กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--กรมสุขภาพจิต
วันนี้ (9 ก.พ.2559) กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมสุขภาพจิต กรมอนามัย และกรมควบคุมโรค ร่วมจัด มหกรรมวาเลนไทน์ 2016 "รัก...ไม่เสี่ยง" ณ สยามสแควร์ วัน กทม. เผย สถานการณ์แม่วัยใสมีแนวโน้มดีขึ้น จัดทีม Teen Manager (นักจัดการสุขภาพวัยรุ่น) ครอบคลุมทั่วประเทศ ยึด 5 มาตรการสำคัญ ลดโรค เพิ่มความสุขให้กับวัยรุ่นไทย การบังคับใช้กฎหมาย การบริการที่เป็นมิตรกับวัยรุ่น การดูแลสุขภาพวัยรุ่นในสถานศึกษา การเปิดพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับวัยรุ่น และการสื่อสารของพ่อแม่กับวัยรุ่น
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ช่วง 5 ปีมานี้ ปัญหาของแม่วัยรุ่นเปลี่ยนไปจากเดิม ส่วนหนึ่งมาจากการบูรณาการความร่วมมือในการดำเนินงานร่วมกันจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายใต้เป้าหมายเดียวกัน เพื่อการลดโรคและเพิ่มความสุขให้กับวัยรุ่นไทย เช่น การดำเนินงานอย่างเข้มข้นและจริงจังเพื่อลดอัตราการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นให้ได้ ถึงร้อยละ 50 ภายใน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็น One Goal One Plan to Better Prevention of Teenage Pregnancy ของประเทศไทย ที่พบว่า ปัจจุบัน สถานการณ์แม่วัยรุ่นมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งจากข้อมูล อัตราการคลอดของหญิงอายุ15-19 ปี รายงานโดย ธนาคารโลก (World Bank) ปี พ.ศ.2557 ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 12 ของเอเชีย จากเดิม อันดับที่ 11 และเป็นอันดับ 5 ของอาเซียน นอกจากนี้ จากการสำรวจปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงในวัยรุ่น ล่าสุด ปี พ.ศ. 2554 โดยกรมสุขภาพจิตร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ก็ยังพบปัจจัยปกป้องวัยรุ่น ว่า การที่พ่อแม่มีเวลาคุยกับลูกวัยรุ่นมากขึ้น ตลอดจนการมีกิจกรรมทางสังคมของวัยรุ่นยังช่วยสนับสนุนให้วัยรุ่นมีอนาคตเสมอ
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า เนื่องในวันวาเลนไทน์ปีนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมสุขภาพจิต กรมอนามัย และกรมควบคุมโรค ได้บูรณาการการดำเนินงานร่วมกัน จัดทำ "เมนูสุขภาพ " หรือ 5 มาตรการสำคัญ เพื่อลดโรค เพิ่มความสุขให้กับวัยรุ่นไทย ประกอบด้วย การบังคับใช้กฎหมาย การบริการที่เป็นมิตรกับวัยรุ่น การดูแลสุขภาพวัยรุ่นในสถานศึกษา การเปิดพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับวัยรุ่น และการสื่อสารของพ่อแม่กับวัยรุ่น ซึ่งกลไกในการใช้เมนูสุขภาพนี้จะขึ้นอยู่กับปัญหาของแต่ละจังหวัด โดยกระทรวงสาธารณสุข จะมีทีม Teen manager ครอบคลุมอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เป็นผู้ปรุงเมนูสุขภาพทั้ง 5 ตามวัตถุดิบหรือสภาพปัญหาของวัยรุ่นในแต่ละจังหวัด
ทีมนักจัดการสุขภาพวัยรุ่นจะมาจากบุคลากรสาธารณสุขใน 2 ระดับ คือ ระดับตำบล/อำเภอ และระดับเขตสุขภาพ/จังหวัด เช่น พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการสาธารณสุข ที่จะทำงานร่วมกับบุคลากรด้านสุขภาพในท้องถิ่น ในการบริหารจัดการทรัพยากรในจังหวัดและสนับสนุนวิชาการกับกลุ่มวัยรุ่นและผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งกรมสุขภาพจิตคาดหวังว่า "ทีมนักจัดการสุขภาพวัยรุ่น" ที่มีอยู่ทุกจังหวัดของประเทศไทย จะนำ "5 เมนูสุขภาพ" นี้ มาช่วยลดโรค เพิ่มความสุขให้กับวัยรุ่นไทย ป้องกันปัญหาพฤติกรรม ความรุนแรง และสารเสพติดในสังคมต่อไปได้ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเสริมถึง"5 เมนูสุขภาพ" ลดโรค เพิ่มความสุขให้กับวัยรุ่นไทย ว่า เมนูแรก การบังคับใช้กฎหมาย โดย กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำ "กฎหมายพร้อมใช้ ไม่ยากอย่างที่คิด" เพื่อเป็นคู่มือในการดำเนินการดูแลสุขภาพวัยรุ่นแบบบูรณาการ ประกอบด้วย เนื้อหากฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการมีอำนาจดำเนินการเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 แนวทางปฏิบัติการรับบริการวิธีคุมกำเนิดชนิดต่างๆ ที่สถานบริการสาธารณสุข เป็นต้น
เมนูที่สอง การบริการที่เป็นมิตรกับวัยรุ่น โดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้การสนับสนุนการให้บริการคุมกำเนิดกึ่งถาวรด้วยการใส่ห่วงอนามัยและยาฝังคุมกำเนิดแก่วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปีให้กับสถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับกรมอนามัยและกรมควบคุมโรค ทั้งการจัดตั้งคลินิกวัยรุ่น เน้นการจัดบริการด้านสุขภาพและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่เป็นมิตรสำหรับวัยรุ่นและเยาวชน (Youth Friendly Health Services- YFHS) การให้คำปรึกษาเพื่อคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ ลดการตั้งครรภ์ซ้ำ การแจกจ่ายถุงยางอนามัยป้องกันการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคเอดส์ ฯลฯ
เมนูที่สาม การดูแลสุขภาพวัยรุ่นในสถานศึกษา โดย กระทรวงศึกษาธิการจัดระบบให้การช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียน โดยมีกระทรวงสาธารณสุขร่วมพัฒนาโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพและรับส่งต่อกรณีวัยรุ่นมีปัญหาสุขภาพตามระบบบริการสุขภาพ
เมนูที่สี่ การเปิดพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับวัยรุ่น โดย การส่งเสริมให้มีการจัดพื้นที่เปิดกว้างสำหรับวัยรุ่นให้พวกเขาได้มีโอกาสร่วมพูดคุยและทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ตามศักยภาพ ตลอดจน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นให้การสนับสนุนระบบสุขภาพระดับอำเภอและได้รับการรับรองมาตรฐานอำเภออนามัยเจริญพันธุ์จากกระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้า ผ่านการรับรอง 878 แห่ง ในปี 2561
เมนูที่ห้า การสื่อสารของพ่อแม่กับวัยรุ่น โดย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดโครงการ "เรื่องเพศคุยได้ในครอบครัว" ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งเสริมการสื่อสารทางบวกระหว่างกันในครอบครัว แม้แต่การพูดคุย เรื่อง เพศ กับลูก นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิต ยังได้มีการพัฒนาแอพลิเคชั่นผ่านสมาร์ทโฟน ในชื่อ "ค้นพบความสุขกับลูกวัยรุ่น" เพื่อให้พ่อแม่สามารถเข้าถึงความรู้ การเลี้ยงดูลูกหลานวัยรุ่นในสังคมปัจจุบันได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม ผ่านช่องทางการสื่อสารที่ทันสมัย และสามารถนำความรู้เหล่านี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้โดยตรง
ด้าน พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวย้ำว่า การเปิดพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับวัยรุ่นให้ได้มีโอกาสร่วมพูดคุยและทำกิจกรรมตามศักยภาพของพวกเขา ดังเช่น การจัด "กิจกรรมวาเลนไทน์ 2559 : รัก..ไม่เสี่ยง" ในวันนี้ ร่วมกับ การมี "Smart Family" ครอบครัวที่เต็มไปด้วยความรัก (Love) เสียงหัวเราะ (Laugh) และอยู่ในขอบเขต (Limit) ถือเป็นเกราะป้องกันภัยเสี่ยงให้กับวัยรุ่นในยุคดิจิตอลได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิตยังได้ร่วมมือกับ กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และภาคเอกชนดำเนินการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับวัยรุ่นในสถานศึกษา ทั้งระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัยในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 30 แห่ง มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ภายใต้โครงการ?Smart Teen Love Say + Play ที่มุ่งเน้นการเข้าถึงและป้องกันปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงที่พบบ่อยในวัยรุ่นยุคปัจจุบัน ได้แก่ ความรัก เพศ เกม และพนัน ผ่าน 3 กิจกรรม ได้แก่ การประกวดดนตรี การจัดกิจกรรมเสวนาสัญจร และการเผยแพร่ความรู้ผ่าน Social media ด้วยรูปแบบการ์ตูนแอนิเมชั่น 3 ตอน ได้แก่ ฉลาดรักรู้จักป้องกัน แม่วัยรุ่น และเกมล่าท้าอนาคต ซึ่งผู้สนใจสามารถรับชมได้ทางช่อง youtube และ www.smartteen.net ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับบริการปรึกษาได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 : ปรึกษาปัญหาพนันและสุขภาพจิต ตลอด 24 ชั่วโมง