจากใช้วิธีการบริหารจัดการแนวใหม่ ตามนโยบายของผู้ว่าฯกทม. โดยให้เอกชนลงทุนโครงการในลักษณะ Self- Supporting Project คือโครงการที่เลี้ยงตัวเองได้ โดยมีรายได้จากการขายบริการคืนทุนเข้ามา และอาจนำรายได้เหล่านี้ไปช่วยสนับสนุนโครงการในด้านอื่นได้ด้วย เช่น โครงการก่อสร้างตลาดนัดแห่งใหม่ สนามหลวง 3 (ถนนเกษตร-นวมินทร์) โครงการแฟลตฝักข้าวโพด รวมทั้งการเตรียมออกพันธบัตรเพื่อจ่ายเป็นค่าเวนคืนที่ดินในโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ทั้งนี้นอกเหนือจากการประหยัดตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงแล้ว กทม.ยังได้เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ โดยนำวิทยาการที่ทันสมัยมาช่วยเป็นเครื่องมือ คือ ระบบแผนที่ GIS สามารถเก็บรายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมการเก็บขนขยะเพิ่มขึ้นเป็น 200 ล้านบาท จากที่ก่อน ๆ เก็บได้ 70 ล้านบาท และจะจัดเก็บได้เพิ่มในอัตราที่ก้าวหน้าในปีต่อ ๆ ไป อย่างไรก็ตามแม้ว่ากทม.จะมีงบประมาณจำกัด แต่ยังคงให้ความสำคัญในการให้บริการที่ดีแก่ประชาชน โดยได้นำร่องการบริการแบบ One Stop Service ให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ ทั้งงานทะเบียนราษฎร บัตรประชาชน ชำระภาษี ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ได้สะดวกรวดเร็ว ซึ่งเปิดเป็นแห่งแรกที่เขตราชเทวี และจะขยายไปทั่วกรุงเทพฯ ต่อไป นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญต่อการพัฒนาบุคลากร ข้าราชการและลูกจ้าง โดยจัดโครงการฝึกอบรมสัมมนาให้ข้าราชการและลูกจ้างจำนวน 24,556 คน มีความรู้ และศักยภาพในการปฏิบัติงานได้ดียิ่งขึ้น
สำหรับทิศทางการบริหารงานและการพัฒนาของกทม. นั้น จะเดินไปอย่างมีระบบแบบแผนที่ตรงกับสถานการณ์และสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริง โดยการจัดทำแผนพัฒนากทม. ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2545-2549) ได้ยึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนเพื่อนำไปสู่แผนที่สามารถไปปฏิบัติเป็นรูปธรรม ตลอดจนยึดหลักการบริหารแบบโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ตามหลักทางธรรมรัฐด้วย
วางแผนพัฒนาจัดระเบียบให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่
ในส่วนของการรายงานผลงานด้านการพัฒนาและจัดระเบียบเมือง ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า นโยบายที่สำคัญประการหนึ่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คือ การทำกรุงเทพมหานครให้หลวม นั่นก็คือ การกำหนดแผนงานและโครงการเพื่อจะทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่น่าอยู่ การดำเนินการไปในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา มีทั้งการดำเนินการตามแผนงานเดิมและงานที่ริเริ่มขึ้นใหม่ ได้แก่ การอนุรักษ์เมืองพื้นที่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์และพื้นที่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโบราณสถานและอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เพื่อเป็นมรดกให้ชาวไทยและชาวต่างชาติได้ศึกษา โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ประสานขอความร่วมมือจากภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐบาล ประชาชนผู้อาศัยอยู่ในอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ช่วยกันซ่อมแซมบูรณะและทาสี ขณะนี้ดำเนินการเสร็จไปแล้ว 96 ห้อง เช่น อาคารบริเวณท่าช้าง หน้าพระลาน และถนนพระอาทิตย์ ขณะนี้ยังมีอาคารที่รอการซ่อมแซมบูรณะอีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีโครงการที่จะปรับปรุงบริเวณคลองหลอด สามแพร่ง ท่าเตียน เป็นต้น ส่วนงานด้านการจัดระเบียบของเมืองนั้น มีโครงการที่ได้ดำเนินการเห็นได้อย่างชัดเจน เช่น การจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย โดยให้ผู้ค้าสามารถค้าขายได้อย่างถูกต้องในพื้นที่ที่กำหนด รวมทั้งการกำหนดบทบาทของเจ้าหน้าที่เทศกิจให้ปฏิบัติตนช่วยเหลือให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม การฟื้นฟูชายทะเลบางขุนเทียนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ด้วยการวางแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่เฉพาะการอนุรักษ์ป่าชายเลน การก่อสร้างถนนท้องถิ่นยาว 3.6 กิโลเมตร เชื่อมถนนชายทะเลบางขุนเทียนไปยังคลองพิทยาลงกรณ์ และการทำทางคนเดิน ทางจักรยาน ระยะทาง 2.3 กิโลเมตร จากคลองพิทยาลงกรณ์ไปยังคลองโล่ง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและฟื้นฟูป่าชายเลนได้อีกทางหนึ่งด้วย
กทม.ยังได้ดำเนินการตามนโยบายการทำกรุงเทพมหานครให้หลวมด้วยการอนุมัติให้มีการขยายเส้นทางขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (BTS) โดยขยายเส้นทางด้านถนนสุขุมวิทจากอ่อนนุชไปยังสำโรง ความยาว 9 กิโลเมตร ขยายเส้นทางด้านสะพานตากสินไปยังถนนตากสิน ความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร การเพิ่มระบบ ATC ให้ครอบคลุมแยกต่างๆ เพิ่มจากเดิมเป็น 85 ทางแยก ซึ่งจะช่วยการระบายการจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเร่งรัดโครงการสะพานพระราม 8 และโครงการจตุรทิศ โครงการพัฒนาพื้นที่ย่านพระราม 3 เพื่อให้เป็นย่านเศรษฐกิจแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร การวางผังแม่บทเพื่อการพัฒนาบริเวณศูนย์คมนาคมกรุงเทพมหานครด้านใต้ (ธนบุรี) โครงการสนามหลวง 3 บริเวณเขตบางกะปิ เขตสะพานสูง และการแก้ไขผังเมืองรวมเพื่อให้การใช้ประโยชน์ในที่ดินสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และความเป็นจริงในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีแผนงานก่อสร้างเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรโดยสร้างถนนเพิ่ม 13 สาย ก่อสร้างสะพานข้ามทางแยก 6 จุด สร้างทางกลับรถ 1 แห่ง รวมทั้งโครงการขนาดใหญ่ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องหลายโครงการ
ขยะไม่ล้น ถนนเขียวสวยสดใส น้ำเสียได้รับการบำบัด ขจัดปัญหาน้ำท่วม
นายศิริ เปรมปรีดิ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำหรับงานด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมนั้น กทม.มีนโยบายแก้ไขปัญหาขยะตกค้างโดยให้ทุกเขตเก็บขนขยะจากถนนสายหลักและสายรองก่อน 6 โมงเช้าทุกวัน และได้มีการเพิ่มจุดขนถ่ายขยะมูลฝอยเพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการเก็บขนอีก 3 แห่ง คือ สถานีขนถ่ายมูลฝอยย่อยดินแดง ลาดพร้าว และใต้ทางต่างระดับรัชวิภา รวมทั้งได้มีนโยบายที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นแหล่งนันทนาการสำหรับประชาชน ทั้งนี้โดยขอความร่วมมือจากภาคเอกชนมอบพื้นที่ให้กรุงเทพมหานครเพื่อทำ “สวนชานบ้าน” อีก 100 แห่ง คิดเป็นเนื้อที่ 235 ไร่ ส่วนการปลูกต้นไม้ใหญ่ที่กำหนดไว้ปีละ 100,000 ต้น ก็สามารถดำเนินการได้บรรลุตามเป้าหมายเช่นกัน และยังขยายผลโครงการ “สวนถนน” เพื่อเพิ่มความสวยงามบนทางเท้า และลดความแข็งของกำแพงรั้วบ้านริมถนนได้อีกเป็นระยะทางถึง 23 กิโลเมตร
ปัจจุบัน กทม.สามารถบำบัดน้ำเสียได้แล้ววันละ 300,000 ลบ.ม. ใน 3 พื้นที่ คือ สี่พระยา รัตนโกสินทร์ และช่องนนทรี สำหรับการบำบัดน้ำเสียในพื้นที่อื่นๆ ทาง US-TDA ได้ให้ทุนศึกษา เพื่อขยายพื้นที่ควบคุมคุณภาพน้ำอีก 480,000 ลบ.ม. และรัฐบาลฝรั่งเศสกำลังพิจารณาช่วยเหลือแบบให้เปล่า เพื่อศึกษาความเหมาะสมโครงการบำบัดน้ำเสียย่านฝั่งธนอีกวันละ 447,000 ลบ.ม. ส่วนการป้องกันน้ำท่วมในปีนี้ สามารถเตรียมการได้เร็วกว่าแผนประมาณ 1 เดือนเต็ม ไม่ว่าจะเป็นการล้างท่อระบายน้ำในพื้นที่วิกฤติความยาวกว่า 2,400 กิโลเมตร การขุดลอกคลองหลัก 8 คลอง ความยาว 16.3 กิโลเมตร การสร้างเขื่อน คสล. 10 คลอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และเปิดทางน้ำไหลใน 117 คลอง ความยาวกว่า 220 กิโลเมตร การรักษาพื้นที่แก้มลิงกว่า 1,600 ไร่เพื่อรองรับน้ำ การพัฒนาระบบระบายน้ำหลักและการนำเทคโนโลยีด้านสารสนเทศอันทันสมัยมาประยุกต์ใช้ ซึ่งทำให้หน้าฝนปีนี้มีปัญหาน้อยลง
ส่งเสริม “ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเอื้ออาทร ประชากรสมานฉันท์”
นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงภารกิจด้านการบริการทางสังคมของกรุงเทพมหานครว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตามแนวทาง “ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเอื้ออาทร ประชากรสมานฉันท์” โดยมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งแก่สถาบันครอบครัวอันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสังคม ในปีที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้ดำเนินการแก้ปัญหาชุมชนใต้สะพานจำนวน 694 ครอบครัวทั่วกรุงเทพฯ โดยอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม จำนวน 219 ครอบครัว และได้จัดที่อยู่อาศัยใหม่เป็นการถาวรจำนวน 475 ครอบครัว โดยจัดตั้งขึ้นเป็นชุมชนตามระเบียบกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ ยังได้จัดโครงการสำหรับกลุ่มบุคคลผู้ด้อยโอกาสและคนพิการ เช่น โครงการ “ครูอาสาสอนข้างถนน” และโครงการ “บ้านสร้างโอกาส” เพื่อให้โอกาสแก่เด็กเร่ร่อนจำนวนเกือบ 500 คน ได้มีโอกาสเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานทางสังคมเช่นเดียวกับเด็กทั่วไป และเปิดโอกาสให้เด็กพิการได้เข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติในโรงเรียนของกรุงเทพมหานครจำนวน 58 แห่ง
ปัจจุบัน โรงเรียนทั้ง 431 แห่งของกรุงเทพมหานครได้เข้าสู่โครงการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ โดยมีโรงเรียนจำนวน 125 แห่ง เป็นแกนนำในการประกันคุณภาพ มีการปฏิรูปรูปแบบการจัดการเรียนการสอนโดยเน้นยุทธศาสตร์การสอนแบบผู้เรียนเป็นสำคัญพร้อมๆ ไปกับการพัฒนาวิชาชีพครู นักเรียนของกรุงเทพมหานครจะได้เรียนรู้ในโลกกว้างนอกห้องเรียน และเน้นคุณค่าของความเป็นไทย ด้วยการจัดกิจกรรมหมอภาษา เพื่อรื้อฟื้นการคัดลายมือ การออกเสียงภาษาไทยที่ถูกต้อง และมีการสอดแทรกหลักสูตร “ครอบครัวศึกษา” ไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนของทุกระดับชั้น ส่วนการศึกษานอกระบบโรงเรียน กรุงเทพมหานครได้จัดให้มีการฝึกอบรมอาชีพระยะสั้นในโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร จำนวน 51 แห่ง และศูนย์ฝึกอาชีพ 3 แห่ง มีผู้ผ่านการอบรมปีละประมาณ 60,000 คน ทั้งยังจัดให้มีศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนตามชุมชนทั่วทุกเขต จำนวน 170 แห่ง เพื่อดูแลเด็กก่อนวัยเรียนจำนวนประมาณปีละ 12,000 คน และมีการจัดสวัสดิการให้แก่เด็กอีกหลายด้าน เช่น การสร้าง “ศูนย์เพลิน” (Play and Learn) เพื่อให้เป็นศูนย์แห่งการเล่นและการเรียนรู้ของเด็กและครอบครัวในรูปแบบใหม่ การจัดโครงการเมืองเพื่อนเด็ก (Child-Friendly City) โครงการบ้านหนังสือ โครงการ Bangkok Youth Philharmonic Orchestra โครงการอุทยานผีเสื้อและแมลง และโครงการค่ายพักแรมในเมือง นอกจากนี้ กทม.ยังได้ให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ โดยจัดให้มีศูนย์ผู้สูงอายุตามศูนย์บริการสาธารณสุข และชุมชนต่างๆ จนพัฒนามาเป็น “สโมสรพลเมืองอาวุโสแห่งเมืองกรุงเทพฯ” เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ทำกิจกรรมต่างๆ และสามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่สังคมต่อไป สำหรับลานกีฬากรุงเทพมหานครที่มีอยู่จำนวน 1,095 ลาน มีสถิติผู้มาใช้บริการเพื่อการเล่นกีฬามากกว่า 3 ล้านคนต่อปี กิจกรรมลานกีฬาเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ออกกำลังกาย ด้วยการเล่นกีฬา เต้นแอโรบิก ซึ่งมีผู้มาออกกำลังวันละประมาณ 60,000 คน พร้อมทั้งจัดให้มีการแข่งขันกีฬานานาชนิดตลอดทั้งปี อันเป็นยุทธศาสตร์ที่จะดึงเด็กและเยาวชนให้ห่างไกลจากปัญหายาเสพติด
เน้นเอาใจใส่และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนกรุง
น.พ.ปิยเมธ ยอดเณร รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตว่า การดูแลให้คนกรุงเทพฯใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนนั้น ถือเป็นหัวใจสำคัญในการบริหารราชการของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมามีหลายสิ่งที่บ่งชี้ได้ค่อนข้างชัดเจนว่า คนกรุงเทพฯได้รับการเอาใจใส่ดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะชีวิตประจำวันของคนเมืองซึ่งต้องการความสะดวก รวดเร็ว และคุณภาพในการบริการ กทม.ได้ตอบสนองโดยนำแนวคิดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไปดำเนินการจัดตั้งศูนย์อาหารราคาถูก จานละ 15 บาท ซึ่งขณะนี้ได้เปิดให้บริการแล้ว 41 แห่ง โดยกระจายอยู่ตามแหล่งชุมชน และจุดที่เป็นย่านคนทำงาน ในพื้นที่ 24 เขต อยู่ระหว่างการจัดตั้งอีก 26 แห่ง รวมทั้งได้มอบ มอบสัญลักษณ์ “ดาว” ให้กับผู้ค้าริมบาทวิถีที่ปฏิบัติผ่านเกณฑ์มาตราฐาน 10 ประการ จำนวน 10,986 ราย นอกจากนี้กทม.ยังได้พัฒนาการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ให้ดีและครอบคลุมยิ่งขึ้น โดยยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขจำนวน 3 แห่ง ให้เป็นศูนย์การแพทย์และสาธารณสุข มีเตียงขนาด 10 เตียง รับผู้ป่วยเพื่อดูแลอาการและให้บริการฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง ได้แก่ ศูนย์การแพทย์และสาธารณสุข 8 ,41 และ 48 การเพิ่มศูนย์บริการสาธารณสุขในเขตที่ยังไม่มี 9 แห่ง และเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว จึงมีการจัดโครงการโรงพยาบาลเคลื่อนที่เข้าไปให้บริการในชุมชนโดยไม่คิดมูลค่า จัดให้บริการ 28 ครั้ง มีผู้มารับบริการทั้งสิ้น 30,627 ราย จัดศูนย์บริการสาธารณสุขเคลื่อนที่ 111 ครั้ง มีผู้ใช้บริการทั้งสิ้น 16,091 คน รวมทั้งออกบัตรสวัสดิการรักษาพยาบาล (สปร.) ให้แก่บุคคลผู้มีรายได้น้อย ผู้พิการด้อยโอกาส เด็กและผู้สูงอายุ จำนวน 1,067,771 ราย อีกทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน โดยการจัดตั้งศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กทม. ขึ้น เพื่อให้บริการรถพยาบาลฉุกเฉิน โดยทำงานประสานกับหน่วยแพทย์กู้ชีวิตและบริการสายด่วนกู้ใจตลอด 24 ชั่วโมง ให้การบำบัดผู้ติดยาเสพติดจำนวน 8,660 คน โดยผ่านคลีนิคบำบัดยาเสพติด 15 แห่ง และศูนย์ซับน้ำตาผู้ติดยาเสพติด 2 แห่ง และกำลังขยาย “บ้านพิชิตใจ” สถานฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดให้สามารถรองรับผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้น
นพ.ปิยเมธิ กล่าวต่อไปว่า กทม.ได้ดำเนินการให้คนกรุงเทพฯมีชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเก่า โดยได้โยกย้ายชุมชนใต้สะพานจำนวน 695 ครัวเรือน ไปอยู่ยังสถานที่แห่งใหม่ที่เหมาะสมกว่า ให้ชุมชนเหล่านี้มีโอกาสมีบ้านพักอาศัยของตนเอง นอกจากนี้ยังมีการดำเนินโครงการกองทุนชุมชนเมือง ให้กู้ชุมชนละ 100,000 บาท เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ ปลอดหนี้ 3 ปี ขณะนี้ได้ให้กู้ยืมแล้ว 55 ชุมชน เป็นเงิน 5,500,000 บาท ซึ่งต่อไปจะดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในโครงการหนึ่งชุมชนหนึ่งผลิตภัณฑ์ด้วย นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้แก่ประชาชน โดยฝึกอบรมวิชาชีพ วิชาช่าง การฝีมือ ให้แก่ประชาชนทั่วไปได้นำไปประกอบอาชีพสร้างรายได้ในยุคเศรษฐกิจซบเซาด้วย
ประชาชนพอใจการบริการของ 50 สำนักงานเขต
นายโยธิน ทองคำ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงงานบริการในพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า ในรอบปีที่ผ่านมา ทั้ง 50 สำนักงานเขต มีการดำเนินกิจกรรมมุ่งเน้นการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การพัฒนาเมือง การบริการทางสังคม การรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาคุณภาพชีวิต ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และระบบงานของสำนักงานเขต จากการสำรวจความพึงพอใจในการให้บริการของสำนักงานเขตช่วงรอบปีที่ผ่านมา ประชาชนมีความพอใจการให้บริการของข้าราชการและลูกจ้าง ว่ามีกริยา วาจา สุภาพเรียบร้อย 79.09 % การให้บริการสะดวกรวดเร็ว 71.48 % ซื่อสัตย์สุจริต 68.72 % งานบริการของฝ่ายที่ประชาชนพอใจ 5 อันดับแรก ได้แก่ ฝ่ายทะเบียน 75.68 % ฝ่ายปกครอง 67.77 % ฝ่ายการศึกษา 62.85 % ฝ่ายรายได้ 62.06 % ฝ่ายรักษาความสะอาด 62.02 % ฝ่ายเทศกิจ 48.15 % โดยประชาชนต้องการให้เขตฯ ปรับปรุงงานเร่งด่วน 8 ด้าน คือ การจราจร — สภาพถนนและทางเท้า การพัฒนาคุณภาพชีวิต การรักษาความสะอาด - การเก็บขยะมูลฝอย การสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม การจัดระเบียบหาบเร่ - แผงลอย สวนสาธารณะและต้นไม้ริมทาง รวมถึงการทำงานของข้าราชการและลูกจ้าง ทั้งนี้ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมามีประชาชนร้องทุกข์ จำนวน 19,959 เรื่อง ได้รับการแก้ไขแล้ว 13,139 เรื่อง อยู่ระหว่างแก้ไข 6,820 เรื่อง และปัญหาร้องเรียนมากที่สุด คือ สภาพแวดล้อมเป็นพิษ 4,671 เรื่อง การกระทำผิดในที่สาธารณะ 2,750 เรื่อง ขยะ 1,536 เรื่อง ส่วนการฝ่าฝืน พ.ร.บ.รักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือ ง พ.ศ.2535 มีจำนวน 104,689 ราย ปรับเป็นเงินประมาณ 9.92 ล้านบาท ฝ่าฝืน พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 จำนวน 801 ราย เป็นเงิน 556,988 บาท--จบ--
-นห-