กรุงเทพฯ--9 ก.พ.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ "แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558" ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการความเสี่ยง จากสาธารณภัยภายใต้แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 รวมถึงส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ที่ครอบคลุมทุกมิติของการจัดการสาธารณภัย ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างประเทศไทย ให้เป็นเมืองปลอดภัยน่าอยู่ ภายใต้วาระ "ประเทศไทยปลอดภัย" (Safety Thailand)
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นกฎหมายหลักที่หน่วยงานทุกภาคส่วนใช้เป็นกรอบแนวทางในการจัดการ สาธารณภัยของประเทศ มาตรา 20 ได้กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในเขตพื้นที่ โดยมีผู้บริหารท้องถิ่นเป็นผู้อำนวยการท้องถิ่นในการควบคุมและสั่งการแก้ไขปัญหาสาธารณภัย อีกทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 รวม 18 รุ่น ในพื้นที่ 18 ศูนย์ฯ เขต สำหรับรุ่นที่ 1 กำหนดจัดในวันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 ณ เดอะไพน์ รีสอร์ท ตำบลท้ายเกาะ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี โดยมีปลัดเทศบาล ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลในเขตพื้นที่จังหวัด ความรับผิดชอบของศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 1 ปทุมธานี ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา รวมจำนวน 414 คน เข้าร่วมประชุมฯ ในรูปแบบการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 และบทบาทภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการสาธารณภัยภายใต้แผน ปภ.ชาติ พ.ศ.2558 และแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การประชุมฯ ในครั้งนี้ นอกจากเป็นการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นในการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความสำคัญกับการจัดการสาธารณภัยในระดับพื้นที่ รวมถึงมีการจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่ครอบคลุม ทั้งการเตรียมพร้อมรับมือก่อนเกิดภัย การจัดการภาวะฉุกเฉินในขณะเกิดภัย และการสงเคราะห์ช่วยเหลือและฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยภายหลังภัยสิ้นสุด ซึ่งนับเป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มศักยภาพให้ชุมชนและท้องถิ่นสามารถจัดการความเสี่ยง จากสาธารณภัยในเบื้องต้นด้วยตนเอง ที่จะนำไปสู่การสร้างประเทศไทยให้เป็นเมืองปลอดภัยน่าอยู่ภายใต้วาระ "ประเทศไทยปลอดภัย" (Safety Thailand) และการพัฒนาตามวิสัยทัศน์ประเทศไทย พ.ศ.2558 – 2563 "ประเทศมั่นคง ประชาชนมั่งคั่งประชาคมยั่งยืน"
0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th