กรุงเทพฯ--5 ก.พ.--KTAM
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงนับตั้งแต่ต้นปี จากความกังวลต่อเศรษฐกิจจีน การลดลงอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมัน และความไม่ชัดเจนของภาครัฐในวิธีการจัดการปัญหา จากความไม่แน่นอนดังกล่าว นักลงทุนหลีกเลี่ยงความเสี่ยงโดยถือครองเงินสด พันธบัตรภาครัฐ ทองคำ ตราสารสกุล JPY และ EUR รวมถึงสินทรัพย์สกุลเงินบาท
ภาวะการลงทุนมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นในระยะสั้น หลังจากเผชิญกับแรงขายที่มากเกินไป โดยเฉพาะเมื่อมีการส่งสัญญาณจากธนาคารกลางของประเทศต่างๆ เพื่อพยุงเศรษฐกิจ โดยธนาคารกลางยุโรป ( ECB) พร้อมขยายมาตรการคิวอี ธนาคารกลางสหรัฐ ( FED ) ไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ย ธนาคารกลางญี่ปุ่น ( BOJ) ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายต่ำกว่าศูนย์ รวมถึงประเทศผู้ผลิตน้ำมันอาจจะเริ่มกลับสู่การเจรจาเพื่อควบคุมปริมาณการผลิต อย่างไรก็ตาม ตลาดจะยังเผชิญกับความผันผวนสูงจากความกังวลต่อความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และแรงขายต่อเนื่องของกองทุนระหว่างประเทศเพื่อลดความเสี่ยงและรักษาสภาพคล่อง
โดยกลยุทธ์การลงทุนในระยะสั้นตลาดตราสารทุนมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้น ตราสารหนี้อาจมีแรงขายทำกำไร ประเมินราคาน้ำมันมีโอกาสปรับตัวขึ้นแรงจากแรงซื้อคืน แต่ยังไม่มีเสถียรภาพ เน้นกลยุทธ์การลงทุนในรูปพอร์ตฟอลิโอ โดยให้ทยอยซื้อสะสมตราสารทุน เน้นลงทุนเฉพาะกลุ่มตลาดพัฒนาแล้ว อินเดีย และไทย และ กระจายลงทุนในตราสารหนี้เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุน ขณะที่สินทรัพย์ทางเลือกเน้นลงทุนในทองคำ และกองทุนอสังหาริมทรัพย์
สำหรับหุ้นในประเทศ ระยะสั้นเป็นการฟื้นตัว จากราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นจากจุดต่ำสุด และความคาดหวังต่อการขยายมาตการทางการเงิน โดยราคาหุ้นที่ปรับลดลงมามากจากระดับเป้าหมาย แต่ควรเป็นการทยอยซื้อสะสม โดยเชื่อว่าตลาดยังคงผันผวนสูง รอติดตามผลประกอบการไตรมาส4 ปี 2558 ซึ่งจะมีผลต่อการประเมินมูลค่าพื้นฐานและแนวโน้มของบริษัท
ตลาดหลักทรัพย์ ได้รับปัจจัยบวกจากการปรับขึ้นของราคาหุ้นกลุ่มพลังงาน และสื่อสาร แต่ภาพรวมตลาดจะเพิ่มขึ้นในระดับจำกัด
ตราสารหนี้ในประเทศ การส่งสัญญาณของ ECB และการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมของ BOJ และ FED ไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ปรับลดลง โดยตราสารหนี้กลุ่ม High Yield ปรับลดลงค่อนข้างมาก ระยะสั้นจะฟื้นตัว แต่แนะนำให้ทยอยลดการลงทุน เลือก ลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน แทน ส่วนนักลงทุนที่รับความผันผวนได้บ้าง เน้นลงทุนกองทุนตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาว ซึ่งคาดว่าจะให้ผลตอบแทน ดีกว่ากองทุนตลาดเงินหรือกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นในระยะ 3 - 6 เดือนข้างหน้า โดยทยอยซื้อเมื่อราคาปรับฐาน
ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงมากเกินไปในระยะเวลาอันสั้น ทำให้เกิดแรงซื้อเก็งกำไร โดยคาดว่าจะแกว่งตัวในช่วงกว้าง ระหว่าง$25 - $40 ต่อบาร์เรล สำหรับนักลงทุนระยะยาวที่รับความผันผวนได้อาจทยอยเข้าซื้อสะสม หากราคาน้ำมันอยู่ระดับ $30 ต่อบาร์เรล หรือต่ำกว่า ทองคำได้แรงหนุนจากนักลงทุนที่ต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของสินทรัพย์เสี่ยงอื่น ประกอบกับ ทิศทาง USD ที่คาดว่าจะปรับขึ้นได้อีกไม่มาก ทำให้ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจลงทุนในปีนี้
โดยภาพรวม การแข็งค่าของเงินบาท จะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และจะเป็นแรงกดดันให้ภาครัฐอาจต้องดำเนินนโยบายให้เงินบาทอ่อนค่าเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน แต่ยังไม่คาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายในไตรมาส1 ปีนี้ เนื่องจากอาจกระทบต่อเสถียรภาพของตลาด แต่หากประเทศอื่นในภูมิภาคทยอยปรับลดดอกเบี้ยลง น่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ กนง.อาจต้องพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยลงตาม
ส่วนการลงทุนในต่างประเทศ การปรับลดลงของตลาดหุ้นจีนในเดือนมกราคม -21.0% YTD ส่งผลให้เกิดความตื่นตะหนกต่อนักลงทุนในตลาดทั่วโลก แม้ว่า P/E Ratio ปัจจุบันอยู่ในระดับที่น่าสนใจลงทุนมาก แต่ระยะสั้นการฟื้นตัวคาดว่าจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว โดยมีโอกาสสูงกว่าที่จะปรับลงได้อีก ต้องติดตามการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนและการกำกับทุนเคลื่อนย้าย
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปรับลดลง -8% YTD เนื่องจากการแข็งค่าของเงินเยน และความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน จนส่งผลต่อเป้าหมายเงินเฟ้อและทำให้ BOJ ต้องตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายต่ำกว่า 0% อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าต่อเนื่อง ตลาดยังคาดหวังต่อมาตรการการเงินเพิ่มเติม ตลาดหุ้นยุโรป ปรับลดลง -6.4% YTD โดยได้รับอิทธิพลจาก DAX เยอรมัน ที่ลดลงมากถึง -8.8% แต่ให้สังเกตุว่า FTSE อังกฤษ ปรับลดเพียง -2.5% และ CAC ฝรั่งเศส -5.6% เนื่องจากเยอรมันมีเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับจีน ในระดับสูง รวมถึงผลกระทบจากราคาพลังงานตกต่ำมีแนวโน้มกระทบต่อกลุ่มบริษัทน้ำมัน อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง และภาคการเงินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตลาดหุ้นสหรัฐฯได้รับผลกระทบจำกัดเช่นกัน โดยปรับลดลง -5.1% YTD แต่สาเหตุหลักเกิดจากความกังวลต่อท่าทีของ FED และผลกระทบจากการแข็งค่าของ USD ที่มีต่ออัตรากำไรของบริษัท ตลาดหุ้นอินเดีย -4.8% YTD ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย เนื่องจากอินเดียพึ่งพาเศรษฐกิจภายในเป็นหลัก และได้รับประโยชน์จากราคาพลังงานที่ปรับลดลง เช่นเดียวกับตลาดหุ้นไทย ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น +1% สวนทางกับตลาดต่างประเทศ เนื่องจากบทบาทของนักลงทุนต่างประเทศที่มีน้อยลง และนักลงทุนสถาบันซื้อหุ้นกลับในกลุ่มสื่อสาร ธนาคาร และพลังงาน หลังจากถูกขายออกมาอย่างมากในปลายปีที่แล้ว
ในเดือนกุมภาพันธ์ แนะนำสัดส่วนการลงทุนในแต่ละกลุ่มสินทรัพย์ โดยพอร์ตกองทุนเชิงกลยุทธ์ (Strategic Portfolio) ให้น้ำหนักการลงทุนในตราสารทุน 47% ตราสารหนี้ 38% สินทรัพย์ทางเลือก 15%