กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำแผนพัฒนาการเกษตร เพื่อใช้เป็นกรอบกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรของประเทศ เนื่องจากแผนพัฒนาการเกษตร ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555 - 2559) จะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายนนี้ จึงได้จัดทำร่างแผนพัฒนาการเกษตร ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) ขึ้น โดยให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำลังดำเนินการและกำหนดจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2559 โดยที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรฯ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างแผนพัฒนาการเกษตรฯ ฉบับดังกล่าว ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ คือ 1. สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร 2. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าเกษตรตลอดโซ่อุปทาน 3. เพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และ 4. การบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน
ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนฯ ยังได้เห็นชอบในหลักการการนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่ง หัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูป และการนำผ่านสินค้าเกษตรภายใต้พันธกรณีความตกลงระหว่างประเทศ กรณีสินค้ากระเทียม หอมหัวใหญ่ เมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง โดยให้มีการบริหารนำเข้าภายใต้เงื่อนไขที่คณะอนุกรรมการจัดการการผลิตและการตลาดกระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง กำหนด โดยการนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่ง ให้เปิดตลาดตามข้อผูกพัน WTO ปี 2559 ไม่จำกัดจำนวน อัตราภาษีในโควตาร้อยละ 0 (ตามข้อผูกพันร้อยละ 27) และอัตราภาษีนอกโควตาร้อยละ 125 ส่วนหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูป ให้เปิดตลาด ตามข้อผูกพัน WTO ปี 2559 ในปริมาณโควตา 45,000 ตัน อัตราภาษีในโควตาร้อยละ 27 และนอกโควตาร้อยละ 125
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์กาแฟ ปี 2559 - 2563 และ ร่างยุทธศาสตร์ชา ปี2559 – 2563 โดยร่างยุทธศาสตร์กาแฟ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์กาแฟโรบัสตา มีเป้าหมายในการรักษาผลผลิตกาแฟโรบัสตาไม่น้อยกว่า 30,000 ตัน/ปี เพิ่มผลผลิตต่อไร่กาแฟโรบัสตาให้มากกว่า 250 กก./ไร่ การส่งเสริมการลดต้นทุนและพิ่มมูลค่าการค้ากาแฟโรบัสตา และยุทธศาสตร์อะราบิกา มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาและส่งเสริมให้ผู้ผลิตกาแฟอะราบิกาเข้าสู่ระบบมาตรฐานการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสมตามมาตรฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และเพิ่มมูลค่าการค้ากาแฟอะราบิกาอย่างน้อย ร้อยละ 10 ภายใน ปี 2563 โดยทั้ง 2 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 5 กุลยุทธ์ ได้แก่ 1. เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาคุณภาพผลผลิต 2.พัฒนาการแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่ม 3. พัฒนาด้านการตลาด 4.ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา และ 5. ด้านการบริหารจัดการ ส่วนร่างยุทธศาสตร์ชา มีเป้าหมาย เพื่อพัฒนาและส่งเสริมให้ผู้ผลิตชาเข้าสู่ระบบมาตรฐานการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสมตามมาตรฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และเพิ่มมูลค่าการค้าชาอย่างน้อย ร้อยละ 10 ภายในปี 2563 ประกอบด้วยกลยุทธ์การส่งเสริมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การพัฒนาการแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่ม การพัฒนาด้านตลาด การส่งเสริมวิจัยและพัฒนา และการบริหารจัดการ ทั้งนี้ จะเสนอร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป