กรุงเทพฯ--9 ก.พ.--สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อพฤติกรรมการนับถือบูชาวัตถุเครื่องรางของผู้คนในสังคมปัจจุบัน ซึ่งได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 1 ถึง 5 กุมภาพันธ์ พ.ษ. 2559
ศ.ดร.ศรีศักดิ์ กล่าวว่า ถึงแม้ในสังคมปัจจุบันจะมีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางวิทยาศาตร์ เทคโนโลยี และการศึกษา แต่ยังคงมีผู้คนจำนวนหนึ่งที่เชื่อในสิ่งลี้ลับหรือสิ่งเหนือธรรมชาติเหล่านั้นผ่านวัตถุเครื่องรางต่างๆ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีข่าวปรากฏเป็นระยะๆเกี่ยวกับกระแสความนิยมนับถือบูชาวัตถุเครื่องรางต่างๆ
แต่อย่างไรก็ตาม กระแสความนิยมนับถือวัตถุเครื่องรางต่างๆนั้นมักอยู่ในสังคมได้เพียงระยะหนึ่งก่อนจะค่อยๆเงียบหายไป และเมื่อเวลาผ่านไปอีกระยะหนึ่งก็จะปรากฎกระแสข่าวความนิยมนับถือบูชาวัตถุเครื่องรางอย่างอื่นอีก ซึ่งปรากฎการณ์เหล่านี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของผู้คนในสังคม โดยผู้คนส่วนหนึ่งมีความคิดเห็นว่าเป็นเรื่องงมงาย พิสูจน์ไม่ได้ และแนะนำให้หันกลับไปยึดหลักธรรมคำสั่งสอนทางศาสนาที่มีอยู่จริง ขณะเดียวกันนักวิชาการทางด้านสังคมตลอดจนพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ติติงพระสงฆ์บางรูปที่สนับสนุนในการนับถือบูชาวัตถุเครื่องรางต่างๆโดยการทำพิธีปลุกเสกลงอักขระให้ อย่างไรก็ตามยังคงมีผู้คนในสังคมส่วนหนึ่งเชื่อถือและนับถือบูชาวัตถุเครื่องรางต่างๆเหล่านั้นอยู่
จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อพฤติกรรมการนับถือบูชาวัตถุเครื่องรางของผู้คนในสังคมปัจจุบัน
ศ.ดร. ศรีศักดิ์ กล่าวต่อว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,172 คน ซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 51.11 และร้อยละ 48.89 เป็นเพศชาย กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 25 ถึง 34 ปีคิดเป็นร้อยละ 30.8 สามารถสรุปผลได้ดังนี้
ในด้านความสนใจเกี่ยวกับข่าวการนับถือบูชาวัตถุเครื่องราง กลุ่มตัวอย่างประมาณครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 50.17 ระบุว่าตนเองให้ความสนใจติดตามข่าวเกี่ยวกับกระแสการนับถือบูชาวัตถุเครื่องรางของผู้คนในสังคมบ้างเป็นบางข่าวหรือบางช่วง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 21.59 ยอมรับว่าตนเองให้ความสนใจติดตามโดยตลอด แต่อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28.24 ที่ระบุว่าตนเองไม่ให้ความสนใจติดตามเลย
ส่วนความรู้สึกต่อข่าวเกี่ยวกับกระแสการนับถือบูชาวัตถุเครื่องรางนั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 27.39 ยอมรับว่าตนเองรู้สึกเบื่อหน่าย/รำคาญใจเป็นอันดับแรกเมื่อได้ยินหรือรับทราบข่าวเกี่ยวกับกระแสการนับถือบูชาวัตถุเครื่องรางต่างๆของผู้คนในสังคม รองลงมารู้สึกว่าเป็นเรื่องงมงายซึ่งคิดเป็นร้อยละ 18.52 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 13.48 ร้อยละ 12.97 และร้อยละ 11.43 รู้สึกเฉยๆ
รู้สึกว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคลและรู้สึกเศร้าใจตามลำดับ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.96 รู้สึกสงสัย กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 5.03 รู้สึกโกรธ/โมโห และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 2.22 มีความรู้สึกอื่นๆ
สำหรับสาเหตุสำคัญสูงสุด 5 อันดับที่ทำให้ผู้คนในสังคมหันไปนับถือบูชาวัตถุเครื่องรางต่างๆคือ เชื่อว่าจะทำให้ชีวิตตนเองดีขึ้นคิดเป็นร้อยละ 83.02 ต้องการสร้างความมั่นใจให้กับตนเองคิดเป็นร้อยละ 80.72 ทำตามกระแสความนิยมคิดเป็นร้อยละ 78.07 มีผู้แนะนำ/ชักชวนให้นับถือบูชาคิดเป็นร้อยละ 75.17 และต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจคิดเป็นร้อยละ 72.53 ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 55.89 ยอมรับว่าโดยส่วนตัวตนเองมีวัตถุเครื่องรางไว้นับถือบูชา ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 44.11 ระบุว่าไม่มี
ในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับการนับถือบูชาวัตถุเครื่องรางนั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 68.43 มีความคิดเห็นว่าการที่ผู้ประกอบธุรกิจนำเสนอบริการเฉพาะให้กับผู้นับถือบูชาวัตถุเครื่องรางในปัจจุบันนั้นเป็นเพียงแผนการตลาดเพื่อดึงดูดลูกค้า โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างไม่ถึงหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 24.83 เชื่อว่าเกิดจากความตั้งใจศรัทธาเคารพในความเชื่อส่วนบุคคลจริงๆ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 6.74 ไม่แน่ใจ
นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 59.22 มีความคิดเห็นว่าสื่อมวลชนมีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับกระแสการนับถือบูชาวัตถุเครื่องรางของผู้คนในสังคมมากเกินไป ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 54.69 มีความคิดเห็นว่าข่าวเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของพระสงฆ์ซึ่งเกิดขึ้นเป็นระยะๆมีส่วนทำให้ผู้คนในสังคมหันไปนับถือบูชาวัตถุเครื่องรางมากขึ้น ขณะที่กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 64.76 มีความคิดเห็นว่าหากพระสงฆ์ทุกวัด/สำนักสงฆ์ไม่มีการทำพิธีปลุกเสกลงอักขระวัตถุเครื่องรางต่างๆจะมีส่วนช่วยลดกระแสการหันไปนับถือบูชาวัตถุเครื่องรางแทนการยึดหลักธรรมคำสั่งสอนทางศาสนาของผู้คนในสังคมได้ และกลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.89 มีความคิดเห็นว่าหากมีการเผยแพร่หลักธรรมคำสั่งสอนทางศาสนาที่ถูกต้องให้กับผู้คนมากขึ้นจะมีส่วนช่วยลดกระแสการหันไปนับถือบูชาวัตถุเครื่องรางต่างๆได้ ศ.ดร. ศรีศักดิ์กล่าว