กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 13 จังหวัด 50 อำเภอ 257 ตำบล 2,407 หมู่บ้าน ทั้งนี้ ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยนำน้ำอุปโภคบริโภคไปแจกจ่าย สูบน้ำสนับสนุนการผลิตน้ำประปาและพื้นที่การเกษตร พร้อมประสานจังหวัดสำรวจและจัดทำบัญชีแหล่งน้ำ เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนการจัดสรรน้ำให้เกิดความสมดุลและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ และรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคตลอดช่วงฤดูแล้ง
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง โดยมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง)16 จังหวัด 78 อำเภอ 389 ตำบล 3,462 หมู่บ้าน ขณะนี้มีจังหวัดประกาศยุติการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทั้งจังหวัด 3 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร สุรินทร์ และพิษณุโลก และมีจังหวัดประกาศยุติการให้ความช่วยเหลือบางพื้นที่แล้ว3 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด กาญจนบุรี และขอนแก่น ปัจจุบันมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 13 จังหวัด 50 อำเภอ 257 ตำบล 2,407 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 3.21 ของจำนวนหมู่บ้านทั่วประเทศแยกเป็น ภาคเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ และพะเยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา นครพนม มหาสารคาม ขอนแก่น ร้อยเอ็ด และบุรีรัมย์ ภาคกลาง 2 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี และเพชรบุรีภาคตะวันออก 1 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยสูบน้ำจากแหล่งน้ำดิบส่งเข้าพื้นที่การเกษตร รวม 1,602,572 ลูกบาศก์เมตร สูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อส่งน้ำเข้าแหล่งน้ำดิบสนับสนุนการผลิตน้ำประปา จำนวน 4,920,365,000 ลิตร แจกจ่ายน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค รวม 107,860,000 ลิตร และผลิตน้ำดื่มสะอาดแจกจ่ายแก่ประชาชน รวม 1,104,000 ลิตร อีกทั้งได้ประสานจังหวัดจัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจจัดทำบัญชีแหล่งน้ำ ปริมาณน้ำที่ใช้การได้ ความต้องการใช้น้ำของประชาชน เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนการจัดสรรน้ำให้เกิดความสมดุลและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในแต่ละพื้นที่ รวมถึงขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาภัยแล้งโดยใช้กลไก "ประชารัฐ" ในการสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาภัยแล้ง จัดทำประชาคมหมู่บ้านเพื่อกำหนดกติกาการใช้น้ำร่วมกันให้มีความเท่าเทียมและเป็นธรรม ตลอดจนจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังบริเวณจุดเสี่ยงที่มักมีการลักลอบสูบน้ำกรณีเกิดปัญหาการแย่งน้ำ ให้เน้นการเจรจาและทำความตกลงร่วมกัน เพื่อป้องกันการระดมมวลชนสร้างสถานการณ์ซ้ำเติมปัญหาภัยแล้งให้ขยายวงกว้างมากขึ้น สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ได้เน้นจัดสรรน้ำในพื้นที่ประสบภัยแล้งอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับน้ำอุปโภคบริโภคเป็นลำดับแรก และใช้ประโยชน์จากน้ำทุกแหล่งให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมประสานจัดทำฝนหลวงเมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวย ดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาล เป่าล้างบ่อบาดาลเดิมและติดตั้งเครื่องสูบน้ำระยะไกล เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในแหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปา ทั้งนี้ ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดเตรียมสำรองน้ำไว้อุปโภคบริโภค เกษตรกรควรวางแผนการเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำและแผนการจัดสรรน้ำในพื้นที่จะช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำ ส่งผลให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคตลอดช่วงฤดูแล้ง รวมถึงประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตภัยแล้งในครั้งนี้ไปได้ สำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th