กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--KTAM
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน ) เปิดเผยว่า บริษัทเปิดจำหน่ายกองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ เอฟไอเอฟ 50 ( KTFF50 ) ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 อายุ 1 ปี เน้นลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ ประกอบด้วย MTN ที่ออกโดย Banco Latinoamericano de Comercio Exterior ,.S.A. เงินฝากประจำ Agricultural Bank of CHINA , Bank of China (Macau) , Commercial Bank of Qatar Q.S.C และAhli Bank QSC ผลตอบแทนประมาณ 2 %ต่อปี
แนวโน้มอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ในประเทศอายุต่ำกว่า 2 ปี ปรับตัวลดลงตามแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาพักเงินในตราสารระยะสั้น หลังเงินบาทมีการแข็งค่าค่อนข้างเร็ว ตราสารอายุ 3-5 ปี อัตราผลตอบแทนปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแรงขายทำกำไรหลังผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย R/P 1 วัน ที่ 1.50% ต่อปี นักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิจำนวน 17,298 ล้านบาท ส่วน อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอายุคงเหลือตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปปรับตัวลดลงทุกช่วงอายุ ตามความต้องการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยหลังการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมันจากการที่ซาอุดิอารเบียออกมาปฏิเสธว่า OPEC จะไม่มีการประชุมกับรัสเซียเรื่องลดกำลังการผลิตน้ำมันและ OPEC จะไม่มีการประชุมกันอีก 2 เดือน ทำให้ตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้อายุคงเหลือ 2 ปี อยู่ที่ 0.74% ต่อปี อายุคงเหลือ 5 ปี อยู่ที่ 1.25% ต่อปี และอายุคงเหลือ 10 ปี อยู่ที่ 1.86% ต่อปี สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้จะเป็นแนวโน้มเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายการเงินของจีน แนวโน้มราคาน้ำมันโลก และสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ
นางชวินดา กล่าวต่อไปว่า กองทุนเปิดเคแทม เวิลด์ ไฟแนนเชียล เซอร์วิส ฟันด์ ( KT-Finance ) ไม่มีสัดส่วนในการถือครองหุ้นดอยซ์ แบงก์ กองทุนจึงไม่มีรับผลกระทบแต่อย่างใด ซึ่งปัจจุบันกองทุนลงทุนใน US 43 % EUROPE 30 % และ ASIA 22% เป็นกองทุนที่มีนโยบายกองทุนในหมวดอุตสาหกรรม ที่มุ่งลงทุน โดยเฉพาะเจาะจงในอุตสาหกรรมการให้บริหารด้านการเงิน โดยลงทุนในหน่วยลงทุนของ Fidelity Funds – Global Financial Service Fund ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
ทั้งนี้ จากการที่ตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการชำระหนี้ของดอยช์แบงค์ เนื่องจากโดยธนาคารมีภาระหนี้ต้องจ่าย coupon ให้กับตราสารหนี้ด้อยสิทธิตามเกณฑ์ Basell III (AT1) ถึงประมาณ 350,000 ล้านยูโร แม้ผู้บริหารของดอยช์แบงค์จะยืนยันถึงสภาพคล่องของธนาคารที่ยังสามารถจ่ายหนี้ได้ทั้งในปี 2016 และ 2017 แต่นักวิเคราะห์ด้านเครดิต ยังคงแสดงความกังวลถึงความเสี่ยงที่ธนาคารอาจสูญเสียสภาพคล่อง จากทิศทางการดำเนินธุรกิจที่ยังมีความเสี่ยงจากหลายด้าน จากผลประกอบการที่ออกมาไม่ดีต่อเนื่องติดต่อกันถึงสองไตรมาส การดำเนินธุรกิจในยุโรป ที่เศรษฐกิจยังไม่แข็งแรงเท่าที่ควร ประกอบกับธนาคารมีธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสินค้าโภคภัณฑ์และธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับตราสารอนุพันธ์ในระดับสูงเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นๆ ทำให้ดอยช์แบงค์อาจต้องแบกรับภาระทางการเงิน ในกรณีที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำต่อไปและธุรกิจสินค้าโภคภัณฑ์เริ่มมีการปิดกิจการมากขึ้น
นอกจากนั้น ดอยช์แบงค์ยังมีความไม่แน่นอนทางด้านสภาพคล่องจากค่าปรับที่อาจเกิดขึ้นในคดีที่ดอยช์แบงค์ถูกฟ้องร้อง และการขายธนาคารในจีนเพื่อเพิ่มสภาพคล่องที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ ความกังวลของนักลงทุนที่เกิดจากสาเหตุดังกล่าวทำให้เกิดแรงเทขายหุ้นดอยช์แบงค์ติดต่อกันทำให้ราคาหุ้นของดอยช์แบงค์ลดลง 9%