กรุงเทพฯ--8 ก.พ.--มทร.ธัญบุรี
เทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ประยุกต์ใช้น้ำยางพาราสร้างลวดลายบนผ้าบาติก ทดแทนการใช้เทียนและพาราฟิน เพื่อส่งเสริมการใช้น้ำยางพารา ยกระดับคุณภาพสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอ 5 จังหวัดชายแดนใต้
ผศ.ดร.สาคร ชลสาคร หัวหน้าโครงการวิจัยและเป็นอาจารย์สาขาวิชาสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เปิดเผยว่า ลวดลายผ้าบาติกกับน้ำยางพาราของไทย เป็นเรื่องใหม่ในวงการสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอกับ มทร.ธัญบุรี สร้างนวัตกรรมงานวิจัยเรื่อง การประยุกต์ใช้น้ำยางพาราและพืชให้สีเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิม ในจังหวัดชายแดนใต้ โดยนำความคิดสร้างสรรค์ ดึงวัฒนธรรมมาผสมผสานเทคโนโลยีวิจัยและสร้างนวัตกรรม ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม
"ผ้าบาติก ถือเป็นเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การทำผ้าบาติกเป็นวิธีการสร้างสรรค์ลวดลายบนผืนผ้า ส่วนมากจะทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม ใช้ขี้ผึ้ง เป็นตัวกันสีทำให้เกิดลวดลายเมื่อนำไปย้อม มีส่วนผสมขี้ผึ้ง 1 ส่วนต่อพาราฟิน 3-5 ส่วน นำไปตั้งไฟจนละลายเป็นน้ำเทียน จากนั้นใช้อุปกรณ์ช่วยเขียนสร้างลวดลายลงบนผ้า แล้วนำไปต้มลอกเทียนออก ซึ่งขี้ผึ้งพาราฟินเป็นสารประกอบประเภทไฮโดรคาร์บอน จัดอยู่ในกลุ่มขี้ผึ้งปิโตรเลียม ซึ่งส่วนใหญ่จะนำเข้าจากต่างประเทศ เช่นเดียวกับในกลุ่มของสีผงเคมี ที่ใช้สำหรับระบายสี จึงนำวัตถุดิบ โดยเฉพาะน้ำยางพารา ซึ่งมีผลผลิตค่อนข้างมากต่อปี และเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของภาคใต้ที่กำลังมีปัญหาด้านราคาที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน มาพัฒนาเป็นสารเหลวเขียนลวดลายบนผ้าบาติก ทดแทนการใช้เทียนและพาราฟิน ลดปริมาณการนำเข้าจากต่างประเทศ อีกส่วนเป็นการนำพืชธรรมชาติในท้องถิ่น 5 จังหวัดชายแดนใต้ เช่น ใบยางพารา เปลือกยางพารา ใบลองกอง เปลือกโกงกาง เปลือกสะเดา ดอกดาหลา ส้มแขก มาสกัดเป็นสีย้อมผ้าบาติก" ผศ.ดร.สาคร กล่าว
การเตรียมน้ำยางพาราธรรมชาติเพื่อใช้ในการเขียนกันสีให้เกิดลวดลายบนผ้าบาติก มีอัตราส่วนผสมของน้ำยางพารา แบะแซ และกาวลาเท็กซ์ ในอัตราส่วน 2:4:1 ผสมให้เข้ากัน ณ อุณหภูมิห้อง แล้วนำไปใช้เขียนลวดลายบนผ้า เมื่อเขียนเสร็จ ทิ้งไว้ประมาณ 20 - 40 นาที จนแห้ง จากนั้นระบายสีลงบนผ้าตามที่ต้องการ เมื่อสีแห้งให้ล้างน้ำยางพาราออกให้สะอาดด้วยน้ำเปล่า จะได้ผ้าบาติกที่มีลวดลายและสีสันตามที่ต้องการ ขณะที่การเขียนลวดลายบาติกด้วยน้ำเทียนในขั้นตอนการเตรียมวัสดุเขียนลวดลาย จะต้องนำขี้ผึ้งพาราฟินไปต้มให้ละลาย รวมถึงเมื่อระบายสีเสร็จจะต้องลอกเทียนออกจากผ้า ด้วยวิธีการต้มผ้าด้วยอุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส แต่สำหรับการทำผ้าบาติกด้วยน้ำยางพาราธรรมชาตินี้ ไม่ได้อาศัยความร้อนแต่อย่างใด และมีราคาต้นทุนที่ต่ำกว่ามาก
ผศ.ดร.สาคร ยังกล่าวว่า ผลสำเร็จดังกล่าว ทีมวิจัยได้พัฒนาสิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ โดยออกแบบและตัดเย็บทั้งหมด 5 คอลเลคชั่น เน้นกลุ่มเป้าหมายสตรีมุสลิมวัยทำงาน อาทิ คอลเลคชั่นจังหวัดปัตตานี โครงร่างชุดจะเป็นทรงตรง ผสมผสานความพริ้วไหว แสดงถึงจิตใจที่เข้มแข็งแต่อ่อนโยนตามลักษณะนิสัยของชาวปัตตานี เน้นสีเอิร์ธโทนซึ่งเป็นสีที่ได้จากสถาปัตยกรรมสำคัญในจังหวัด คอลเลคชั่นยะลาจะมีลักษณะคล่องแคล่ว ทะมัดทะแมง แฝงความเรียบโก้ ดึงความเก่าแก่ของต้นอัยเวงค์ ต้นไม้ใหญ่เก่าแก่ประจำจังหวัดมาเป็นแรงบันดาลใจ เน้นแกนไม้และเพิ่มการจับพลีทจากเล็กไปใหญ่ ทำให้ดูพริ้วไหว และดึงดูดสายตา
ส่วนคอลเลคชั่นจังหวัดนราธิวาส ได้แรงบันดาลใจจากเรือกอและ ซึ่งเป็นเรือที่มีเสน่ห์ ประณีต ลวดลายอ่อนช้อย ชุดจึงแสดงออกถึงความเป็นผู้หญิง มีสีสันสดใส คอลเลคชั่น จังหวัดสตูล ใช้รูปทรงอิสระเปรียบเหมือนกับฟองน้ำและ คลื่นทะเลของเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งเป็นเกาะที่สวยงามมากเกาะหนึ่งของประเทศ ใช้สีฟ้าน้ำทะเล เน้นลวดลายทรงกลมจากฟองอากาศของเกลียวคลื่น ให้ความรู้สึกโปร่งและเป็นอิสระ และคอลเลคชั่นจังหวัดสงขลาจะเน้นรูปทรงเรขาคณิต ได้แรงบันดาลใจจาก กำแพงเมืองเก่าร่องรอยจากสถาปัตยกรรม ลายอิฐแตก ซึ่งเป็นเสน่ห์โดยเฉพาะของจังหวัด สีสันจึงมีลักษณะคล้ายสีอิฐและกำแพง
นวัตกรรมน้ำยางพาราเขียนลายผ้าบาติก ยังเป็นแนวทางการพัฒนาความรู้ ทักษะของผู้ประกอบการในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชายแดนใต้ ให้มีการสร้างงานสร้างอาชีพ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผ้าบาติกด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สะอาด ลดการใช้สารเคมีเพื่อพัฒนาสู่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นเครื่องแต่งกายที่มีคุณภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยผลักดันยางพาราให้มีมูลค่าเพิ่มและเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ