ธ.กรุงไทยพร้อมให้บริการธ.อิสลามเต็มรูปแบบ

ข่าวทั่วไป Friday December 14, 2001 09:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ธ.ค.--ธ.กรุงไทย
ธนาคารกรุงไทย จะให้บริการธนาคารอิสลามเต็มรูปแบบ สาขาแรก ในเขต 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ เผยมี 44 สาขาทั่วประเทศ พร้อมให้บริการธนาคารอิสลาม โดยจะรับฝาก เงิน และให้สินเชื่อ ตามหลักแบ่งปันผลกำไร เพื่อให้ชาวมุสลิมสามารถใช้บริการธนาคาร โดยไม่ละเมิดหลักศาสนา ชี้จะเป็นแหล่งระดมเงินออม ที่มุ่งสู่ภาคการลงทุนโดยตรง นับเป็น ธนาคารพาณิชย์แห่งแรก ที่ให้บริการธนาคารอิสลาม
นายปรีชา ภูขำ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ในฐานะรองประธาน คณะทำงานจัดตั้ง ธนาคารอิสลาม เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธนาคารมีความพร้อมในการให้บริการธนาคารอิสลาม โดยในเดือน กุมภาพันธ์ จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ แห่งแรก ในจังหวัดยะลา ปัตตานี หรือนราธิวาส จังหวัดใด จังหวัด หนึ่ง ซึ่งกำลัง พิจารณาความเหมาะสมอยู่ หลังจากนั้น จะทยอยเปิดให้บริการในสาขาต่างๆ ที่มีศักยภาพ ทั้งใน กทม. และ ต่างจังหวัด โดยเฉพาะในภาคใต้ เช่น ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และสตูล ทั้งใน ลักษณะ เต็มรูปแบบ และแบบ window โดยจะมีการแยกระบบบัญชีต่างหาก จากการธนาคารพาณิชย์ปกติ และออกงบการเงินย่อย เพื่อให้ถูกต้องตามหลักศาสนา ที่ให้ปลอดจากการคิดผลตอบแทน แบบดอกเบี้ย ในเบื้องต้น มีสาขาที่พร้อมจะ ให้บริการจำนวน 44 แห่ง ทั่วประเทศ และในอนาคต อาจจะแยกเป็น นิติบุคคล ต่างหาก เป็นเอกเทศจากธนาคาร เพื่อร่วมทุนทำธุรกิจ กับผู้นับถือศาสนาอิสลาม ตาม พรบ. ธนาคารอิสลาม
ธนาคารอิสลามจะให้บริการรับฝากเงิน ทั้งแบบการรับฝากรักษาทรัพย์ (วาดีอะห์) ในลักษณะ บัญชี กระแสรายวัน ออมทรัพย์ และแบบแบ่งผลกำไรร่วมกัน (มูดอรอบะห์) ในลักษณะเงินฝาก เพื่อการลงทุนทั่วไป และเพื่อการลงทุนพิเศษ ธนาคารยังจะให้บริการจัดหาเงินทุนให้ลูกค้า ในลักษณะ การให้สินเชื่อเพื่อการลงทุน หรือร่วมลงทุน ให้กู้ยืมเบิกเกินบัญชี นอกจากนี้ ยังให้บริการอื่นๆ ภายใต้กฎระเบียบ กฎหมายอิสลาม (Shariah) เช่น การประมูล สินเชื่อเพื่อการลงทุน ตราสารการเงินเพื่อการลงทุนลงทุนเพื่อการเกษตรสินเชื่อ ทางการค้า เลตเตอร์ ออฟ เครดิต การค้ำประกัน และ การซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ฯลฯ
นายปรีชา ภูขำ เปิดเผย ถึงผลที่คาดว่า จะได้รับจากการจัดตั้งธนาคารอิสลาม ว่า สามารถเพิ่มช่องทาง การให้บริการ ที่ตรงกับความต้องการ ของลูกค้าชาวมุสลิม ส่งเสริมให้ชาวมุสลิม ใช้บริการธนาคาร และ สามารถ ประกอบธุรกิจได้ โดยไม่ละเมิดศาสนา เป็นแหล่งระดมเงินออมที่มุ่งสู่ภาคการลงทุนโดยตรง ซึ่งช่วย สนับสนุนโครงการทางเศรษฐกิจ และรองรับการลงทุนในอนาคต และที่สำคัญ เป็นการสนองนโยบายของ รัฐบาล ที่มุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ในระดับรากหญ้า--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ