กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--กทม.
นายพินิจ กาญจนชูศักดิ์ โฆษกคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2544 ของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ในวันนี้(22 ส.ค. 43) ที่ประชุมคณะกรรมการวิสามัญฯได้สรุปผลการพิจารณางบประมาณร่ายจ่ายประจำปี 2544 ของทั้ง 14 สำนัก และ 50 สำนักงานเขต ที่เสนอของบประมาณมาในปีนี้ ซึ่งจากการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วคณะกรรมการวิสามัญฯมีมติให้ผ่านงบประมาณเป็นจำนวนทั้งสิ้น 20,832.16 ล้านบาท โดยเห็นสมควรให้ตัดจำนวน 2,167.84 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2544 ซึ่งประมาณการไว้สมดุลกับรายรับจำนวนทั้งสิ้น 23,000 ล้านบาท ทั้งนี้ งบฯในส่วนที่ตัดเป็นงบจากหมวดรายจ่ายอื่น 206.066 ล้านบาท แผนพัฒนาการศึกษา 121.96 ล้านบาท โรงเรียนสามประโยชน์ 32.912 ล้านบาท เทคโนโลยีสารสนเทศ(ไอที) 134.402 ล้านบาท งบกลาง 100 ล้านบาท สำนักงานเขต(50 เขต) 3.25 ล้านบาท นอกจากนี้ยังเป็นงบด้านครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้างของ 14 สำนักรวม 1,569.26 ล้านบาท
นายพินิจกล่าวว่า คณะกรรมการวิสามัญฯได้ตัดงบฯของสำนักการศึกษาจำนวน 188.954 ล้านบาท โดย 150 ล้านบาทปรับลดจากโครงการคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาที่เสนอขอมา 185 ล้านบาท เนื่องจากโครงการนี้ได้ยกเลิกการประกวดราคาแล้วจะต้องร่างทีโออาร์และประกวดราคาใหม่ ซึ่งคาดว่าจะก่อหนี้ได้ในปลายปีงบประมาณ นอกจากนี้ได้ตัดมาจากค่าใช้จ่ายในการพัฒนาครูแกนนำและการส่งเสริมศักยภาพครูต้นแบบปฏิรูปการเรียนรู้ การอนุรักษ์ส่งเสริมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การเล่นดนตรีวงโยธวาทิต การประชา-สัมพันธ์วิสัยทัศน์การศึกษา โครงการจัตุรัสวิทยาศาสตร์ ฯลฯ จำนวน 8 รายการ แต่ละรายการเป็นวงเงินตั้งแต่ 1.2-5.7 ล้านบาท สำนักเทศกิจ ตัดงบในโครงการรณรงค์รักษาความสะอาดกทม. 50 ล้านบาท สำนักการจราจรและขนส่ง ตัด 117.6 ล้านบาท โดยปรับลดจากโครงการทางยกระดับเลียบคลองภาษีเจริญ 98.33 ล้านบาท จากที่ขอ 430 ล้านบาท และปรับลดรายจ่ายการก่อสร้างช่องเว้าที่จอดแท็กซี่ 1.02 ล้านบาท จากที่ขอมา 3 ล้านบาท และตัดมาจากค่าใช้จ่ายในการจ้างที่ปรึกษาโครงการศึกษารับโอนภาระกิจองค์การขนส่งมวลชน และค่าจ้างที่ปรึกษาด้านเทคนิคงานติดตั้งระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรเป็นพื้นที่ 17.65 ล้านบาท
สำหรับสำนักอนามัย คณะกรรมการวิสามัญฯมีมติให้ตัดงบทั้งสิ้น 6.655 ล้านบาท โดยตัดมาจากค่าซื้อเครื่องวัดความดันโลหิตอัตโนมัติและค่าเครื่องตรวจวัดสารเคมีในเลือด เนื่องจากความจำเป็นยังไม่เหมาะสมกับเศรษฐกิจ และตัดจากรายจ่ายอื่น 9 รายการเป็นเงิน 6.301 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการพัฒนาอาหารและสุขาภิบาลอาหารริมบาทวิถี ในโรงเรียน ตลาด และซุปเปอร์มาร์เก็ต รวมทั้งเผยแพร่สุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ทางสื่อมวลชน โครงการสาธารณสุขมูลฐาน และโครงการร่วมใจต้านภัยเอดส์ เป็นต้น สำนักรักษาความสะอาด ตัด 165.847 ล้านบาท โดยตัดจากโครงการจ้างเหมาทำความสะอาดถนนและสิ่งก่อสร้าง 60 ล้านบาท โครงการก่อสร้างสถานีขนถ่ายมูลฝอยระบบใหม่ 54 ล้านบาท โครงการจ้างเหมาเอกชนปรับปรุงโรงงานกำจัดมูลฝอยอ่อนนุช 10.7 ล้านบาท งานกำจัดสิ่งปฏิกูลและงานกำจัดมูลฝอยรวม 27 ล้านบาท โครงการจ้างเหมาเอกชนกำจัดส่องปฏิกูลหนองแขม(ระยะที่2) 13.25 ล้านบาท รวมทั้งหมวดรายจ่ายอื่นๆจำนวน 3.9 ล้านบาท อาทิ โครงการพัฒนาศูนย์เผยแพร่ทางวิชาการจัดทำเอกสาร และปรับลดจากโครงการชุมชนร่วมใจรักสะอาดและการปฏิบัติการเพื่อลดปริมาณมูลฝอย
สำนักปลัดกทม.ตัดจากรายการจัดซื้อกล้องถ่ายภาพนิ่งดิจิตอล และปรับลดค่าจ้างชั่วคราว(83 อัตรา) รวมเป็นเงิน 2.392 ล้านบาท สำนักพัฒนาชุมชน ตัด 117.985ล้านบาท โดยปรับลดจากการจัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์ด้านวิชาชีพต่างๆ ให้ประหยัดลง รวมทั้งปรับลดค่าใช้จ่ายเงินสมทบพัฒนาชุมชน โครงการพัฒนาสภาพแวดล้อมชุมชน โครงการสภาเยาวชน และการสร้างอาชีพด้านเกษตรกร สำนักสวัสดิการสังคม ตัด 250.42 ล้านบาท โดยตัดจากโครงการหอศิลปร่วมสมัยซึ่งยังไม่ได้เริ่มดำเนินการจำนวน 185 ล้านบาท และปรับลดค่าจัดซื้ออุปกรณ์ครุภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งหมวดรายจ่ายอื่นอีก 13 รายการ อาทิ ค่าใช้จ่ายในการส่งทีมฟุตบอลกรุงเทพมหานครเข้าร่วมแข่งขันในรายการต่างๆ 3 รายการ รวมถึงการจัดส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันกีฬา 9 ชนิด พิพิธภัณฑ์เด็กสัญจร ตลอดจนปรับลดงบค่าใช้จ่ายในโครงการเฉลิมฉลองต่างๆ เพื่อประหยัดงบประมาณ ด้าน สำนักการระบายน้ำ ตัด 419.356 ล้านบาท โดยตัดและปรับลดมาจากโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมบางรายการ และหมวดรายจ่ายอื่น สำนักนโยบายและแผน ตัด รายการจัดซื้อและพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์หลายรายการรวมจำนวน 41.47 ล้านบาท สำนักการคลัง ตัดและปรับค่าใช้จ่ายด้านครุภัณฑ์และที่ดิน รวมจำนวน 8.236 ล้านบาท
ส่วน สำนักการแพทย์ ตัด 112.335 ล้านบาท โดยตัดและปรับลดจากการจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์หลายรายการ อาทิ เตียงผ่าตัด เครื่องมือผ่าตัด เครื่องติดตามการทำงานของหัวใจและวัดความดันโลหิต เครื่องเอ็กซเรย์ระบบดิจิตอล ฯลฯ รวมจำนวน 111.985 ล้านบาท เนื่องจากเห็นว่าความจำเป็นไม่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และบางรายการได้ปรับลดลงตามราคาที่เป็นจริง นอกจากนี้ยังได้ตัดค่าใช้จ่ายในการป้องกันปรับโรคไม่ติดต่อและการพัฒนาการให้บริการด้านอุบัติเหตุและอุบัติภัย จำนวน 350,000 บาท และสำนักการโยธา ตัด 405.377 ล้านบาทโดยลดจากโครงการก่อสร้างต่างๆ หลายโครงการ อาทิ ลานคนเมืองหน้าศาลาว่าการกทม. โครงการก่อสร้างกทม.2 ถนนรามคำแหง-พัฒนาการ ทางลอดใต้แยก 2 แห่ง ถนนพุทธมณฑล สาย 1 ฯลฯ ทั้งนี้ได้พิจารณาตามเนื้องานและความสามารถในการก่อหนี้ในปีงบประมาณนี้ และตัดงบฯด้านค่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อสำรวจออกแบบจำนวน 27.377 ล้านบาทออกทั้งหมด
นายพินิจกล่าวว่า งบประมาณในส่วนที่ตัดมาจำนวน 2,167.84 ล้านบาทนั้น เพื่อให้คณะผู้บริหารกทม.นำไปใช้ในการดำเนินการตามนโยบายที่ผู้ว่าราชการกทม.ได้หาเสียงไว้กับประชาชน และกรณีที่หน่วยงานมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณในความจำเป็นเร่งด่วนก็สามารถยื่นโครงการเสนอขออนุมัติจากผู้ว่าราชการกทม. ได้ครั้งละ 10 ล้านบาท นอกจากนี้งบส่วนหนึ่งทางส.ก.ได้แปรญัตติกลับไปให้ยังหน่วยงานในรายการที่มีความจำเป็น เพื่อให้งบประมาณกระจายไปตรงจุดยิ่งขึ้นอีกด้วย--จบ--
-นศ-