กรุงเทพฯ--9 ก.พ.--hukder company
นายพิชัย วงศ์ไวศยวรรณ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ปัญหาภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและของโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านน้ำท่วม อัคคีภัย วาตภัย และแผ่นดินไหว มีแนวโน้มการเกิดถี่ขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงขึ้น ส่งผลให้เกิดการเสียชีวิต บาดเจ็บ และความเสียหายต่างๆมากมาย จากเหตุการณ์ สึนามิครั้งแรกทางภาคใต้ของประเทศไทยเมื่อปี 2547 ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคนและการแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่จังหวัดเชียงราย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ส่งผลให้เกิดการเสียชีวิต บาดเจ็บ ระบบสาธารณูปโภค และ บ้านเรือนได้รับความเสียหายนับพันๆหลัง สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมถ์ ได้ตระหนักถึงภัยพิบัตินี้เป็นอย่างมาก และได้ร่วมมือกับ 3 สมาคมวิชาชีพ เข้าดำเนินการออกแบบและระดมทุนในการก่อสร้างวัด 2 แห่ง โรงเรียน 9 แห่ง และบ้านพัก 3 แห่ง โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีกับภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง กลุ่มบุคคลภาคธุรกิจต่างๆ ตลอดจนภาคประชาชน ผ่านองค์กรสื่อมวลชนและกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยและสมาคมสถาปนิกสยามฯยังตระหนักต่ออีกว่า การออกแบบทางสถาปัตยกรรม มีส่วนสำคัญต่อการที่สิ่งก่อสร้างจะสามารถรองรับหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยเหล่านี้ได้อย่างมาก สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีนโยบายเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ จึงได้มีโครงการศึกษาอบรมเรื่องการออกแบบรองรับแผ่นดินไหวสำหรับสถาปนิก "The Earthquake-resistant Design Workshop" โดยได้แลกเปลี่ยนข้อมูล และความร่วมมือสมาคมสถาปนิกญี่ปุ่น (JIA) ในฐานะพันธมิตรที่มีความสัมพันธ์อันดีมายาวนาน ผู้มีประสบการณ์อย่างแท้จริงในการรับมือกับพิบัติภัยธรรมชาติ เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นมีอัตราการเกิดแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ปัจจุบันได้มีการพัฒนาความรู้ในด้านการออกแบบอาคารเพื่อรองรับแผ่นดินไหวได้มีความก้าวหน้ามากขึ้น โดยมีการพัฒนากฎหมายและมาตรฐานการออกแบบอาคาร (Code of Building) ให้รองรับแผ่นดินไหวได้ มีสถาบันวิจัยและพัฒนาซึ่งมีห้องปฏิบัติการที่ใช้ทดสอบโครงสร้างขนาดใหญ่ การป้องกันไฟและการพัฒนาเทคนิควิธีการออกแบบที่มีประสิทธิภาพสูง มีอาคารที่ได้รับการออกแบบปรับปรุงจนสามารถลดระดับความรุนแรงจากการสั่นสะเทือนเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายจากการพังถล่มของอาคาร สมาคมสถาปนิกสยามฯหวังว่าเราจะได้เรียนรู้ประสบการณ์อันมีค่านี้จากญี่ปุ่น
ทั้งนี้ การจัดทำโครงการในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ซิมเมอร์ เมตัล สแตนดาร์ด จำกัด (SMS) สำหรับการเดินทางในโครงการอบรมการออกแบบเพื่อรองรับแผ่นดินไหวสำหรับสถาปนิก โดยสมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้ประสานขอความร่วมมือกับ ในการฝึกอบรม ณ ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 4 วัน ในวันที่ 8 – 11 กุมภาพันธ์ 2559 นี้ ซึ่งเมื่ออบรมสำเร็จแล้ว สถาปนิกเหล่านี้จะมีความรู้และความตระหนัก สามารถปฏิบัติงานในการออกแบบ เพื่อรองรับภัยจากแผ่นดินไหว เพื่อมารับใช้ประเทศชาติและประชาชน ให้มีความปลอดภัย และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต โดยสมาคมสถาปนิกสยามฯจะเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านการออกแบบเพื่อรองรับแผ่นดินไหวและภัยพิบัติ
พันตำรวจโท ดร.บัณฑิต ประดับสุข อุปนายกสมาคมฯ และประธานโครงการศึกษาอบรมการออกแบบเพื่อรองรับแผ่นดินไหว กล่าวว่า การจัดกิจกรรม "The Earthquake-resistant Design Workshop" ของสมาคมสถาปนิกสยามฯ ในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือกับ JIA ที่ช่วยเป็นแกนกลางใน การจัดอบรมที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้มีการถ่ายทอดความรู้เชิงลึกในด้านการออกแบบเพื่อรองรับแผ่นดินไหวจากสถาบัน Building Research Institute (BRI) รวมทั้งศึกษาดูงานการบริหารจัดการในเรื่องภัยพิบัติของญี่ปุ่น ซึ่งเหตุที่เลือกประเทศญี่ปุ่นเป็นกรณีศึกษาเนื่องจาก ประเทศญี่ปุ่นมีเทคโนโลยี ประสบการณ์ และห้องปฏิบัติการ ตลอดจนบุคลากรที่มีความรู้ มีประสบการณ์ในด้านนี้เป็นอย่างดี โดยกิจกรรมอบรมและศึกษาดูงานนอกเหนือจากความรู้ด้านทฤษฎีแล้ว ได้จัดเยี่ยมชมสถานที่ที่เคยประสบปัญหาและมีแนวทางในการรับมือเรื่องแผ่นดินไหวไว้เป็นอย่างดี กิจกรรมครั้งนี้จะได้รับข้อมูลในเรื่องแผ่นดินไหว มาตรฐานและเทคนิคการออกแบบอาคารโดยผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยอาคาร (Building Research Institue (BRI)) และได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยที่สุดของสถาบันวิจัยและพัฒนาทาเกนากะ (Takanaka R&D Institue) ทั้งในด้านการทดสอบโครงสร้างขนาดใหญ่ การป้องกันไฟ เสียง พลังงาน และเทคโนโลยีอาคารเขียวทางด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม รวมทั้งเทคนิคการออกแบบที่เรียกว่า "Base-Isolated structure" ซึ่งนำไปใช้กับการออกแบบอาคารหลากหลายลักษณะทั้งอาคารผนังกระจก อาคารที่มีความสลับซับซ้อน รวมทั้งการปรับปรุงอาคารเก่า สำหรับกิจกรรมในช่วงสุดท้ายจะเป็นการศึกษาการออกแบบวางผังย่านที่ออกแบบรองรับแผ่นดินไหวในย่านมารุโนชิ (Marunouchi District) และเยี่ยมชมอาคาร Toshima City Hall Complex, Mitsubishi Building, JP Tower ตลอดจนหมู่บ้านใน Hakone ซึ่งเคยผ่านพิบัติภัยภูเขาไฟฟูจิระเบิด เป็นต้น ทั้งนี้สมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้รวบรวมสถาปนิกและผู้ที่จะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายและการออกแบบอาคารสาธารณะจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมยุทธโยธาทหาร สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม กรมขนส่ง การเคหะแห่งชาติ การไฟฟ้า กระทรวงสาธารณสุข สถาปนิกภูมิภาค สถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ในพื้นที่เฝ้าระวัง กลุ่ม Design for Disaster และบริษัทสถาปนิก รวม 44 ท่าน ซึ่งจะเป็นทีมรุ่นบุกเบิกที่จะไปเรียนรู้และจะเป็นกำลังสำคัญที่สามารถช่วยกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ต่อไปได้
ดร.พิพัฒน์ โกวิทคณิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิมเมอร์ เมตัล สแตนดาร์ด จำกัด (SMS) กล่าวว่า บริษัทได้มองเห็นความสำคัญของการร่วมมือในการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการออกแบบที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหว จึงได้ให้การสนับสนุนการจัดทำโครงการดังกล่าว ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทั้ง 2 ช่วงของโครงการ โดยช่วงแรกเป็นการศึกษาอบรมในประเทศไทยในช่วงกลางเดือนมกราคม 2559 และช่วงที่สองเป็นกิจกรรมศึกษาอบรมดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทางบริษัทพร้อมสนับสนุนและยินดีที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์โดยได้เปิดโรงงานให้ดูกระบวนการผลิต เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาเทคนิควิธีการออกแบบในบ้านเราให้ก้าวหน้าพร้อมรองรับกับสิ่งท้าทายใหม่ๆและพิบัติภัยต่างๆ ที่ไม่สามารถมองข้ามได้