กรุงเทพฯ--8 ก.พ.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น
เป็นโรคหัวใจ...ใช่จะอด Sex
โดย นพ.ระพินทร์ กุกเรยา
หัวหน้าอายุรแพทย์หัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
ใกล้เทศกาลแห่งความรักเข้ามาทุกที หลาย ๆ ท่านคงมีการเตรียมของขวัญ หรือหาวิธีแสดงความรักให้กับหวานใจของคุณในหลายรูปแบบ "การมีเซ็กส์" ก็นับเป็นการแสดงความรักในอีกรูปแบบหนึ่ง แต่หลาย ๆ ครั้งที่เราเคยได้ยินข่าวการเสียชีวิตในขณะมีเพศสัมพันธ์ หรือที่ได้ยินคำว่า "ตายคาอก" ด้วยหลาย ๆ สาเหตุ และหนึ่งในนั้นบางคนเชื่อว่า เกิดจาก โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นสาเหตุสำคัญ โดยหลายคนอาจเคยสงสัยว่าแล้วผู้ที่เป็นโรคหัวใจจะยังสามารถมีกิจกรรมบนเตียงได้หรือไม่ วันนี้โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพมีคำตอบมาฝาก
นพ.ระพินทร์ กุกเรยา หัวหน้าอายุรแพทย์หัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ไขข้อข้องใจในสิ่งที่ได้ยินกันมานานเรื่องที่ผู้ป่วยโรคหัวใจไม่สามารถมีเซ็กส์ได้นั้น กล่าวว่า 'ตราบใดที่ คุณยังสามารถเดินขึ้นสะพานลอย 3 ชั้นได้อย่างสบาย ไม่เหนื่อยหอบ คุณก็สามารถมีปฏิบัติภารกิจรักของคุณได้เช่นกัน' จริงอยู่ที่เมื่อเวลามีเพศสัมพันธ์นั้น อัตราการเต้นของหัวใจจะเต้นถี่และแรงมากถึง 120 ครั้ง/นาที แค่เพียง 1 นาที เท่านั้น ในตอนใกล้จะเสร็จกิจ ก็สามารถทำได้โดยปลอดภัย ปฏิบัติตัวให้ถูกวิธีและระมัดระวัง หากไม่มั่นใจปรึกษาแพทย์ถึงระดับการออกกำลังกายของคุณ เพื่อป้องกันอาการผิดปกติที่อาจก่อให้เกิดอันตราย หัวหน้าอายุรแพทย์หัวใจ กล่าวเพิ่มเติมว่า สัญญาณเตือนว่าคุณกำลังมีอาการเสี่ยงเป็นโรคหัวใจที่สามารถสังเกตได้ง่าย ๆ เช่น, ใจสั่น, หายใจเร็วหรือหายใจลำบาก จนเหนื่อยหอบ, มีอาการเจ็บแน่นกลางอกรุนแรง, อ่อนเพลียมาก, เวียนหัวจะเป็นลม และเหงื่อออกมาก อย่างไรก็ตาม หากเกิดอาการผิดปกติขณะร่วมเพศขึ้นมา คุณหมอแนะนำว่าผู้ป่วยควรนอนพักอยู่กับเตียงนิ่ง ๆ อย่าเพิ่งรีบลุกเดิน หากจำเป็นต้องเคลื่อนไหวให้ทำอย่างช้า ๆ และขอความช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เป็นโรคหัวใจควรหลีกเลี่ยงการใช้สารกระตุ้นทุกชนิด รวมถึงยาบางประเภท เช่น ไวอากร้า, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, หลีกเลี่ยงท่วงท่าร่วมเพศที่พิสดาร และหากเป็นผู้ป่วยที่เพิ่งผ่านการผ่าตัดหัวใจ ควรขอปรึกษาแพทย์ถึงระดับการออกกำลังอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ปลอดภัยทั้งกายและสุขภาพหัวใจ เพิ่มเติมความฟิตให้ร่างกาย รพ. หัวใจกรุงเทพ มีเคล็ดลับมาแบ่งปัน เพิ่มกำลังใจ ด้วย 4 วิธีใส่ใจเพื่อบำรุงหัวใจให้กระชุมกระชวยทำได้ง่ายๆ ดังนี้
1. ใส่ใจการกิน: เลือกและลดอาหารที่มีปริมาณโซเดียมมาก หรือกล่าวง่ายๆ คือ ลดเกลือในอาหาร "ให้ลดการรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม ลดการเติมเกลือในอาหารจานโปรด" ร่างกายจะต่อต้านโซเดียมหรือความเค็ม ด้วยการดูดซึมน้ำเข้ากระแสเลือดมากขึ้น เมื่อปริมาณเลือดในร่างกายเพิ่มขึ้น หัวใจก็ต้องทำงานหนักไปด้วย
2.ใส่ใจร่างกาย: ขณะออกกำลังกาย กล้ามเนื้อหัวใจจะทำงานหนักกว่ากล้ามเนื้อแขนขาถึง 2 เท่า การออกกำลังกายแบบเบา ๆ เช่น การเดิน หรือขี่จักรยาน ก็ถือว่าเหมาะสมและสามารถทำได้
3. ใส่ใจการนอน: พักผ่อนให้เพียงพอ ปัจจุบันพบว่ามีหนุ่มสาวในช่วงอายุ 24-32 ปี เกือบ 20% เป็นโรคความดันโลหิตสูง แม้อาการกำเริบไม่บ่อย แต่ก็มีโอกาสทำให้หัวใจล้มเหลวได้ทุกเมื่อ ดังนั้น ควรแบ่งเวลานอนให้ได้ 6-8 ชั่วโมง เพราะการอดนอนบ่อยๆ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อหัวใจ
4. ใส่ใจจิตใจ: ทำจิตใจให้สงบ ช่วยลดความเครียดได้ เพราะหากเครียดบ่อยๆ ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมามาก หัวใจจะเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูงขึ้น ฮอร์โมนตัวนี้จะเป็นศัตรูตัวฉกาจของหลอดเลือดแดง ทำให้เลือดจึงลำเลียงสารอาหารไปยังอวัยวะในร่างกายยากขึ้น ฝึกนั่งสมาธิทุกวัน หรือเล่นโยคะทุกสัปดาห์เป็นเวลา 3 เดือน จะช่วยให้ฮอร์โมนความเครียดลดลงและช่วยการไหลเวียนโลหิตได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ ไม่ใช่แค่ผู้ป่วยโรคหัวใจ คู่รักของผู้ป่วยโรคหัวใจก็สามารถร่วมดูแล พูดคุยตลอดจนช่วยสังเกตอาการให้แก่กันและกันอีกด้วย เพียงแค่ระมัดระวังในการใช้กำลัง และรู้วิธีดูแลตนเอง ก็สามารถปฏิบัติภารกิจรักของคุณและคนรักได้อย่างเป็นปกติและมีความสุข เป็นการช่วยเติมความรักให้แก่กันในวันแห่งความรักได้แล้วครับ คุณหมอกล่าวทิ้งท้าย
โดย บริษัท แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น จำกัด 02-732-6069-70