กรุงเทพฯ--8 ก.พ.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม ส.อ.ท.ยื่น 3 ข้อเสนอถึงรัฐบาล แก้ไขปัญหาขยะของประเทศ 57 ล้านตันอย่างยั่งยืน เน้นยกระดับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมสร้างการยอมรับในชุมชน, การคัดเลือกเทคโนโลยีกำจัดขยะที่เหมาะสม และปรับโครงสร้างการทำงานให้มีการประสานงานกันระหว่างภาครัฐและเอกชนผู้ลงทุน
นายธีระพล ติรวศิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีขยะมูลฝอยชุมชนอยู่รวมประมาณ 57ล้านตัน โดยเป็นขยะที่เกิดขึ้นใหม่ปีละประมาณ 27 ล้านตัน และเป็นขยะเก่าที่สะสมอยู่เดิมมากกว่า 30 ล้านตัน โดยส่วนใหญ่ใช้วิธีกำจัดขยะโดยบ่อขยะเปิดที่มีมลพิษสูง (Open dump site) ที่มีอยู่มากถึง 2,024 แห่ง ซึ่งเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องขยะมูลฝอยชุมชนมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากไม่ได้มีพิจารณาถึงคุณสมบัติของขยะที่มีความแตกต่างกัน ทั้งในเชิงพฤติกรรมการบริโภค วินัยในการคัดแยกขยะ สภาพภูมิอากาศ วงจรการเก็บรวบรวมขยะ รวมถึงยังไม่มีการส่งเสริมการจัดการขยะตามหลักสากล (Waste Management Hierarchy) ซึ่งควรส่งเสริมการจัดการขยะตามหลัก 3R เป็นลำดับแรก และนำขยะมูลฝอยชุมชนมาเผาร่วมในเตาเผาอุตสาหกรรม หรือเตาเผาขยะ แล้วค่อยกำจัดที่บ่อฝังกลบตามลำดับ
นอกจากนี้ยังมีปัญหาการขนส่งขยะสดข้ามเขตไปยังพื้นที่ห่างไกลออกไปหรือข้ามจังหวัดที่ไม่มีมาตรการป้องกันที่ดี ทำให้ชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงโรงจัดการขยะได้รับความเดือดร้อนรำคาญจากปัญหากลิ่นขยะรบกวนและปัญหาน้ำขยะหกล้นระหว่างการขนส่ง รวมทั้งการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับมูลค่าของขยะที่เกินความเป็นจริง ซึ่งเป็นอุปสรรคในการขัดขวางการจัดการขยะให้ถูกสุขลักษณะ
นายธีระพล กล่าวว่า ถึงแม้ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันจะมีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องขยะมูลฝอยชุมชน โดยกำหนดให้การแก้ปัญหาขยะเป็นนโยบายเร่งด่วนของประเทศและให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงมหาดไทยจัดทำ Roadmap การจัดการขยะ แต่ก็ยังมีปัญหาในการสร้างการยอมรับให้กับชุมชนรอบโรงขยะ โดยยังมีความล่าช้าในการกำหนดมาตรฐานการออกแบบและมาตรฐานการเดินโรงไฟฟ้าจากขยะ หรือโรงจัดการขยะอื่นๆ ซึ่งทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นในเรื่องของความปลอดภัยและยังต่อต้านโรงไฟฟ้าจากขยะ อีกทั้งนโยบายการส่งเสริมโครงการขยะก็ไม่ได้มีการพิจารณาด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีปัญหาการพิจารณาใบอนุญาต ที่ต้องผ่านหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงมหาดไทย, กกพ, คพ และหน่วยงานการไฟฟ้า เป็นต้น ทำให้มีความล่าช้า
"ทางกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม ส.อ.ท. จึงมีข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาขยะของประเทศอย่างยั่งยืนถึงรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1.การยกระดับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมในการจัดการขยะเพื่อสร้างการยอมรับกับชุมชน 2.การคัดเลือกเทคโนโลยีกำจัดขยะที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ และ 3.การปรับโครงสร้างการทำงานให้มีการประสานงานกันระหว่างภาครัฐและเอกชนผู้ลงทุนให้มีเอกภาพในการทำงานมากขึ้น" นายธีระพล กล่าว
นายธีระพล กล่าวด้วยว่า ในขั้นตอนการดำเนินการรัฐบาลควรต้องกำหนดโครงการขยะที่จะส่งเสริม นำร่องบางส่วนเท่าที่จำเป็นก่อน โดยพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้รอบคอบ ซึ่งจะช่วยป้องกันการต่อต้านของชุมชนในระยะยาว โดยพิจารณาคัดเลือกผู้ดำเนินการจัดการขยะที่มีมาตรฐานสูงๆ มาเป็นต้นแบบในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้า โดยกำหนดเกณฑ์มาตรฐานการจัดการขยะ และโรงไฟฟ้าจากขยะให้ครบถ้วน ทั้งมาตรฐานออกแบบ มาตรฐานเครื่องจักร และมาตรฐานการเดินระบบ รวมทั้งในช่วงแรกควรหลีกเลี่ยงการขนส่งขยะสดข้ามจังหวัด หรือขนส่งขยะสดระยะทางไกลๆ โดยส่งเสริมให้คัดแยกขยะที่แหล่งขยะก่อน ตามหลัก Green Supply Chain เพื่อความยั่งยืนในการดำเนินการ
สำหรับการปรับโครงสร้างการทำงานเพื่อให้เกิดการประสานงานระหว่างภาครัฐและเอกชน นั้นก็ควรกำหนด Cluster ขยะในแต่ละจังหวัดให้ชัดเจน และให้มีผลบังคับใช้ในระยะยาวเพื่อให้เอกชนมีความมั่นใจในการลงทุนเครื่องจักรมาตรฐานสูงได้ โดยการบริหารจัดการเกี่ยวกับการกำจัดขยะก็ควรให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด เพราะมีความสามารถในการนำเทคโนโลยีผลิตสมัยใหม่มาใช้ และมีการบำรุงรักษาเครื่องจักรที่ต้องดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการอำนวยความสะดวกด้านใบอนุญาตต่างๆ ให้กับโครงการที่ได้รับการส่งเสริม โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่รัฐตัดสินใจสนับสนุน เพื่อให้สามารถดำเนินการได้รวดเร็ว